Written by : #CreativeTone x #Liberator





ศักยภาพของ FinTech ในตอนนี้กำลังถูกพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง และดึงดูดคนเก่งๆ เข้ามาทำงานในสายดังกล่าวกันมากขึ้น ขณะเดียวกัน โจทย์ด้านเศรษฐกิจและสังคมของโลกก็มีความซับซ้อนและมีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ





ดังนั้น ความร่วมมือกันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะดึงพลานุภาพของ FinTech เข้ามาสร้างคุณค่าได้อย่างเต็มที่ โดย FinTech จะอยู่ในฐานะของอาวุธ ที่สร้างสรรค์สังคมและเศรษฐกิจให้เติบโตบนฐานของความยั่งยืน มีภูมิคุ้มกันต่อภัยคุกคามและความไม่แน่นอน พร้อมปรับตัวรับกระแสการเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดอยู่กับที่





ทั้งนี้ จากสถานการณ์โควิด-19 ตลอดจนวิกฤติต่างๆ ที่เกิดรอบตัว ทำให้กรอบแนวคิดด้าน “สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล” (ESG) ถูกยกให้เป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจและการขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ





หลายประเทศเริ่มตื่นตัวและยึดเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนา ซึ่ง FinTech สามารถใช้ศักยภาพของตัวเองในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ โดยเฉพาะใน 4 มิติ คือ





มิติที่ 1 : ลดความเหลื่อมล้ำเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุน





กลุ่มธุรกิจที่น่าจะได้ประโยชน์จากมิตินี้มากที่สุดก็คือ SMEs โดย FinTech สามารถใช้ศักยภาพของตัวเองสร้างโอกาสให้ผู้คนเข้าถึงเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำ รวมถึงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งนับเป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก โดยเฉพะในกลุ่มอาชีพอิสระหรือผู้ที่ไม่ได้ทำงานประจำ ซึ่งอาจไม่มีประวัติทางการเงินที่เพียงพอในการพิจารณาสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ แต่อาจมีความสามารถในการชำระคืนได้เป็นอย่างดี





ทั้งนี้ งานวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยว่า มี SMEs เพียง 5.2 แสนราย หรือ 17% ของ SMEs ทั้งหมดกว่า 3 ล้านรายเท่านั้น ที่เข้าถึงสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์





ขณะที่ วิกฤตการณ์โควิด-19 ได้สร้างผลกระทบต่อสถานะการเงินและการดำเนินธุรกิจของ SMEs ให้ย่ำแย่ลงชัดเจน สะท้อนจากยอดสินเชื่อ SMEs ที่ปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินมากถึงกว่า 8 แสนล้านบาท ซึ่งมีนัยต่อ Credit risk ที่สูงขึ้น ซ้ำเติมความสามารถในการเข้าถึงเงินทุน





มิติที่ 2 : สร้างความยั่งยืนจากโอกาสการออมและการลงทุน





มีผลสำรวจการออมภาคครัวเรือนไทยจากสำนักงานสถิติแห่งชาติออกมาว่า ครัวเรือนไทยประมาณ 27.1% (หรือราว 5.8 ล้านครัวเรือน) ของทั้งประเทศ ไม่มีเงินออม ซึ่งสอดคล้องกับวิธีการออมของคนไทยที่พบว่า ส่วนใหญ่ (38.9%) จะใช้ก่อนแล้วค่อยออม แถมยังมีพฤติกรรมการออมที่ไม่แน่ไม่นอนอีกต่างหาก





สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยจำนวนไม่น้อยมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับการเกษียณทุกข์ในอนาคต เพราะมีเงินออมสำหรับใช้จ่ายไม่เพียงพอ ซึ่งตรงจุดนี้เอง ที่ FinTech สามารถเข้ามาสร้างแรงจูงใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้การออมและการลงทุนเป็นเรื่องง่าย และจูงใจมากกว่าเดิม





มิติที่ 3 : เพิ่มความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้ภาคธุรกิจ





การเร่งยกระดับประสิทธิภาพการฟื้นฟูผลการดำเนินงานและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจนับเป็นอีกโจทย์ที่มีความท้าทาย





โดยจากการจัดอันดับสถานะความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจของ World Bank นั้น ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 21 จาก 190 ประเทศทั่วโลก ซึ่งในจุดนี้ Fintech ยังสามารถเข้ามาช่วยพัฒนาศักยภาพในหลายๆ ด้านได้ ไม่ว่าจะเป็น ด้านการชำระภาษี, ด้านการค้าระหว่างประเทศ หรือด้านการได้รับสินเชื่อ





มิติที่ 4 : ความยั่งยืนจากการดำเนินนโยบายรัฐที่ตรงจุดและโปร่งใส





ภาครัฐถือเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศไทย โดยเฉพาะงบประมาณภาครัฐที่ถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนั้น ประสิทธิผลในการดำเนินนโยบายภาครัฐอย่างตรงจุดและมีความโปร่งใสจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ FinTech สามารถเข้ามาช่วยเสริมความแข็งแกร่งได้





ทั้งนี้ ประเทศที่มีความโดดเด่นด้านการพัฒนา FinTech มักจะมีประสิทธิผลการดำเนินงานของภาครัฐที่สูงด้วย ยกตัวอย่างเช่น สิงคโปร์ ที่ครองแชมป์อันดับ 1 ด้าน Government Effectiveness จากการจัดอันดับของ World Bank ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 49 จาก 145 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก





12.1.2023