หน้าแรกLIB Learn5 เรื่องต้องดู ช่วงประกาศงบการเงิน

5 เรื่องต้องดู ช่วงประกาศงบการเงิน

Written by : #StockVitamins x #Liberator

เดือนกุมภาพันธ์ คือ ช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น ไม่ใช่แค่เพราะมีวันวาเลนไทน์ ที่ได้แอบลุ้นกับความรัก
แต่ยังเป็นช่วงประกาศงบการเงินประจำปีของบริษัทจดทะเบียน ให้ได้แอบลุ้นกับผลกำไรของหุ้นที่เราเป็นเจ้าของด้วยเช่นกัน

เรียกได้ว่า จะ Lucky in love และ Lucky in game พร้อมกันเลยมั้ย ก็ให้มันรู้กันไปเลยในเดือนนี้

ทีนี้หลายคนอาจจะงงว่า แล้วจะต้องเริ่มยังไง มีทั้งงบดุล งบกำไรขาดทุน งบกระแสเงินสด ตัวเลขเยอะแยะเต็มไปหมด จับต้นชนปลายไม่ถูก วันนี้วิตามินหุ้นจะนำเสนอวิธีดูงบแบบง่ายๆ และรวบรัด นั่นก็คือ เวลาที่งบประกาศออกมา ให้เราดู 5 เรื่อง เรียงเป็นขั้นเป็นตอนต่อกัน ได้แก่ ดูผลลัพธ์ ดูสาเหตุ ดูคุณภาพ ดูความเสี่ยง และดูความถูกแพง

ถ้าพร้อมแล้ว เราจะไปดูกันว่าทั้ง 5 เรื่องต้องดูนั้นมีรายละเอียดอะไรบ้าง ??

1. ดูผลลัพธ์

สอบเสร็จ เราอยากรู้ว่า ได้เกรดอะไร คะแนนเท่าไหร่ ตื่นเช้ามาอยากรู้ผลบอลคู่เมื่อคืน ใครชนะ กี่ประตู เรื่องหุ้นก็เช่นกัน หุ้นที่เราซื้อ เราก็จะอยากรู้ว่า กำไรเท่าไหร่ ดีมั้ย สิ่งที่อยากให้ดูตามนี้เลย

• ดูกำไรสุทธิ หรือ Net Profit คือ บรรทัดล่างสุดของงบกำไรขาดทุน เป็นเท่าไหร่ กี่ล้านบาท ถ้ากำไรเยอะก็ยิ้มออก ถ้าเจอตัวแดงก็เหงื่อตก

• YoY (Year on Year) เปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว คือ Q4’21 เป็นการเทียบแบบ apple to apple ตัดผลของฤดูกาล ฝนตก แดดออก อะไรต่างๆ ออกไป

• QoQ (Quarter on Quarter) เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า คือ Q3’22 เป็นการเทียบแบบโมเมนตัม เหมือนเตะบอลก็เทียบฟอร์มการเล่นนัดก่อนหน้าเป็นยังไง จะได้เห็นว่ากำไรคงเส้นคงวามั้ย

• เปรียบเทียบกับคาดการณ์ เพราะหลายครั้ง กำไรโตแต่หุ้นตก เพราะคาดการณ์ไว้สูงกว่านั้น เราก็จะต้องไปดูตัวเลขที่เรียกว่า consensus ของนักวิเคราะห์ หลายครั้งอ้างอิงจาก Bloomberg หรือจะไปดูตัวเลขแต่ละโบรกเทียบกันก็ได้

2. ดูสาเหตุ

รู้แล้วว่ากำไรโตมั้ย ดีกว่าหรือแย่กว่าคาด ขั้นตอนต่อมา เราก็ต้องไปขุดคุ้ยว่า มันเกิดจากปัจจัยอะไร วิธีที่ง่ายที่สุด คือ ย้อนไปดูบรรทัดบนสุด ซึ่งก็คือ รายได้ แล้วค่อยๆ ไล่ลงมาทีละบรรทัด เพื่อเป็นการบอกว่ากำไรมาจากไหน แต่ขั้นตอนนี้เราจะดูแบบสแกนคร่าวๆ ก่อน ยังไม่ต้องไปลงรายละเอียด แต่ในระหว่างที่ดูก็ให้ตั้งคำถาม ตั้งสมมติฐานไว้ในใจไว้ก่อนได้

• เวลาดู ต้องอย่างงว่าตอนนี้เราดูเทียบกับช่วงเวลาไหน เราดู YoY หรือ QoQ และให้เทียบเป็นเปอร์เซ็นต์การเติบโตจะได้เห็นภาพชัด ข้อดีคือ ในงบการเงินส่วนมาก บริษัทคำนวณมาให้แล้ว

• ดูรายได้ว่าโตมั้ย ถ้ารายได้ดีก็อุ่นใจ แปลว่าขายของได้ กำไรมันเลยโตไง

• ดูต้นทุนว่าลดมั้ย เพราะบางที รายได้ไม่โต แต่กำไรโต เพราะลดต้นทุนได้ไง

• ดูค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เพราะรายได้อาจไม่โต ต้นทุนก็ไม่ลด แต่ไปลดจำนวนพนักงาน ไปติด solar cell ได้ส่วนลดค่าเช่าพื้นที่ กำไรเลยโตก็ได้

• ดูต้นทุนการเงิน บางที เอาเงินไปคืนหนี้ก็ช่วยได้ โดยเฉพาะบริษัทที่เพิ่งเข้าตลาด

• ดูภาษี อาจจะได้ BOI หรือ Tax Credit

• ดูรายการพิเศษ เพราะบางทีเราดูบรรทัดที่สำคัญหมดแล้ว หาไม่เจอว่ากำไรดีเพราะอะไร บางทีมันอาจมีบรรทัดชื่อแปลกๆ เช่น กำไรอัตราแลกเปลี่ยน กำไรขายที่ดิน กำไรจากส่วนแบ่งเงินลงทุน เป็นต้น

และก็อย่าลืมว่า เรากำลังดูแบบง่ายๆ และรวบรัด แปลว่า ให้ดูกำไรสุทธิโตกี่เปอร์เซ็นต์ เช่น 20% แล้วไล่ดูแต่ละบรรทัดตั้งแต่รายได้ลงมาจนภาษีแบบไวๆ เพิ่มมหรือลดกี่เปอร์เซ็นต์ มากกว่าหรือน้อยกว่า 20% มั้ย เราก็จะได้เข้าใจว่า กำไรมันมาจากไหน แล้วระหว่างทางนั้นก็ตั้งสมมติฐานไปก่อนว่า มันน่าจะเกิดเพราะอะไร เช่น ออกสินค้าใหม่ ค่าไฟขึ้น ลดคน อะไรแบบนี้ แล้วค่อยไปหาคำตอบกันอีกที

3. ดูคุณภาพ

เราอยากรู้ว่า กำไรที่ประกาศมานั้นแข็งแรงมั้ย กำไรมาจากตรงไหน ให้เราดูอัตราส่วนการเงินที่เรียกง่ายๆ ว่าเป็นบันได 3 ขั้น คือ

• อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) มักจะเรียกย่อๆ ว่า GPM เป็นการดูเทียบระหว่าง ยอดขาย กับ ต้นทุน เพื่อบอกเราว่า ยังไม่ต้องคิดไปไกลเลย เอาแค่ของที่ซื้อมา ต้นทุนวัตถุดิบ ผลิตออกมา แล้วตั้งราคาขาย ได้กำไรกี่เปอร์เซ็นต์ เพราะ GPM จะเป็นตัวบอกเราถึงความเก่งในการตั้งราคา ในการคุมต้นทุน และยังบอกการแข่งขันในอุตสาหกรรมนั้นได้ด้วย

• อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit Margin) มักจะเรียกย่อๆ ว่า OPM หรือ EBIT เป็นการดูกำไรที่หักค่าใช้จ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินเดือน ค่าขนส่ง ค่าโฆษณา ค่าน้ำ ค่าไฟ เทียบกับรายได้ว่าเป็นอย่างไร เพราะบางทีเราขายดี เพราะโฆษณาเยอะ เพราะจ้างเซลล์เยอะก็ได้

• อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) มักจะเรียกย่อๆ ว่า NPM เป็นการดูความเก่งขั้นสุดท้ายหลังจ่ายดอกเบี้ยและภาษี จะได้เห็นว่ามีเงินเหลือสุดท้ายเลยกี่บาทกันแน่ เพราะบางทีกู้มาลงทุนเยอะ ขายดียังไง อาจต้องเอาไปคืนหนี้หมดก็ได้

เวลาดูอัตรากำไร ให้ดูความสม่ำเสมอก่อนว่าตัวเลขที่เห็นอยู่ระดับไหน เสร็จแล้วดูพัฒนาการว่า ค่อยๆ เพิ่มขึ้นได้เรื่อยๆ ทุกปี หรือทุกไตรมาสหรือเปล่า อย่ามองแค่ว่าตัวเลขสูงๆ คือดีเสมอไป

4. ดูความเสี่ยง

กำไรดี รายได้ดี มาร์จิ้นดี แต่ก็อาจจะเจ๊งได้ ตัวเลขง่ายๆ ที่ดูได้จาก Fact Sheet คือ

• Debt/Equity (D/E) หรือ เอาหนี้มาหารด้วยทุน เพราะการที่จะสร้างสินทรัพย์ของธุรกิจ ไม่เอาเงินตัวเองมาก็ต้องไปกู้มา เราเลยอยากรู้ว่า อัตราส่วนนี้เป็นอย่างไร พูดง่ายๆ คือ ถ้า D/E สูงๆ เช่น มากกว่า 2 เท่า ก็มีความเสี่ยงสูง เพราะแปลว่า เงินตัวเองก็ไม่มี ต้องไปกู้แบงค์มาเยอะ ถ้าเกิดวันไหนขายของไม่ได้ ไม่มีเงินคืนแบงค์ ก็อาจจะเจ๊งได้ แต่ประเด็นหลัก คือ หนี้ที่มีดอกเบี้ยคือหนี้ที่เรากังวล ถ้าเป็นหนี้ที่ไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ก็จะปลอดภัยกว่า เช่น เจ้าหนี้การค้า เป็นต้น

• สภาพคล่อง (Current Ratio) เป็นการนำเอา สินทรัพย์หมุนเวียน หารด้วย หนี้สินหมุนเวียน ถ้าได้ค่าออกมามากกว่า 1 เยอะๆ ก็แสดงถึงความคล่องตัวที่สูง แปลง่ายๆ คือ มีหนี้ที่ต้องจ่ายใน 1 ปี กี่บาท แล้วเรามีสินทรัพย์ที่แปลงสภาพเป็นเงินสดในเวลา 1 ปี เท่ากันกี่บาท พอจะจ่ายหนี้ไหวมั้ย

5. ดูความถูกแพง

สุดท้าย เราจะรู้แล้วว่า งบกำไรดี รายได้ก็ดี มาร์จิ้นก็ดีสม่ำเสมอ หนี้ก็แทบไม่มี เราก็จะอยากรู้ว่า ซื้อได้เลยมั้ย ซื้อได้ยัง ถ้าดูง่ายๆ เราก็มาดูความถูกแพง วิธีเบสิคที่สุด คือ P/E หรือ Price to Earning เป็นการดูเปรียบเทียบราคาหุ้นบนกระดาน กับกำไรที่เกิดขึ้นทั้งปีว่ามีค่าเท่าไหร่

• P/E ต่ำ น่าสนใจกว่า P/E สูง แต่ให้อ่านว่า ต่ำ ไม่ได้แปลว่า ถูก เสมอไป

• P/E เป็นตัวบอกความคาดหวังของตลาดก็ได้ บางที่ถ้าหุ้นนั้นโตดี จะโตได้อีก P/E สูงวันนี้ ก็จะต่ำในวันหน้าได้

• เทียบ P/E กับตัวเองในอดีตว่าตลาดให้ค่าเท่าไหร่

• เทียบ P/E กับบริษัทที่มีธุรกิจคล้ายกันว่าตลาดให้ค่าเท่าไหร่

และนี่ก็คือ 5 ขั้นตอนง่ายๆ ดูผลลัพธ์ ดูสาเหตุ ดูคุณภาพ ดูความเสี่ยง และดูความถูกแพง

ที่ทุกคนสามารถเอาไปใช้สแกนงบแบบคร่าวๆ ในช่วงประกาศงบแบบนี้กันได้เลยครับ แล้วไว้ตอนต่อๆ ไป เราค่อยมาเจาะลึกในรายละเอียดของอัตราส่วนการเงินหรือประเด็นอื่นที่น่าสนใจกันครับ

01.03.23


PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า