ESG คืออะไร? ทำไมนักลงทุนถึงให้ความสำคัญ?
ESG เป็นตัวอักษรย่อ ที่ย่อมาจากคำ 3 คำด้วยกัน นั่นคือ Environment, Social, และ Governance ซึ่งทั้ง 3 คำนี้เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน ที่นักลงทุนปัจจุบันให้ความสำคัญและใช้ประกอบการพิจารณาลงทุน ทั้งนี้ ประเด็น ESG เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในแวดวงการเงินและการลงทุนจากหลักปฏิบัติการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ (Principles for Responsible Investment : PRI) ของ United Nation (UN) ซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อปี 2549
โดย Environment เป็นหลักเกณฑ์ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบของบริษัทต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ Social เป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้วัดว่า บริษัทมีการจัดการความสัมพันธ์และมีการสื่อสารกับลูกจ้าง, Suppliers รวมถึงลูกค้า หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อย่างไร
ส่วน Governance นั้น ใช้วัดว่า บริษัทมีการจัดการบริการความสัมพันธ์เชิงการกำกับดูแล เพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียขนาดไหนนั่นเอง
การให้ความสำคัญของนักลงทุนต่อประเด็น ESG มีแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้ชัดจาก การศึกษาของ State Street Global Advisors ในปี 2560 ซึ่งได้ทำการศึกษากับผู้ลงทุนสถาบันทั้งหมด 475 องค์กร ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป รวมถึงโซนเอเชียแปซิฟิก พบว่า พอร์ตการลงทุนของผู้ลงทุนสถาบันส่วนใหญ่ 80% มีการจัดสรรเงินลงทุนไปกับองค์กรที่มีการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG
ขณะเดียวกัน ก็ยังมีผลการศึกษาจาก Financial Planning Association ในปี 2563 พบว่า ผู้แนะนำทางการเงินมีการแนะนำนักลงทุนหรือได้ลงทุนด้วยตัวเองในกองทุนแบบ ESG มากขึ้นจากปีก่อนๆ อย่างมีนัยสำคัญด้วย
ถามว่า เพราะเหตุใดการลงทุนในบริษัทที่เน้น ESG จึงได้รับความนิยมมากขึ้น? คำตอบก็น่าจะอยู่ที่ การลงทุนในบริษัทดังกล่าวสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าบริษัทที่ไม่คำนึงถึงปัจจัย ESG ในระยะยาว
เมื่อบริษัทสามารถระบุปัจจัยที่มีความสำคัญต่อความยั่งยืนของบริษัทได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ก็จะส่งผลต่อศักยภาพในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่โดดเด่น
ด้านสถาบันการเงินหลายแห่ง ก็มีรายชื่อประเภทของอุตสาหกรรมที่จะไม่สนับสนุนเม็ดเงินลงทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ไม่ได้คำนึงถึง ESG ด้วย เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน, บริษัทยาสูบ หรือสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ไม่เพียงเท่านั้น วิกฤติโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเร่งที่ทำให้นักลงทุนให้ความสำคัญกับ ESG สูงขึ้นรวดเร็วอีกต่างหาก
สำหรับในประเทศไทยเอง ESG กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน โดยบริษัทจดทะเบียนหลายรายมีการนำข้อมูลด้าน ESG มาจัดทำรายงานความยั่งยืน (Sustainability Report) เพื่อเปิดเผยต่อผู้ถือหุ้น นักลงทุน และสาธารณชน ควบคู่กับรายงานข้อมูลทางการเงิน
ขณะที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็มีการจัดทำรายชื่อ “หุ้นยั่งยืน” ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจที่คำนึงถึง ESG และมีการทบทวนรายชื่อดัชนีทุกครึ่งปี ซึ่งส่วนใหญ่ยังประกอบด้วยบริษัทขนาดใหญ่เป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม หากในระดับสากลแล้ว ผลการสำรวจขององค์กรสหประชาชาติ ด้านความร่วมมือเพื่อความยั่งยืน (UN Global Compact) พบว่ามีบริษัทเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น ที่มีการตรวจสอบและประเมินด้าน ESG อย่างชัดเจน ซึ่งภายในปี 2573 (หรือ ค.ศ.2030) บริษัทที่ไม่มี ESG อาจกลายเป็นบริษัทที่ล้าหลัง หรือไม่สอดคล้องกับมาตรฐานเป้าหมายความร่วมมือด้านความยั่งยืนของโลก
6.1.2023