Written by: #PocketInvestor x #Liberator

หนึ่งในหัวใจหลักสำหรับการลงทุนแบบเน้นคุณค่า คือ การหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการ (Intrinsic Value) เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับราคาหุ้นในปัจจุบัน บนความเชื่อที่ว่าการจะลงทุนในสินทรัพย์ใดๆก็ตาม ต้องสามารถประเมินมูลค่าที่แท้จริงออกมาได้ แล้วซื้อในราคาที่ถูกกว่ามูลค่านั้น จึงจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า

ดังนั้น งานหลักของนักลงทุน คือ การศึกษากิจการผ่านการวิเคราะห์เชิงคุณภาพและเชิงปริมาณจนเข้าใจถ่องแท้ เพื่อที่พอจะสามารถคำนวณหามูลค่าที่แท้จริงของกิจการออกมาได้ จากนั้นก็เพียงรอจนถึงจุดที่เส้นราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง จึงเข้าซื้อหุ้น

อย่างไรก็ตามสำหรับนักลงทุนมือใหม่หลายๆท่าน อาจจะเคยได้ยินวิธีการประเมินมูลค่าหลากหลายรูปแบบ เช่น P/E Ratio หรือ P/BV Ratio แต่ยังไม่แน่ใจว่าควรจะใช้งานเครื่องมือต่างๆเหล่านี้อย่างไร วันนี้ขอมาแนะนำ 4 วิธีประเมินมูลค่าที่เป็นที่นิยมกันดีกว่าครับ จะมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันเลย

1. อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (Price to Earning Ratio: P/E Ratio)

อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ = ราคาหุ้น / กำไรสุทธิต่อหุ้น

P/E Ratio เป็นวิธีการประเมินมูลค่าที่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายและเป็นที่นิยมมากที่สุด โดย การนำเอาราคาหุ้นมาเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิที่กิจการทำได้เพื่อดูความคุ้มค่าในการลงทุน บนแนวคิดว่าราคาหุ้นจะสะท้อนตามผลกำไรสุทธิ ยิ่งค่า P/E ต่ำเท่าไร ยิ่งสะท้อนว่าการลงทุนนั้นคุ้มค่ามากเท่านั้น

อย่างไรก็ตามการลงทุนในหุ้น คือ การมองอนาคตของกิจการ ซึ่งมีความไม่แน่นอนที่กำไรสุทธิในอนาคตของกิจการอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ดังนั้น นักลงทุนจึงให้ค่า P/E ที่เหมาะสม สะท้อนตามคุณภาพและการเติบโตของกิจการ

หลายๆคนจึงอาจจะนำค่า P/E ของหุ้นตัวนั้นๆที่คำนวณได้ไปเปรียบเทียบเพื่อหาค่า P/E ที่เหมาะสม เช่น นำไปเปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง เทียบกับอัตราการเติบโตในอนาคตที่เรียกว่าวิธี PEG เทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดหรือค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม เป็นต้น

ข้อดี
- เข้าใจง่าย ผ่านการเปรียบเทียบกับตัวแปรเดียว คือ กำไรสุทธิ
- ตรงไปตรงมา เพราะ ราคาหุ้นในระยะยาวมักจะมีแนวโน้มสะท้อนตามกำไรสุทธิ

ข้อเสีย
- ค่า P/E ที่เหมาะสมค่อนข้างเป็นนามธรรมที่คาดการณ์ได้ยาก
- กำไรสุทธิในอนาคตมีความผันผวน จึงมีโอกาสที่จะคาดการณ์ได้คาดเคลื่อน
- หากกิจการมีผลประกอบการขาดทุน จะไม่สามารถคำนวณค่า P/E ได้

2. ผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield)

ผลตอบแทนจากเงินปันผล = เงินปันผลจ่ายต่อหุ้น / ราคาหุ้น

Dividend Yield เป็นอีกอัตราส่วนทางการเงินที่ค่อนข้างตรงไปตรงมา เหมาะสำหรับการลงทุนที่เน้นผลตอบแทนจากเงินปันผล เป็นหลัก โดย การนำเม็ดเงินปันผลที่บริษัทจ่ายออกมาเทียบกับราคาหุ้นที่ซื้อ หากยิ่งซื้อหุ้นถูกเท่าไรก็ยิ่งได้อัตราปันผลที่คุ้มค่ามากเท่านั้น

อย่างไรก็ตามเช่นเดียวกันกับ P/E คือ การต้องมองอนาคตของกิจการเสมอ ซึ่งธุรกิจที่ยอดเยี่ยมจะสามารถจ่ายเงินปันผลได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่บางกิจการอาจจะจ่ายปันผลได้น้อยลง เนื่องจากผลประกอบการแย่ลงหรือปันผลในปีที่ผ่านมาอาจจะเป็นการจ่ายพิเศษที่สูงกว่าปกติ

การเห็นตัวเลข Dividend Yield ที่คำนวณมาจากเงินปันผลในอดีตที่มีค่าสูงนั้น จึงเป็นกับดักในการลงทุน (Dividend Trap) หากอนาคตของกิจการไม่สามารถจ่ายปันผลได้สูงเหมือนเดิม ที่นักลงทุนมือใหม่หลายๆท่านเคยพบเจอ

ข้อดี
- เข้าใจง่าย ผ่านการเปรียบเทียบกับตัวแปรเดียว คือ เงินปันผลจ่าย
- ตรงไปตรงมาเหมาะกับการลงทุนที่เน้นเงินปันผล โดย เปรียบเทียบกับอัตราผลตอบแทนที่ต้องการ

ข้อเสีย
- เงินปันผลจ่าย ขึ้นอยู่กับการคาดการณ์กำไรและอัตราการจ่ายปันผลในอนาคต ซึ่งมีโอกาสคาดเคลื่อน
- ไม่ได้คำนึงถึงผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาหุ้น

3. อัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี (Price to Book Value Ratio: P/BV Ratio)

อัตราส่วนราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี = ราคาหุ้น / มูลค่าทางบัญชี

P/BV เป็นอัตราส่วนที่นำราคาหุ้นมาเปรียบเทียบกับมูลค่าทางบัญชี (ส่วนของผู้ถือหุ้น/จำนวนหุ้น) เพื่อเป็นการเปรียบเทียบว่าการซื้อกิจการนี้ถูกหรือแพงกว่าส่วนของผู้ถือหุ้นที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งหากมีค่าต่ำกว่า 1 เท่า นั่นหมายความว่าจะสามารถซื้อหุ้นได้ถูกกว่ามูลค่าของเจ้าของ

บนแนวคิดที่เชื่อว่าหากสามารถซื้อหุ้นได้ถูกกว่ามูลค่าทางบัญชีของหุ้นแล้ว ก็เปรียบเสมือนการปิดโอกาสที่จะขาดทุน เพราะ หากหุ้นที่ซื้อปิดดำเนินกิจการวันนี้ แล้วต้องขายสินทรัพย์ออกมาทั้งหมด เงินจากการขายสินทรัพย์นี้หลังใช้คืนหนี้สินทั้งหมดแล้ว ยังได้รับเงินกลับมามากกว่าราคาหุ้นที่ซื้อ

การประเมินมูลค่าหุ้นด้วย P/BV จึงเป็นที่นิยมใช้ในการประเมินกิจการที่ราคาถูกมาก กิจการที่อัตราผลตอบแทนที่จากใช้ประโยชน์ของสินทรัพย์ที่แน่นอน หรือ กิจการที่มีการถือครองสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูงอยู่ รวมถึงสามารถใช้ประเมินมูลค่ากิจการที่มีผลขาดทุนสุทธิได้

ข้อดี
- มูลค่าทางบัญชีเป็นตัวเลขที่มีความผันผวนน้อยกว่ากำไรสุทธิ
- สามารถใช้ประเมินมูลค่าหุ้นที่มีผลขาดทุนได้

ข้อเสีย
- ราคาหุ้นอาจจะสะท้อนตามผลประกอบการ มากกว่ามูลค่าทางบัญชี
- ไม่เหมาะกับกิจการที่มีสินทรัพย์หลักอยู่นอกงบการเงิน
- ถ้าบริษัทขาดทุนจะทำให้มูลค่าทางบัญชีลดลง

4. การคิดลดกระแสเงินสดอิสระ (Discounted Free Cash Flow : DCF)

การคิดลดกระแสเงินสดอิสระ = ผลรวมของกระแสเงินสดอิสระในอนาคต / (1+อัตราคิดลด)^จำนวนปี

หากใครเรียนจบมาทางสายการเงินคงคุ้นเคยกับการทำ DCF เป็นอย่างดี โดย การประเมินมูลค่าด้วย DCF อยู่บนแนวคิดว่ากิจการถูกสร้างมาเพื่อผลิตกระแสเงินสดในอนาคต ดังนั้น มูลค่าที่แท้จริงของกิจการจึงเป็นผลรวมของกระแสเงินสดในอนาคตที่ถูกคิดลดกลับมาเป็นค่าปัจจุบัน

โดย นักลงทุนจะต้องประมาณการกระแสเงินสดอิสระที่กิจการสามารถสร้างได้ในอนาคตในแต่ละปี จากนั้นก็ทำการคิดลดกลับมาเป็นค่าปัจจุบัน ซึ่งเทคนิคและสมมติฐานในการคำนวณอาจจะมีได้หลากหลายรูปแบบ เช่น อาจจะประมาณ Free Cash Flow to Firm แล้วคิดลดด้วย WACC หรืออาจจะคิด Free Cash Flow to Equity แล้วคิดลดด้วย Investor Interest rate เป็นต้น

ขณะที่ค่า Terminal Value เองก็มีวิธีและสมมติฐานที่ต่างกัน เช่น อาจจะคำนวณกระแสเงินสดระยะอนันต์ FCF/(k-g) หรืออาจจะใช้ Multiplier เช่น P/E หรือ EBITDA Multiply เป็นต้น ดังนั้น แม้ว่าการทำ DCF จึงดูมีหลักการที่น่าเชื่อถือ แต่ด้วยความที่จะต้องใส่สมมติฐานจำนวนมาก ทำให้มูลค่าที่แท้จริงที่ประเมินได้มีโอกาสผันผวนได้มากเช่นกัน

ข้อดี
- สามารถคำนวณมูลค่าที่แท้จริงได้แบบสัมบูรณ์ หรือ ไม่ต้องเปรียบเทียบกับสิ่งอื่นๆ
- ประเมินมูลค่าโดยคิดอย่างละเอียดผ่านหลายตัวแปร
- น่าเชื่อถือ เป็นที่ยอมรับใช้เชิงวิชาการ

ข้อเสีย
- ความยากในการประเมินกระแสเงินสดในอนาคต
- ความยากในการใส่สมมติฐานต่างๆ เช่น ต้นทุนของหนี้ ต้นทุนของผู้ถือหุ้น การเติบโตระยะอนันต์ จำนวนปี

นี่เป็นตัวอย่างเพียงบางส่วนของวิธีการประเมินมูลค่าหุ้น จะเห็นได้ว่าทุกวิธีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น สิ่งสำคัญมากกว่าคือการทำความเข้าใจและใช้เครื่องมือให้เหมาะสมกับมุมมองการลงทุนของเรา ศึกษาพื้นฐานกิจการเพื่อจะได้คาดการณ์ได้เคียงมากขึ้น และอย่าลืมส่วนเผื่อความปลอดภัยในการประเมินมูลค่าผิดพลาดนะครับ

17.03.203