Written by: #DrArmTungnirun x #Liberator

ช่วงครึ่งแรกของเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทุกสายตาจับจ้องไปที่การประชุมสองสภาฯ ที่ปักกิ่ง อันเป็นการกำหนดทิศทางนโยบายก้าวต่อไปของจีน รวมทั้งเลือก ครม.ชุดใหม่ ต่อเนื่องจากที่ได้เลือกผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ชุดใหม่ไปเมื่อเดือนตุลาคมของปีที่แล้ว

ผลการประชุมรู้กันอยู่แล้วก่อนการประชุม นายกฯ หลี่เค่อเฉียงลงจากตำแหน่ง ส่งไม้ต่อให้กับหลี่เฉียง ลูกน้องคนสนิทของสีจิ้นผิง ส่วนสีจิ้นผิงเองก็ต่ออายุการเป็นประธานาธิบดี เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีนยุคใหม่ที่ผู้นำสูงสุดของจีนอยู่ยาวกว่า 10 ปี

แต่ในระหว่างการประชุม ก็มีสิ่งที่เซอร์ไพรส์ผู้ติดตามเศรษฐกิจการเมืองจีนอยู่เหมือนกัน อย่างน้อยก็ใน 4 เรื่องสำคัญ

เซอร์ไพรส์แรกคือ ตัวเลขเป้าหมายการเติบโตของ GDP จีนในปีนี้ที่ร้อยละ 5 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดหมายอยู่เล็กน้อย หลายคนนึกว่าจีนน่าจะตั้งเป้าที่ร้อยละ 5.5 หรือสูงกว่านั้น เพราะขนาดปีที่แล้วที่เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ จีนยังตั้งเป้าไว้ที่ร้อยละ 5.5 เลย

แถมก่อนประชุม ตัวเลขเศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกก็ออกมาก็ดีกว่าที่คาด นักลงทุนพากันใจชื้นว่าเศรษฐกิจจีนปีนี้ดีดตัวกลับแรงแน่ แล้วเพราะเหตุใดรัฐบาลจีนจึงมักน้อยตั้งเป้าการเติบโตไว้ที่เพียงร้อยละ 5 เท่านั้นเอง

จีนมักคิดอะไรแหวกแนวกกว่าชาวบ้าน เวลาที่เศรษฐกิจจีนแย่ จีนจะตั้งเป้าสูงกว่าความคาดหมายของตลาดเพื่อกระตุ้นความมั่นใจ แต่เวลาที่เศรษฐกิจจีนไม่ได้เผชิญแรงกดดันมาก ไม่ต้องทำอะไรมากตัวเลขก็น่าจะอยู่ในแดนสวย จีนจะตั้งเป้าให้ต่ำกว่าความคาดหมายของตลาด แล้วค่อยโม้ทีหลังว่าตัวเลขเกินเป้าไปได้อย่างสวยงาม

ดูตัวอย่างเมื่อปี ค.ศ. 2021 ที่จีนเริ่มฟื้นจากวิกฤตโควิด นักวิเคราะห์ทั่วโลกมองว่าจีนน่าจะดีดตัวแรงอาจโตได้ถึงร้อยละ 8 แต่รัฐบาลจีนกลับตั้งเป้าที่ร้อยละ 6 (สุดท้ายโตที่ร้อยละ 8.1) ส่วนปีที่แล้วที่เกิดวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ นักวิเคราะห์มองว่าจีนน่าจะโตได้ร้อยละ 4 แต่จีนกลับตั้งเป้าเรียกความมั่นใจที่ 5.5 แต่สุดท้ายด้วยการล็อคดาวน์เซี่ยงไฮ้และหลายเมืองใหญ่จากปัญหาโควิด จึงพลาดได้เพียงร้อยละ 3 เท่านั้น

เป้าร้อยละ 5 ที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ในครั้งนี้ น่าจะทำได้ตามเป้าอย่างสบายๆ โดยไม่ต้องออกกำลังภายในอะไรมาก ในขณะเดียวกัน ก็สะท้อนว่ารัฐบาลจีนตระหนักถึงแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องมาจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ และความเชื่อมั่นที่ถดถอยของภาคเอกชนจากการปิดเมืองอย่างยาวนาน ยังไม่นับความผันผวนของการเมืองโลกที่อาจฉุดรั้งเศรษฐกิจ

เซอร์ไพรส์ที่สอง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงทีมเศรษฐกิจ แม้รองนายกฯ คุมเศรษฐกิจจะเป็นคนใหม่ชื่อเหอลี่เฟิง แต่ตัวทีมข้างในเป็นชุดเดิม ทั้งผู้ว่าฯ แบงค์ชาติ รมว.คลัง และ รมว.พาณิชย์ ล้วนเป็นคนเดิมทั้งหมด

ก่อนหน้านี้ หลายคนนึกว่าจะได้ผู้ว่าแบงค์ชาติท่านใหม่ เพราะในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ผู้ว่าแบงค์ชาติอี้กังไม่ได้รับการแต่งตั้งให้อยู๋ในคณะกรรมการกลางของพรรค ทำให้ทุกคนคาดหมายว่าเขาจะลงจากตำแหน่งผู้ว่าแบงค์ชาติภายหลังการประชุมสองสภารอบนี้ แต่ปรากฎว่าเขาได้ต่ออายุไปอีกวาระหนึ่ง

สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลจีนต้องการส่งสัญญาณความต่อเนื่องทางนโยบายและรักษาเสถียรภาพในช่วงที่เศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ และไม่ต้องการเปลี่ยนม้ากลางศึก ด้วยอายุแล้ว มีความเป็นไปได้ว่าอี้กังอาจไม่ได้อยู่ครบวาระ 5 ปี แต่อย่างน้อยในปีนี้ เขาจะยังคุมบังเหียนนโยบายการเงิน ซึ่งทำให้ไม่น่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงในทางนโยบายจากเดิมมาก

เซอร์ไพรส์ที่สาม คือความร้อนแรงของนโยบายต่างประเทศของจีนที่กลับมาแข็งกร้าวต่อสหรัฐฯ ในการประชุมสองสภาฯ รอบนี้ เป็นครั้งแรกที่สีจิ้นผิงเอ่ยชื่อตรงไปตรงมาว่าสหรัฐฯ ต้องการปิดล้อมและทำลายเศรษฐกิจจีน (ในอดีตสีจิ้นผิงจะพูดเพียงว่าเป็นภัยคุกคามจากภายนอก แต่ไม่ระบุชื่อประเทศ) ส่วนการแถลงข่าวครั้งแรกของฉินกัง ในฐานะ รมว.ต่างประเทศคนใหม่ของจีนก็โจมตีสหรัฐฯ อย่างเผ็ดร้อนเช่นเดียวกัน

เมื่อปลายปีที่แล้วที่สีจิ้นผิงพบกับไบเดน หลายฝ่ายนึกว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ มีโอกาสจะกลับมาเสถียรอีกครั้ง แต่ภายหลังจากข้อพิพาทเรื่องบอลลูนสอดแนมและการยกเลิกทริปการเดินทางเยือนจีนของ รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ แอนโธนี บลิงเคน เมื่อเดือนก่อน ตามมาด้วยการออกข้อจำกัดต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีเซมิคอนดัคเตอร์ของจีนอย่างต่อเนื่องไม่หยุด ทำให้ความสัมพันธ์จีนและสหรัฐฯ ดูจะดิ่งลงเหวต่อไป

เซอร์ไพส์สุดท้าย จึงเป็นการประกาศความสำเร็จของจีนในการเป็นกาวใจเชื่อมระหว่างอิหร่านและซาอุดิอารเบีย คู่รักคู่แค้น ซึ่งทั้งสามประเทศเลือกประกาศความสำเร็จที่ปักกิ่งในช่วงเวลาเดียวกับการประชุมสองสภาฯ ที่ทั่วโลกกำลังจับตาจีนอยู่

หวางอี้ เบอร์ 1 การต่างประเทศจีนของพรรคคอมมิวนิสต์ได้ประกาศว่าเป็นความริเริ่มการทูตเชิงรุกของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงและเป็นความสำเร็จในเชิงสร้างสรรค์ของการทูตจีนครั้งสำคัญ

ความเคลื่อนไหวเรื่องนี้มีนัยมหาศาลในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ เพราะสะท้อนว่าในขณะที่สหรัฐฯ ติดพันและทุ่มเทความสนใจไปที่ยูเครน จีนกำลังเดินเกมรุกอย่างหนักในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานสำคัญของโลก จนมีการพูดกันถึงความเป็นไปได้ในการยกระดับเงินหยวนมาใช้ในการซื้อขายพลังงานหรือที่เรียกว่า “ปิโตรหยวน” แข่งขันกับ “ปิโตรดอลล่าร์” ในอนาคต

หากให้สรุปการประชุมสองสภาฯ ของจีนในครั้งนี้แล้ว ด้านนโยบาย จีนเดินเกมรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจภายในและเดินเกมการต่างประเทศเชิงรุก ส่วนในเรื่องตัวบุคคล ครั้งนี้ได้นายกฯ คนใหม่ และรองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจคนใหม่ โดยทั้งสองคนเป็นลูกน้องคนสนิทและเป็นสายตรงของสีจิ้นผิง

หาก 10 ปี ก่อนหน้านี้ สีจิ้นผิงบริหารงานร่วมกับคู่แข่งทางการเมืองจากหลากหลายขั้ว แต่บัดนี้การเมืองจีนสลายขั้วเหลือแต่คนของสีจิ้นผิง สีจิ้นผิงในวาระที่สามจะบริหารงานกับลูกน้องสนิทที่เคยทำงานเข้าขากับเขามาก่อน

นี่ย่อมเป็นปักกิ่งที่เดินเกมรุกได้มากขึ้นโดยมียุทธศาสตร์ชัดเจนและเคลื่อนเป็นทิศทางเดียวกันอย่างเป็นทีมเวิร์ค จีนแม้จะอยู่ภายใต้สีจิ้นผิงเหมือนเดิม แต่จะเป็นจีนที่แตกต่างยิ่งจาก 10 ปี แรกของสีจิ้นผิง

15.03.203


PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า