Written by: #StockVitamins x #Liberator





IPO หรือ Initial Public Offering คือ หุ้นใหม่ที่กำลังจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่ละปีเข้ามากัน 30-40 บริษัท บางบริษัทเข้ามาราคาวิ่งเป็นจรวดและดีต่อเนื่อง บางบริษัทวิ่งวันเดียวจอด ต่อมาลงแบบไม่ลืมหูลืมตา แล้วทีนี้เราจะรู้ได้อย่างไรว่า บริษัทไหนดีน่าลงทุน หรือบริษัทไหนคือตัวร้ายน่าถอยหนี






วันนี้เรามาทำ check list โดยประยุกต์ใช้เทคนิคการตั้งคำถามแบบ 5W2H ที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์ปัญหาธุรกิจ เพื่อให้ได้คำตอบครบทุกด้าน เราจะลองเอามาใช้ตรวจสอบหุ้น IPO กันแบบนี้ครับ




1. WHO เขาเป็นใคร



ก่อนที่เราจะเอาเงินไปซื้อหุ้นใคร ทำธุรกิจกับใคร ลองดูประวัติเขาก่อนดีมั้ยว่าเป็นใครกันบ้าง ชื่อเสียงเรียงนามว่าอะไร มีฝีมือ มีผลงาน ทำธุรกิจอะไรกันมา สำเร็จมากน้อยแค่ไหน ไว้ใจได้หรือเปล่า เคยมีคดีความอะไรติดตัวมาบ้างมั้ย ซึ่งใน Filing ในส่วนของ Executive Summary และ MD&A จะมีผลประกอบการย้อนหลัง 3 ปี ให้ดูทั้งงบการเงิน อัตราส่วนการเงิน คำอธิบายงบ และความเสี่ยงต่างๆ ให้ลองเข้าไปศึกษากันดูก่อน




2. WHAT เอาเงินไปทำอะไร

การจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ คือ การระดมทุนจากพวกเรานักลงทุน เราก็มีสิทธิ์ที่จะรู้ว่า เอาเงินเราไปทำอะไร ให้ลองพิจารณาตามนี้



• เอาเงินไปลงทุน แบบนี้เจตนาดี เพื่อต่อยอดธุรกิจ แต่ก็ต้องดูด้วยว่าลงทุนถูกที่ถูกทางหรือเปล่า เอาไปใช้จ่ายแบบคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ที่ระดมทุนหรือไม่



• เอาไปเป็นเงินทุนหมุนเวียน ถ้าสัดส่วนนี้เยอะ ให้สงสัยไว้ก่อนว่า ต้องใช้เงินเยอะในการทำธุรกิจใช่ไหม ต้องหมุนเงินเยอะตลอดเวลาหรือเปล่า แล้วจะไม่ลงทุนต่อยอดกิจการอะไรเลยหรอ ถ้ามาแบบนี้ก็ไม่ค่อยดีนัก





• เอาเงินไปคืนหนี้ อันนี้มองได้ 2 มุม คือ มุมบวก เขาลงทุนสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักรล่วงหน้าด้วยเงินตัวเองและกู้เงินมาก่อนแล้วถึงค่อยเข้าตลาดหุ้น เพื่อจะได้ไม่เสียเวลา เข้าตลาดปุ๊บโตเลย แบบนี้ดี แต่ถ้ามุมลบ คือ หนี้สินเยอะมาแต่ไหนแต่ไร เข้าตลาดเพื่อเอาเงินไปใช้หนี้ที่ก่อมา ไม่ได้เอาไปลงทุนอะไรใหม่ หรือหนักกว่านั้นบางกรณี กู้เงินมาจ่ายปันผลให้ตัวเอง แล้วเอาหุ้นเข้าตลาดระดมทุนคนอื่นไปคืนหนี้ธนาคาร แบบนี้ไม่น่ารัก




3. WHEN ผลลัพธ์จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่





เพราะธุรกิจที่ดีต้องวัดผลได้ และมีกำหนดการที่ชัดเจน ใน File วัตถุประสงค์การใช้เงิน จะมีบอกเป็นข้อๆ เลยว่า ต้องการเอาเงินไปทำอะไรบ้าง ปีไหน เราต้องดูดีๆ บางทีระดมทุนปีนี้ กว่าจะเอาเงินไปสร้างโรงงานเสร็จอีก 2 ปี แบบนี้กำไรก็จะไม่มาซักที




4. WHERE กระจายหุ้นไปที่ไหนบ้าง



หุ้น IPO ที่ขายออกมานั้นแบ่งสัดส่วนขายให้ใครบ้าง ถ้าให้ดีก็ควรกระจายพอๆ กันทั้ง ต่างชาติ สถาบัน ลูกค้าโบรกเกอร์ รายย่อย เป็นการกระจายให้กันอย่างทั่วถึง แต่ถ้าหุ้นไปกระจุกตัวกับใครเป็นพิเศษ เช่น ผู้มีอุปการคุณของบริษัทหรือของโบรกเกอร์ ก็ระวังไว้ก่อนว่าจะเกิดการชี้นำหรือทำราคาได้





นอกจากนั้น สัดส่วนการถือหุ้นหลังการ IPO ก็สำคัญ เจ้าของบริษัท ยังถือหุ้นเยอะที่สุดหรือเปล่า ถ้าทั้งครอบครัวรวมกันเกิน 50% ถือว่าดี แปลว่า เจ้าของยังอยู่ ไม่ทิ้งบริษัทไปไหน มีส่วนได้ส่วนเสียไปในทางเดียวกับผลประกอบการของบริษัท และอยู่ข้างเดียวกับรายย่อย




5. WHY เอาจริงๆ เข้าตลาดหุ้นทำไม



ถามตัวเองอีกรอบ เป็นการมองให้ทะลุถึงเบื้องหลังว่า เอาดีๆ จะมาทำอะไรในตลาดหุ้น ทำไมใจดี เอากำไรมาแบ่งให้คนอื่น เรามองได้แบบนี้



• เข้ามา exit เพราะเห็นแววแล้วว่า ธุรกิจไปต่อไม่ไหวแล้ว พีคแล้ว หรือเหนื่อยแล้ว ขายหุ้นได้กำไรเยอะ แล้วก็เลิกรากันไป



• เข้ามาจัดสรรมรดกกงสี เพราะครอบครัวใหญ่ ลูก หลาน เยอะ การเข้าตลาดจะช่วยให้บริษัทมีระบบขึ้น มีคนคอยตรวจสอบ พี่น้องถือหุ้นชัดเจนว่าแต่ละคนมีเท่าไหร่ จะได้ไม่ต้องทะเลาะแย่งชิงมรดกกันในวันที่พ่อแม่ไม่อยู่





• เข้ามาโตจริงๆ แบบนี้ คือดีที่สุด เป็นการเข้ามาระดมทุนเพื่อลงทุนต่อยอด




6. HOW ทิศทางอนาคตเป็นอย่างไร



เพราะเราเห็นแค่วันนี้ที่เขาฉายภาพสวยๆ ให้ดูว่า กำไรดี แต่เราต้องมองเทรนด์ หรือแนวโน้มให้ออกว่า อนาคตเป็นอย่างไร โดยการเอางบการเงินมากางดูจะพอรู้ เช่น



• รายได้ดี กำไรดี เก็บเงินได้จริง ต้องลงไปดูที่งบกระแสเงินสดเลย จะได้เห็นว่า กำไรที่มีนั้น เก็บเงินได้ด้วยนะ ไม่ใช่ปล่อยเครดิตเทอมนานๆ สุดท้ายเก็บเงินไม่ได้ หมุนเงินไม่ทัน เจ๊งพอดี



• อัตรากำไรสม่ำเสมอ หรือ เพิ่มขึ้นได้ อันนี้สำคัญ เพราะถ้ารายได้ได้ แต่ดันไปลดราคาเยอะ มาร์จิ้นแย่ ในระยะยาวก็ไม่รอด





• อยู่ในธุรกิจที่เป็นเทรนด์ขาขึ้น คือ ตลาดยังโตได้ต่อ ไม่ใช่ว่าอยู่ในอุตสาหกรรม sunset ยิ่งนานวันยิ่งถดถอย แบบนี้ก็ไม่เอา




7. HOW MUCH ขายหุ้นราคาเท่าไหร่



ราคาหุ้นที่ขายถูกหรือแพงแค่ไหน ปกติจะมีบอก Trailing P/E คือ เอากำไร 4 ไตรมาสย้อนหลังมาคำนวณเทียบกับราคาหุ้นที่ขาย เพื่อจะได้เห็นภาพว่าเป็นเท่าไหร่ แต่ต้องดูให้ดีว่า



• มีรายการพิเศษอะไรที่ทำให้กำไรดูดีเกินจริงที่จะทำแบบนี้ไม่ได้อีกในอนาคตมั้ย ทำให้ P/E ต่ำเกินจริง



• กำไรต่อหุ้นที่เอามาคำนวณนั้นรวมหุ้นใหม่ที่เพิ่มทุนไปหรือยัง เพราะหลายครั้งชอบแอบไม่รวม ทำให้ P/E ต่ำเกินจริง



• เอา P/E ไปเทียบกับบริษัทที่ทำธุรกิจคล้ายกัน หรือเทียบกับค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมว่ามากหรือน้อยกว่ากัน




IPO อาจจะเป็นทั้งโอกาสและวิกฤต แต่ไม่ใช่ตาดีได้ตาร้ายเสีย ถ้าเราวิเคราะห์เป็นด้วยหลักการง่ายๆ แบบ 5W2H เราก็จะรู้เท่าทัน และตัดสินใจได้อย่างรอบคอบก่อนลงทุนหุ้น IPO ครับ