หน้าแรกLIB Learnจับตา! FED จะขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 หรือ 1 ?

จับตา! FED จะขึ้นดอกเบี้ยร้อยละ 0.75 หรือ 1 ?

𝗘𝘅𝗰𝗹𝘂𝘀𝗶𝘃𝗲 𝗢𝗡𝗟𝗬 𝗮𝘁 𝗟𝗶𝗯𝗲𝗿𝗮𝘁𝗼𝗿

Written by : MacroView x Liberator

ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด กำลังจะประชุมนโยบายการเงินครั้งสำคัญในวันที่ 20-21 กันยายนนี้ บทความนี้ จะขอตอบคำถามที่ว่า ในครั้งนี้ เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ร้อยละ 0.75 หรือ ร้อยละ 1 และจะเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยสุดท้ายหรือ Terminal Rate ก่อนจะคงดอกเบี้ย จากร้อยละ 4 ที่เคยประกาศไว้หรือไม่? โดยจะขอแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 3 มิติ คือ

มิติแรก จากแนวทางความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ระดับบิ๊กเนม 2 ค่ายใหญ่

ณ ตอนนี้ วงการเศรษฐศาสตร์โลก ได้แบ่งความคิดเห็นต่อประเด็นเงินเฟ้อสหรัฐออกเป็น 2 ฝั่ง ได้แก่

ฝั่งแรก ที่มองว่าสถานการณ์ของเงินเฟ้อสหรัฐยังคงเลวร้ายต่อไปอีก โดยท้ายที่สุดแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐยังไงก็ไม่แคล้วต้องให้อัตราการว่างงานขึ้นไปถึงร้อยละ 4.5-5 ซึ่งนั่นหมายถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐ ซึ่งถึงนาทีนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อ CPI สหรัฐในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ที่ออกมาดูแล้วจะสนับสนุนความเชื่อที่ว่าเงินเฟ้อสหรัฐยังเลวร้ายต่อไปอีกว่าน่าจะเป็นจริง โดยไม่ว่าจะเล่นกับตัวเลขเงินเฟ้อในมิติไหนหรือมองแบบในเชิงโมเมนตัมของเงินเฟ้อ แทบจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเงินเฟ้อสหรัฐน่าจะยังไม่ถึงจุดสูงสุดในตอนนี้

ทำให้ค่ายนี้ จึงสนับสนุนให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยแบบเน้นๆโดยเชียร์ให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกันยายนไปถึง ร้อยละ 1 รวมถึงแนะนำให้ขึ้นแบบเยอะๆในช่วงต้น จะได้ทำให้ตัวเลขการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งระยะเวลา 1 ปี และ 5 ปี ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงอย่างเช่นในปัจจุบัน โดยที่มีมุมมองว่าอัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดก่อนจะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย (Terminal rate) ควรจะอยู่ที่ 4.5-5% มากกว่า 4% ตามที่เฟดเคยเปรยไว้

ส่วนบรรดานักเศรษฐศาสตร์ระดับบิ๊กเนมอีกฝั่งหนึ่ง ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่สูงขึ้นมาในช่วงปีนี้นั้น น่าจะไม่มีอะไรมากไปกว่าส่วนที่เกิดจากการขยับขึ้นมาของอัตราเงินเฟ้อในส่วนที่มาจากการตึงตัวของอุปทานและการเพิ่มขึ้นแบบชั่วคราวของอุปสงค์ของชาวสหรัฐที่ได้รับเงินจากมาตรการช่วยเหลือด้านโควิดซึ่งกำลังร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ โดยปัจจัยทั้งหมดกำลังจะหายไปเองตามธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐจะค่อยๆลดลงไปเอง โดยค่ายนี้ ต้องการให้เฟดค่อยๆขยับขึ้นเงินเฟ้อตามสถานการณ์ เพราะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดกว่าจะเห็นผลต่อเศรษฐกิจหรือจีดีพีต้องใช้เวลาหลักหลายเดือนหรือเป็นปีๆเลย ทำให้ถ้าขึ้นดอกเบี้ยแบบรวดเร็ว ท้ายสุดแล้ว จะกลายเป็นว่าขึ้นมากเกินพอดี

หากพิจารณาจากกระแสของบรรดานักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกที่เฟดอาจจะใช้เป็นองค์ประกอบเพื่อการตัดสินขั้นสุดท้าย ฝั่งที่มองว่าเงินเฟ้อยังไม่ถึงจุดสูงสุดในตอนนี้ ดูแล้วน่าจะดูเป็นต่อเล็กน้อยในตอนนี้

มิติที่สอง สถานการณ์เงินเฟ้อสหรัฐในขณะนี้เทียบกับช่วงยุค 1980 ของพอล โวลก์เกอร์: โวลก์เกอร์เองก็เคยพลาดที่ลดดอกเบี้ยเร็วเกินไป

โดยทางเฟเดริค มิชกิน อดีตสมาชิกกรรมการเฟด ได้เล่าให้ฟังถึงผู้ที่มีภาพลักษณ์ต่อสู้กับเงินเฟ้อแบบจริงจังอย่างอดีตประธานเฟด พอล โวลก์เกอร์ ไว้ว่าครั้งหนึ่งก็เคยพลาดเรื่องการลดดอกเบี้ยนโยบายเร็วเกินไปเหมือนกัน

โดยโวลกเกอร์เข้ามารับตำแหน่งประธานเฟดในเดือนกรกฎาคม 1979 ต่อจากอาร์เธอร์ เบิรน์ส และ วิลเลียม มิลเลอร์ อดีตประธานเฟดที่ดูไม่จริงจังกับการต่อสู้กับเงินเฟ้อมากเท่าไหร่ จึงส่งผลให้ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐขึ้นไปกว่าร้อยละ 12 ในเดือนตุลาคม 1979 จนทำให้โวลก์เกอร์เองอยากจะทำให้ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐหรือ Fed Fund Rate สามารถเคลื่อนไหวขยับขึ้นและลงได้แบบเสรีขึ้น จึงประกาศในงานสัมมนาเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 1979 ไปว่าต่อจากนี้ ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐจะขยับด้วยช่วงหรือ band ที่กว้างขึ้น

เพียงแค่นั้นเอง ได้ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย Fed Fund Rate ซึ่งถือเป็นดอกเบี้ยอ้างอิงกับดอกเบี้ยที่อยู่อาศัยและรถยนต์ พุ่งทะยานขึ้นไปเป็นร้อยละ 17 ในเดือนเมษายน 1980 อันนำมาซึ่งการจอดรถแทรคเตอร์ของบรรดาเกษตรกรชาวสหรัฐขวางอาคารของเฟดสำนักงานใหญ่ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี รวมถึงกุญแจรถใส่ในโรงศพเล็กๆจากดีลเลอร์รถยนต์ได้ส่งมาที่ธนาคารกลางสหรัฐ

นอกจากนี้ อัตราการว่างงานในเดือนพฤษภาคม 1980 ก็พุ่งเกินร้อยละ 7 พร้อมกับสัญญาณเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐเริ่มเข้ามาเยือน ทำให้โวลก์เกอร์ตัดสินใจกลับลำลดดอกเบี้ยลงมาเกือบ 7% แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังคงสูงถึงร้อยละ 12 ก็ตาม สิ่งนี้ได้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อความน่าเชื่อถือของเฟด รวมถึงตัวของโวลก์เกอร์แบบเต็มๆ จึงทำให้ช่วงสิ้นปี 1980 อัตราเงินเฟ้อสหรัฐพุ่งสู่จุดสูงสุดที่ร้อยละ 14.7 และตัวเลขการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสหรัฐ (US Inflation Expectations) แตะร้อยละ 12

ถึงตรงนี้ โวลก์เกอร์ทราบดีว่าเขาได้เดินมาผิดทางแล้ว ในเดือนกรกฎาคม 1980 จึงเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายและได้ขึ้นไปถึงร้อยละ 20 ในช่วงกลางปี 1981 โดยยังคงประคองอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 15 ในช่วงกลางปี 1982 จนกระทั่งอัตราเงินเฟ้อสหรัฐกลับมาอยู่ในระดับร้อยละ 3 ในกลางปี 1983 ในที่สุด

กลับมาถึงพาวเวลในวันนี้ แน่นอนว่าพาวเวลได้ก้าวพลาดไปเมื่อปีที่แล้วแบบเต็มๆ โดยเชื่อว่าเงินเฟ้อสหรัฐในปี 2021เป็นเพียงปรากฏการณ์แบบชั่วคราว ก็ต้องบอกว่าโควต้าในการก้าวพลาดของพาวเวลน่าจะหมดไปแล้ว ซึ่งทางพาวเวลก็ย้ำว่าจะใช้บทเรียนจากโวลก์เกอร์มาเป็นแม่แบบในการกำหนดทิศทางนโยบายการเงิน ซึ่งจะเป็นไปได้สูงว่าอัตราดอกเบี้ยสหรัฐสูงสุด (Terminal Rate) ที่พาวเวลเล็งไว้น่าจะสูงกว่าที่เคยกล่าวไว้เมื่อเดือนกรกฎาคม ที่ร้อยละ 4 โดยคาดว่าน่าจะสูงขึ้นไปที่ร้อยละ 4.5-5

มิติที่สาม การประเมินจากท่าทีของสมาชิกเฟด หากพิจารณาจากความเห็นล่าสุดของคีย์แมนที่เป็นสมาชิกของเฟด ผมขอแบ่งเป็น 2 กลุ่มตามความเข้มงวดของนโยบายการเงินที่จะใช้ต่อไปในช่วงนี้ กลุ่มแรกคือสมาชิกเฟดที่ดูจะมีความเข้มงวดของนโยบายการเงินมากๆ หรือ Hawkish ประกอบด้วย คริสโตเฟอร์ วาลเลอร์ สมาชิกบอร์ดของเฟด และ นีล แคชคาริ ประธานเฟดสาขามินเนโพลิส ส่วนกลุ่มที่ดูแล้วจะเข้มงวดนโยบายการเงินแบบพอประมาณ ประกอบด้วย เลอัล แบร์นาร์ด รองประธานเฟด และ จอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ค ซึ่งกลุ่มหลังดูแล้วเสียงน่าจะมีพลังกว่ากลุ่มแรก

จึงทำให้แม้ว่าผลสรุปจากการวิเคราะห์ใน 2 มิติแรก จะชี้ไปว่าเฟดจะดูจริงจังกับการเข้มงวดของนโยบายการเงินมากๆ ทว่าจากการประเมินจากท่าทีของสมาชิกเฟดในข้อสรุปในมิติที่สาม ก็อาจทำให้เฟดไม่เร่งความเข้มงวดของนโยบายการเงินมากให้เร็วมากจนเกินไป

จากปัจจัยทั้งหมด แน่นอนว่าดูเหมือนโมเมนตัมของเฟดจะเอียงไปแบบ Terminal Rate จะสูงขึ้นไปที่ร้อยละ 4.5-5 จากที่เฟดเคยประเมินไว้ที่ร้อยละ 4 แต่ว่าไม่น่าจะมากเกินไปกว่านี้ ณ ตอนนี้

ทว่าคำถามที่ดูสุดสูสีแบบที่มีข่าวลือในโลกโซเชียลในสัปดาห์นี้ คือ แล้วเฟดจะขึ้นดอกเบี้ย ที่ร้อยละ 0.75 หรือ 1 ในวันที่ 21 กันยายนนี้

ตรงนี้ ผมมองว่าเฟดน่าจะยังคงขึ้นที่ร้อยละ 0.75 ด้วยเหตุผลง่ายๆคือตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาสูงเกินคาด เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว คือตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐจากดัชนี CPI ซึ่งเฟดให้ความสำคัญไม่สูงมากเท่าไหร่ ไม่ใช่อัตราเงินเฟ้อแบบดัชนี PCE ที่เฟดให้ความสำคัญสูงที่สุด

– บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ –

17.09.2022

———————————————————-

ติดตาม ‘Liberator’ ได้ทุกช่องทางของคุณ

Instagram : liberator_th

Twitter : th_Liberator

Blockdit : Liberator

Facebook : Liberator Securities

𝗣𝗢𝗪𝗘𝗥 𝗜𝗡 𝗬𝗢𝗨𝗥 𝗛𝗔𝗡𝗗

𝗧𝗵𝗲 𝗻𝗲𝘄 𝘁𝗿𝗮𝗱𝗶𝗻𝗴 𝗽𝗼𝘄𝗲𝗿 𝘁𝗵𝗮𝘁 𝘁𝗿𝘂𝗹𝘆 𝗯𝗲𝗹𝗼𝗻𝗴𝘀 𝘁𝗼 𝗮𝗹𝗹 𝘁𝗿𝗮𝗱𝗲𝗿𝘀


PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า