บทความ LIB Learn เดิม
5 หลุมพราง ของข่าวดีในตลาดหุ้น
Written by: #StockVitamins x #Liberator
ใครๆ ก็ชอบข่าวดี ตลาดหุ้นก็ชอบข่าวดี เพราะอาจเป็นเหตุให้หุ้นขึ้นได้ และเราก็ยิ้มได้ แต่ไม่ใช่ว่าทุกข่าวดีที่เราเห็นจะดีจริงๆ บางครั้งอาจมีความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ และกลายเป็นความกังวลต่อผลกำไร ส่งผลให้ราคาหุ้นไม่ขึ้น จนเรายิ้มไม่ออก และงงว่า ทำไมข่าวดี แต่หุ้นไม่ขึ้น
1. งบดีจัด กำไรโตมาก
เป็นประจำทุกไตรมาส เวลาประกาศงบ เรามักจะชอบดูแต่ตัวเลขตารางสรุป พาดหัวข่าว ว่ากำไรโตเท่าไหร่ หลายครั้งที่เรามักจะเห็นแต่ตัวเลขเขียวๆ ว่า กำไรโต 30%, 50% หรือบางทีเป็น 100% เราก็อาจจะมองว่าเป็นข่าวดี หุ้นขึ้นแน่ แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ดีก็ได้ เช่น
• กำไรโต YoY เทียบกับปีก่อน แต่ไม่โต QoQ แปลว่า โมเมนตัมอาจไม่ดี
• กำไรโต 50-100% คือ พีคมาก โตเยอะไปหรือเปล่า แล้วต่อไปจะโตยังไงได้อีก ยิ่งโตเยอะยิ่งต้องคิดเยอะ ไม่ใช่ดีใจแต่อย่างเดียว
• กำไรโตจากรายการพิเศษ กำไรโตจากฐานต่ำปีก่อนหรือเปล่า
• กำไรโตเพราะ pent up demand สั่งของเยอะหลังจากเปิดเมือง แต่อาจจะสั่งเยอะไป เดี๋ยวต้องลดสต๊อกในอนาคต
• กำไรอะโตจริง แต่ต่ำกว่าคาดการณ์มั้ย
• กำไรโต แต่ราคาหุ้นขึ้นไปแล้ว ก็อาจจะได้เวลา sell on fact
เราจะเห็นได้ว่า การจะดูแค่กำไรบรรทัดเดียว แล้วสรุปเลยไม่ได้ ต้องดูรายละเอียดข้างใน ดูความคาดหวัง ดูโมเมนตัมการเติบโตในอนาคตควบคู่กันไปด้วย
2. เพิ่มกำลังการผลิต
บริษัทประกาศขยายไลน์ผลิตใหม่ เพิ่มเครื่องจักร กำลังการผลิตเพิ่มอีก 100% มองเผินๆ ก็คือดี แปลว่า ขายดี เพิ่ม Capacity ก็จะขายของได้มากขึ้น รายได้เพิ่ม กำไรก็น่าจะเพิ่ม หุ้นก็น่าจะขึ้น แต่เราต้องระวังในกรณีที่
• กำลังการผลิตเพิ่ม 100% แต่ออเดอร์เพิ่ม 20% อาจจะไม่คุ้มกับค่าแรง ค่าเครื่อง ค่าเช่า ถ้าออเดอร์เพิ่มไม่มาก
• ยอดขายดีเกินจริง เช่น ช่วง COVID เราอาจจะขายดีเพราะคนตุนสินค้า หรือหลัง COVID มี pent up demand จนโรงงานเต็ม เราเลยเร่งขยายการผลิต แต่พอเหตุการณ์กลับมาปกติ ออเดอร์กลับมาเท่าเดิม เท่ากับว่า การเพิ่มกำลังการผลิตจะใช้ไม่คุ้มค่า
3. เปิดโครงการใหม่ สร้างตึกใหม่ สร้างโรงงานใหม่
คล้ายๆ กันกับการเพิ่มกำลังการผลิต การที่บริษัทจะสร้างอะไรใหม่ๆ เพิ่มจากเดิม ตึกโรงพยาบาลใหม่ โรงงานใหม่ มองมุมนึง คือดี แปลว่า ลูกค้าเยอะ แต่อีกมุมนึง คือ ค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มเข้ามามาก โดยเฉพาะ “ค่าเสื่อม” ที่เป็นค่าใช้จ่ายก้อนโต ที่จะเข้ามาเป็นประจำ ถ้าเกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้นไม่พอกับค่าคน ค่าเสื่อม ค่าเช่าที่ ค่าอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นมา กว่าจะทำกำไรได้ก็ต้องรออีกหลายปีเลยทีเดียว
4. P/E ต่ำมาก หนี้น้อยมาก เงินสดเยอะ
หลายครั้งเราชอบท่องเป็นสูตรสำเร็จว่า ถ้าเจอหุ้น P/E ต่ำ หนี้น้อย เงินสดเยอะ แปลว่าดี แต่ในความเป็นจริง อาจจะไม่ได้ดีอย่างที่คิดก็ได้
• P/E ต่ำ เพราะเป็นหุ้นวัฏจักรที่กำลังจะจบรอบ กำไรเพิ่มเยอะมากๆ ครั้งสุดท้ายหรือเปล่า
• P/E ต่ำ เพราะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ผันผวน รายได้มาไม่แน่นอน ตลาดเลยไม่ให้ค่าที่สูงหรือเปล่า
• P/E ต่ำ เพราะเป็นธุรกิจที่นิ่งๆ ไม่โต อุตสาหกรรมก็ไม่โต ตลาดก็เลยให้ค่าที่ต่ำกว่า
• หนี้น้อย เงินสดเยอะ มองในมุมความปลอดภัยคือดี แต่ถ้ามองในมุมการเติบโตอาจจะมองได้ว่า บริษัทไม่ได้เอาเงินที่มีไปต่อยอดธุรกิจให้เติบโตมากกว่านี้ หรือไม่เสี่ยงเลย ไม่ leverage เพื่อขยายกิจการอะไรเลยก็เป็นได้
5. จ่ายปันผล 100% ของกำไร
เราอาจจะชอบบริษัทที่จ่ายปันผลสูงๆ เพราะว่าเราก็จะได้ผลตอบแทนกลับมาทันที แต่ถ้าบริษัทไหนทำกำไรได้เท่าไร จ่ายออกมาหมด ก็อาจจะไม่ได้ดีทุกครั้งไป เพราะอาจแปลได้ว่า บริษัทอิ่มตัวแล้ว เติบโตแบบนิ่งๆ แล้ว เป็นผู้นำที่ชนะขาดแล้ว ทำให้ไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปลงทุนอะไรต่อดี ก็เลยจ่ายปันผลลออกมาหมดเลย แปลว่า จะดีกับคนที่อยากลงทุนหุ้นนิ่งๆ จ่ายปันผลดี แต่อาจจะไม่เหมาะถ้าเรามองหาหุ้นเติบโตเพื่อหวัง capital gain
“ในดีมีร้าย ในร้ายมีดี”
เวลาที่เห็นข่าวดี อย่าลืมมองถึงเรื่องความเสี่ยงที่ซ่อนอยู่ในนั้น เวลาที่เห็นข่าวร้ายก็อย่าลืมหาเรื่องดีๆ ที่อาจซ่อนอยู่ในนั้นเช่นกัน เพื่อที่จะได้ไม่ตกหลุมพรางของข่าวดี และไม่เสียโอกาสในข่าวร้าย