หน้าแรกLiberatorวิธีการหาข้อมูลหุ้นเชิงลึก (Schuttlebutt)

วิธีการหาข้อมูลหุ้นเชิงลึก (Schuttlebutt)

Written by: #PocketInvestor x #Liberator
การลงทุนแบบวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานนั้น ต้องศึกษาและทำความเข้าใจธุรกิจที่ต้องการลงทุน เพื่อให้สามารถลงทุนได้อย่างมั่นใจ ผ่านการหาข้อมูลต่างๆ เช่น การอ่านรายงาน 56-1 ฟัง Opportunity Day และอ่านบทวิเคราะห์ต่างๆ เป็นต้น ข้อมูลจากสื่อต่างๆเหล่านี้ เป็นข้อมูลพื้นฐานที่ “จำเป็นต้องเข้าใจก่อนลงทุน” และนักลงทุกทุกๆคนสามารถเข้าถึงได้
อย่างไรก็ตามการที่จะทำให้คุณได้ “ข้อมูลเชิงลึก” ที่มากกว่านั้น ต้องอาศัยการศึกษาข้อมูลที่มากขึ้นผ่าน “การสำรวจกิจการ” (Schuttlebutt) แกะรอยกิจการแบบจริงจัง ซึ่งจะทำให้คุณได้เปรียบในการลงทุน จากการรเข้าใจกิจการลึกกว่าคนอื่นๆและลงทุนอย่างมั่นใจมากขึ้น
สำหรับเทคนิคการสำรวจนั้นมีด้วยกันหลากหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดีและข้อเสีย/ข้อจำกัด ที่แตกต่างกันออกไป วันนี้เลยมาลองแชร์วิธีการหลักๆที่จะได้ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้กันดีกว่าครับ จะมีอะไรบ้าง

1. การสำรวจตลาดและพูดคุยกับลูกค้า

วิธีการแรก คือ การสำรวจตลาดจริงๆ สังเกตสินค้าและพฤติกรรมลูกค้า พูดคุยกับพนักงานขายโดยตรง เช่น การเข้าไปเยี่ยมชมโครงการอสังหาริมทรัพย์ ของ Developer ที่สนใจ แล้วสังเกตทำเลที่ตั้ง บรรยากาศโครงการ บ้านตัวอย่าง ยอดจอง การนำเสนอของพนักงานขาย เป็นต้น หรือลองเข้าสำรวจร้านค้าปลีกที่สนใจ แล้วสังเกตการจัดวางสินค้า คุณภาพสินค้าและราคา บรรยากาศภายในร้าน นับจำนวน Traffic ของลูกค้า เป็นต้น

ข้อดี
– ช่วยให้คุณเห็นภาพธุรกิจและความนิยมของธุรกิจแบบจริงๆ
– ทำได้ไม่ยาก โดยเฉพาะในธุรกิจที่เป็น B2C
– สามารถเปรียบเทียบข้อมูลกับสิ่งที่ทางบริษัทนำเสนอในสื่ออื่นๆได้

ข้อเสีย/ข้อจำกัด
– ข้อมูลที่ได้จะมาจากกลุ่มตัวอย่างเพียงบางกลุ่มหรือบางช่วงเวลาเท่านั้น ซึ่งอาจจะมี Bias และไม่สามารถอ้างอิงภาพรวมได้ 100%
– ข้อจำกัดในการเข้าสำรวจในบางกิจการ โดยเฉพาะในธุรกิจที่เป็น B2B

2. การทดลองเป็นลูกค้าด้วยตัวเอง

ต่อเนื่องจากวิธีที่ 1 คือ การสวมบทบาทเป็นลูกค้า เพื่อทดลองสินค้าและบริการของกิจการด้วยตัวคุณเอง เช่น การเข้าไปทดลองใช้บริการร้านอาหารเปิดใหม่ เพื่อสำผัสกับคุณภาพการบริการและรสชาติอาหารด้วยตัวคุณเอง หรือทดลองซื้อเครื่องดื่มออกใหม่ในร้านสะดวกซื้อ เพื่อประเมินรสชาติด้วยตัวคุณเอง เป็นต้น

ข้อดี
– ช่วยให้คุณเข้าใจสินค้าและความต้องการของลูกค้าเชิงลึก (Product Market Fit)
– เป็น Primary Data ที่ไม่ได้ผ่านการปรุงแต่งข้อมูล จากการทดลองสัมผัสด้วยตัวเองจริงๆ

ข้อเสีย/ข้อจำกัด
– มี Bias จากความคิดเห็นส่วนตัว ซึ่งบางครั้งคุณอาจจะมีความคิดไม่เหมือนกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายของบริษัท
– ข้อจัก้ดในการทดลองสินค้าที่มีมูลค่าสูงหรือมี Switching cost สูง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า อาจจะทำได้เพียง Test Drive
– ข้อจำกัดในการทดลองธุรกิจที่เป็น B2B

3. การสืบค้นข้อมูลเชิงลึกผ่านออนไลน์

นอกเหนือจากการเข้าสำรวจตลาดแบบออฟไลน์แล้ว การศึกษาข้อมูลเชิงลึกผ่านช่องทางออนไลน์ ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญที่จะทำให้ได้ข้อมู฿ลเชิงลึกเช่นกัน เช่น Update ข้อมูลจาก Social media ของบริษัท ที่หลายๆครั้งมีข้อมูลสำคัญที่ไม่ได้เผยแพร่ในสื่อการลงทุนกระแสหลัก เช่น การออกสินค้าใหม่, การอ่าน Comment/ดู Review ความคิดเห็นของลูกค้า หรือการวิเคราะห์ผ่าน Google Trends เป็นต้น

ข้อดี
– ช่วยให้คุณเข้าใจสินค้าและความต้องการของลูกค้ามากขึ้น
– เป็นวิธีหลักในการหาข้อมูลกิจการที่ทำธุรกิจผ่านออนไลน์เป็นหลัก เช่น Digital Platform ต่างๆ
– บางครั้งอาจจะได้ข้อมูลที่ตรงไปตรงมามากกว่าออฟไลน์ รวมถึงข้อมูลเชิงตัวเลข

ข้อเสีย/ข้อจำกัด
– ข้อมูลที่ได้จะมาจากกลุ่มตัวอย่างเพียงบางกลุ่มหรือบางช่วงเวลาเท่านั้น ซึ่งอาจจะมี Bias และไม่สามารถอ้างอิงภาพรวมได้ 100%
– บางกิจการอาจจะมีการทำธุรกิจผ่านออนไลน์น้อย เช่น ธุรกิจ B2B หรือสินค้าที่จับกลุ่มผู้บริโภครากหญ้า เป็นต้น

4. การเข้าเยี่ยมชมกิจการ (Company Visit)

อีกวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมและช่วยให้ได้ข้อมูลเชิงลึกมากกว่าสื่อการลงทุนสาธารณะ คือ การขอเข้าไปเยี่ยมชมกิจการ โดย สามารถทำได้ผ่านการรวมกลุ่มนักลงทุนและติดต่อทางบริษัทโดยตรง หรือไปกับองค์กรต่างๆที่มีจัดกิจกรรมนี้ การไป Company Visit นี้จะสามารถพูด-คุย กับผู้บริหารหรือ IR ได้โดยตรง รวมถึงเข้าไปสัมผัสการทำงานของบริษัทจริงๆ

ข้อดี
– ได้ข้อมูลเชิงลึกของกิจการมากกว่าข้อมูลที่เผยแพร่ในสาธารณะ
– มีเวลาสามารถสอบถามในประเด็นที่สนใจได้โดยตรง
– ได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้บริหาร พนักงาน และสภาพแวดล้อมภายในองค์กร

ข้อเสีย/ข้อจำกัด
– เกิด Bias ได้ง่าย เนื่องจากบริษัทอาจจะนำเสนอในด้านดี เป็นหลัก
– อาจจะทำให้ได้ข้อมูลสำคัญที่มีผลต่อผลประกอบการในระยะสั้น ทำให้เกิด Bias ด้านคุณภาพที่แท้จริงของกิจการ

5. สอบถามข้อมูลจาก Stakeholder ต่างๆ เช่น ลูกค้า พนักงาน Supplier คู่แข่ง

นอกจากนี้หากมีเพื่อนหรือคนรู้จักที่เป็นลูกค้าหรือเป็นพนักงานของบริษัทเอง, Supplieพ, คู่แข่ง ของบริษัทที่สนใจ เราอาจจะสามารถพูดคุยแบบ Indept Interview เพื่อสอบถามความรู้ในอุตสหากรรมนั้นๆละปัจจัยการแข่งขันต่างๆ คุณภาพของสินค้า และมุมมองข้อดีและข้อเสียของกิจการเชิงลึกได้มากยิ่งขึ้น ทั้งมุมมองของตัวสินค้า การแข่งขัน วัฒนธรรมองค์กรและผู้บริหาร

ข้อดี
– คุยกับลูกค้า >> ช่วยให้คุณเข้าใจสินค้าและความต้องการของลูกค้าเชิงลึก (Product Market Fit)
– คุยกับพนักงาน >> ได้ข้อมูลการบริหารงานภายในกิจการ
– คุยกับคู่แข่ง, Supplier >> ได้มุมมองเชิงลึกในภาพอุตสาหกรรม

ข้อเสีย/ข้อจำกัด
– ข้อมูลที่ได้จะมาจากกลุ่มตัวอย่างเพียงบางกลุ่มหรือบางช่วงเวลาเท่านั้น ซึ่งอาจจะมี Bias และไม่สามารถอ้างอิงภาพรวมได้ 100%
– ความยากในการเข้าถึงเพื่อพูดคุยกับกลุ่มคนเป้าหมาย ซึ่งหากใครมี Connection ที่หลากหลายก็จะได้เปรียบมากกว่า

นี่เป็นตัวอย่างเพียงบางส่วนของวิธีการศึกษาข้อมูลเชิงลึก จะเห็นได้ว่าทุกวิธีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น นักลงทุนจึงควรศึกษากิจการในหลากหลายวิธีเท่าที่จะทำได้ เพื่อลดข้อจำกัดต่างๆ ทั้งหมดเพื่อให้คุณมีความเข้าใจในกิจการอย่างแท้จริง จนสามารถลงทุนได้อย่างมั่นใจ ในมุมมองของการร่วมเป็นเจ้าของกิจการจริงๆ

19.04.2023

PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า