ผมเสียเวลาและเงินไป 4 ปี เพราะซื้อกองทุนผิดวิธี
“พี่ถือกองทุน RMF มาจนครบอายุแล้ว จ๊อบว่าพี่ควรขายเลยดีมั้ย?”
“เอ้า ถึงแล้วหรอ เป็นยังไงพี่ ได้กำไรมั้ย ลงทุนมาตั้งนาน” ผมถามกลับ
“..... ไม่นะ ขาดทุนอยู่นิดหน่อย เสียดาย” พี่ A ตอบกลับและถามต่อ
“พี่ขายเลยดีมั้ย จ๊อบคิดว่าไง”
เคยขาดทุนกองทุนรวมมั้ย?
นึกย้อนไปถึงพอร์ตกองทุนรวมพอร์ตแรกสมัยเริ่มทำงานใหม่ๆ แล้วก็เจ็บปวดใจเหมือนกัน
ตอนนั้นผมเข้ากองทุนกองหนึ่งด้วยความเชื่อ ผมในวันนั้นมั่นใจในความรู้เรื่องการลงทุน เรื่องเศรษฐกิจอยู่พอตัว
อาศัยว่าฟังข่าวเศรษฐกิจอยู่ทุกวัน แนวโน้มธุรกิจ แนวโน้มเศรษฐกิจ เห็นชัดแจ๋ว ไม่มีพลาดชัวร์ (มั่นใจอะไรขนาดนั้นกันนะ 5555)
ถามพนักงานที่ธนาคารเขาก็บอกว่า “ตอนนี้แหละโอกาส เทียบกับกองทุนที่อื่นๆ แล้วตอนนี้ราคาถูกมากๆ แล้ว 2-3 ปีข้างหน้าอาจไม่ได้เห็นราคานี้อีกแล้ว”
พอมาดูแล้วก็ไม่เห็นราคานั้นอีกเลยจริงๆ ครับ ตรงเป๊ะ มันลงมาไกลเลย 55555
ผมเสียเงินเก็บในกองนี้ไปเกือบ 40% เงินที่ผมใช้เวลาเก็บหอมรอบริบมาหลายเดือน เสียเวลาที่อดทนรอหลายเดือน ละที่สำคัญคือเสียความรู้สึกมากๆ ด้วย
“ขายเหอะพี่ กองทุนนี้มันเสี่ยงไปหน่อย อนาคตไม่ค่อยดี จัดกันใหม่ดีกว่า” ผมตอบ
“อืม พี่อยากเริ่มใหม่เลย พี่เซ็งมาก ตอนซื้อเค้าบอกว่าจะเติบโตแท้ๆ” รุ่นพี่ A ระบายความคับแค้นในใจ
ผมนึกถึงบทเรียนต่างๆ ที่ผมจดไว้และข้อคิดเตือนใจที่จะไม่ทำพลาดซ้ำท่าเดิมแบบตอนนั้นอีก
บทเรียนไม่ควรพลาดซื้อกองทุนรวม
จากความเจ็บปวดของผมเองในการลงทุนกองทุนรวม ผมกลั่นออกมาได้ 4 เรื่อง
1.1. ลงทุนกองทุนรวมต้องมีความสม่ำเสมอ เราต้องเติมเงินทุกเดือน
อ้าว แบบนี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการที่พอร์ตโตเพราะเติมเงินน่ะสิ
ถูกต้องครับ การลงทุนมันคือการปล่อยให้เงินไปทำงาน ยิ่งมีเงินมาก เวลาที่ได้ผลตอบแทนก็จะมากขึ้นไปด้วย ลองดูเคสนี้
ทำให้ได้ 10% จากเงินต้น 100,000 บาท (ได้กำไร 10,000 บาท)
ทำให้ได้ 3% จากเงินต้น 1,000,000 บาท (ได้กำไร 30,000 บาท)
ดังนั้น การทยอยเติมเงินให้ฐานเราใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ย่อมดีกว่า เหมือนเปิดประตูกว้างๆ รับอานิสงส์พลังงานมงคลให้ได้กว้างมากยิ่งขึ้น
ถ้าสมมติว่าเราแบ่งเงินมาเดือนละ 1,000 บาท (วันละ 33.33 บาทเท่านั้น) และเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่มีผลตอบแทนระยะยาวมากกว่า 5% เช่น กองทุน KFUSINDX-A ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปี 11.33%*
เงินของเราจะโตเป็นตามรูปนี้
เงินลงทุน ตลอดเวลา 10 ปี เท่ากับ 120,000 บาท
ผลตอบแทนเฉลี่ย 3% เท่ากับทบๆ มาแล้วได้ 19,741.42 บาท (+16.45%)
ถ้าทำได้ผลตอบแทน 6% หรือ 12% ก็ยิ่งทำได้มากขึ้นไปอีก
ไม่น้อยเลยนะ สำหรับการออมเงินเดือนละ 1,000 บาท
1.2. อย่าทุ่มเงินทุกบาทไปที่กองทุนเดียว (ถ้ามันไม่ใช่กองทุนกระจายความเสี่ยง)
เวลาซื้อกองทุนรวม เราไม่ควรซื้อกองทุนแค่กองเดียว ยิ่งถ้าเป็นกองทุนที่ลงทุนในที่ที่แคบมากๆ เช่น กองทุนหุ้นอินเดีย กองทุนเน้นเกี่ยวกับหุ้นอวกาศ
เพราะถ้ากลุ่มนั้นเจอปัญหา แล้วเราดันมีเงินเก็บทั้งชีวิตที่กองนี้กองเดียว เราอาจจะเจอกับความเสียหายหนักแบบผมได้
สิ่งที่เราควรทำเวลาซื้อกองทุนรวม คือ เลือกมาอย่างน้อย 4-8 กองทุนที่แตกต่างกัน จัดสัดส่วน แล้วทยอยสะสม เก็บเงินลงทุนในระยะยาว
แทนที่จะหาคนเดียวมาแบกงานและเงินทั้งหมดของเรา เรากระจายเงินไปให้หลายๆ คนช่วยกันกลบจุดอ่อนกันและกันดีกว่า
ถ้ากลัวว่าเราไม่มีวินัยพอ เราใช้เครื่องมือที่บังคับให้เราออมระยะยาว เช่น กองทุน RMF ได้
ดูตัวอย่างการจัดพอร์ตกองทุนรวมด้วย RMF สอนจัดพอร์ตแบบละเอียดยิบ อ่านที่นี่
1.3. ลงทุนให้เหมาะกับเวลาของตัวเอง
หนึ่งในข้อผิดพลาดหลักของผม คือ ผมไม่ได้ให้เวลากับกองทุนรวม คิดเอาว่ามันเหมือนกับการเอาเงินฝังในตุ่มหลังบ้าน ขุดขึ้นมาอีกทีมันก็จะกลายเป็นขุมทรัพย์ก้อนใหญ่ในมือของผมเหมือนกับที่หลายๆ ที่เขาบอกกัน
ปัญหาคือ … กองทุนรวมไม่ได้ทำงานแบบนั้น
การลงทุน คือ เรากำลัง ใช้เงินไปทำงาน
เราต้องมาดูด้วยว่าเงินที่เราส่งไปตั้งใจทำงานไหม ถ้าเจอเงินที่อู้งานอยู่ ส่งไปทำงานแล้วแต่ดันอยู่เฉยๆ ในขณะที่เงินก้อนอื่นกำลังตั้งใจทำงานขยันขันแข็ง เราควรจัดการกับเจ้าเงินจอมขี้เกียจนี้ซะ แล้วหาที่อื่นๆ ให้เงินไปทำงานแทน
ถ้าเราเป็นคนมีเวลาติดตามมาก ตามข่าวเศรษฐกิจอยู่เรื่อยๆ
ท่าที่เราควรลงทุน คือ ดูว่ากองทุนนี้เขาไปลงทุนในอะไร ไปลองดูแนวโน้มกราฟของสินทรัพย์ที่กองทุนลงทุนอยู่ก็พอ
(จากใจเลยคิดว่าไม่ควรตามข่าวทุกวันนะครับ บางทีมันทำให้เราตกใจทุกวัน)
ถ้าเราไม่มีเวลาเลย มีงานที่ต้องรับผิดชอบทุกวัน ต้องดูแลหลายๆ อย่าง ใช้เวลานาน
การเลือกกองทุนที่กระจายความเสี่ยงดีอยู่แล้ว เช่น KT-WEQ-RMF จะน่าสนใจกว่า
แชร์เทคนิคการออมและแบ่งเงินลงทุน เริ่มต้นจากกองทุนตลาดเงิน เสี่ยงต่ำ ได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 2% ต่อปี
หลังจากนั้นก็จัดสัดส่วนเอาไว้ แล้วทยอยแบ่งเงินเก็บไปลงทุนแบบสม่ำเสมอต่อเนื่องทุกเดือน ทุกปี
ตัวอย่าง วางแผนแบ่งเงินเดือน 20% ไปลงทุน ถ้าเงินเดือน 50,000 บาท แบ่งเงินไปลงทุน 10,000 บาท
4,500 บาท เน้นหุ้นเติบโต
4,500 บาท เน้นหุ้นปันผล แบรนด์แข็งแกร่ง
1,000 บาท เน้นตราสารหนี้ เพื่อรักษาความปลอดภัย
ทำแบบเดิมซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ มั่นใจในการเติบโตระยะยาวว่าเทคโนโลยีจะดีขึ้น จะเติบโตขึ้น
1.4. ทบทวนและดูแลกองทุนในพอร์ตของเรา
ถ้าเราเจอว่าเงินกำลังนั่งอู้งานอยู่
สิ่งที่เราควรทำก่อนตัดสินใจ คือ ตรวจสอบว่าแค่เหนื่อยและกำลังนั่งพักหรือเปล่า หรือมันกำลังมีปัญหาเรื้อรังแล้วจริงๆ
วิธีการง่ายๆ ที่เราทำได้ คือ การสลับกองทุน (กองลดหย่อนภาษีแบบ RMF ก็ทำได้) ดูไอเดียได้ในรูปด้านล่าง
มันคือการจัดพอร์ต ทบทวนปีละ 1-2 ครั้ง มาขายกองทุนที่ดูแล้วไม่ตั้งใจทำงานออก และหยิบกองทุนใหม่ที่ขยันมากๆ เข้ามาแทน
หรือจะบอกว่าการเลือกกองทุนมันคล้ายกับตอนที่เรากำลังหาคนมาช่วยงานเป็นลูกทีมก็ได้
เราต้องอยากได้คนที่ขยันขันแข็ง มีความรับผิดชอบกับงานที่ทำมากกว่าอยู่แล้ว
ซื้อกองทุนก็ขาดทุนได้ ลงทุนหุ้นเองดีกว่า …. จริงไหม
“รู้แบบนี้พี่เก็บเงินไปลงทุนเองดีกว่า ไม่เห็นต้องซื้อกองทุนรวมเลย” พี่ A บอก
“ก็ดีนะพี่ แต่มันเหนื่อยน้าา ผมดีใจอยู่แล้วถ้าพี่ลงทุนเป็น (จะได้ไม่ต้องถามผมอีก คิดในใจ) ทีนี้กองทุนมันมีบางอย่างที่ผมทำเองไม่ได้น่ะสิ” ผมตอบ
“หึ จะคุ้มกับที่พี่เสียเวลาและติดดอยมั้ยล่ะ” พี่ A ถาม
2.1. ดูกองทุนรวม ไม่ต้องดูลึก ไม่ต้องใช้เวลามาก
ถ้าเราเลือกลงทุนในพอร์ตกองทุนที่กระจายความเสี่ยงดีอยู่แล้ว ความผันผวนที่เราเจอจะลดลง
ในช่วงที่กองทุนหุ้นเทคโนโลยีลง กองทุนหุ้นปันผลหรือกองตราสารหนี้อาจจะกลับมาขยันเติบโตแทน
เทียบกับหุ้นรายตัวที่ถ้าธุรกิจเจอคู่แข่งใหม่ เจอข่าวร้ายแล้วลง เราก็โดนเต็มๆ ไปเลย
ถ้ากระจายดี อย่างน้อยก็จะมีหุ้นกลุ่มหนึ่งที่เติบโตขึ้นและสร้างผลตอบแทนให้เราได้
2.2. ไม่ต้องกังวลกับข่าวระยะสั้น เน้นออมเงินระยะยาวก็พอ
ถ้าอยากจะลงทุนให้ได้ผลตอบแทนดี สิ่งที่เราต้องมี คือ เงินต้น, ระยะเวลา, ผลตอบแทน
ถ้า เงินต้น มาก เราก็ไปถึงเป้าหมายได้ง่าย
ถ้า ลงทุนเร็ว มีเวลามาก เราก็ไปถึงเป้าหมายได้ง่าย
ถ้า ทักษะลงทุนสูง ก็ไปถึงเป้าหมายได้ง่าย เช่นกัน
สำหรับ ทักษะการลงทุน นั้นต้องใช้เวลาและความตั้งใจที่สูงมาก และน่าเสียดายว่าเส้นทางนี้ไม่ได้เหมาะกับทุกคน
ถ้าเรามีสิ่งที่อยากได้ แต่เราไม่มีเวลาและทักษะ
การทยอยออมระยะยาวอาจเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่า
ใครจะพูดอะไรก็ปล่อยเขาพูดไปครับ ระยะยาวมีหุ้นมากมายที่เติบโตหลัก 100% ได้ และกองทุนดีๆ ก็มักจะไม่พลาดหุ้นเหล่านี้
2.3. ลอกไอเดียหุ้นเด็ดจากกองทุนรวม
ลำพังแค่ความรู้ ข่าวเศรษฐกิจมันตามทันกันได้ การจะลงทุนหุ้นรายตัวให้เก่ง สิ่งที่ต้องมีคือ ไอเดีย และจิตใจที่นิ่งสงบ
ข้อแรกเราหาลอกจากกองทุนรวมได้ ในเอกสารสรุปข้อมูลกองทุนซึ่งเราเปิดหาได้บนเว็บหรือในแอป Liberator ได้เลย
ตัวอย่าง เช่น สนใจหุ้นอเมริกา แต่ไม่รู้จะหาหุ้นตัวไหน ก็อาจจะหาหุ้นน่าสนใจจากกองทุนเฉพาะทางได้
สนใจหุ้นสุขภาพ? ลองเปิดกองทุนสุขภาพ เช่น KT-HEALTHCARE
สนใจหุ้นปันผล? ลองเปิดกองทุนหุ้นปันผล เช่น ABGDD
แค่กดเข้าไปดูหาคำว่า Top Holding เราจะเห็นว่าเขาถือหุ้นอะไรบ้าง แล้วเราก็ลอกหุ้นจากกองทุนได้
ถ้าเป็นกองทุนที่ลงในต่างประเทศ เราต้องไปดูหุ้นในกองทุนหลักที่ต่างประเทศอีกที
ดีไม่ดีเราอาจได้ไอเดียและได้กลยุทธ์ลงทุนที่เหมาะกับเราเพิ่มขึ้นมา ทักษะเพิ่มขึ้นมาได้ด้วย
รายชื่อ 20 กองทุนที่ Liberator และ เด็กการเงิน ช่วยคัดเลือกไว้ให้ ดูได้ที่นี่
2.4. ถ้าเป็นเงินเย็น ซื้อกองทุนที่ให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี ประหยัดเงินได้มากขึ้น
มีกองทุนรวมที่ให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ช่วยประหยัดเงินเราได้ด้วย
กองทุน ThaiESG ลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาท
กองทุน RMF รวมกับกองทุนอื่นๆ 500,000 บาท
ถ้าเราวางแผนดีๆ อาจช่วยประหยัดเงินเราได้เยอะ จากต้องจ่ายภาษีหลายหมื่นเหลือจ่ายภาษี 0 บาทได้เลย
การซื้อหุ้นหรือลงทุนด้วยตัวเองจะไม่มีประโยชน์เรื่องภาษีให้
ในขณะที่กองทุนจะช่วยประหยัดเงินลงไปได้ ทำให้เหลือเงินไปใช้ หรือ ไปลงทุนต่อยอดได้เพิ่มขึ้น
งั้นซื้อกองทุนแทนไปเลยไม่ดีกว่าหรอ?
“อ๋อ เข้าใจละ ก็คือมันง่ายกว่าและช่วยประหยัดภาษีได้นี่เอง”
“อืม แล้วทำไมเขาถึงยังอยากซื้อหุ้นกันเองล่ะ”
“เพราะว่ากองทุนน่ะ มีข้อเสียด้วย”
"...." พี่ A ทำหน้ายี้เหมือนกับเพิ่งเจอแมวปัสสาวะใส่
3.1. มีค่าธรรมเนียม
การซื้อกองทุน คือ การเราเอาเงินเก็บของเรา ส่งไปให้ทีมผู้จัดการกองทุนช่วยเลือกหุ้น ซื้อขาย จัดสัดส่วนให้
พอมีทีมงานก็ต้องมีค่าจ้าง เพราะเขาช่วยทำงานให้เรา ช่วยให้การลงทุน ง่ายมากขึ้น
ค่าธรรมเนียมๆ หลักจะมี 2 ส่วน คือ ค่าธรรมเนียมตอนซื้อขาย และ ค่าธรรมเนียมบริหารจัดการ ซึ่งในระยะยาวจะทำให้กำไรเราลดลงได้พอสมควร
ต้องมาเทียบกันต่อว่า ความง่ายที่เราได้มา กับ ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายเพิ่ม มันคุ้มกันไหม?
3.2. กองทุนถือหุ้นหลายตัว ผลตอบแทนโดนแบ่งจนเหลือน้อย
ถ้าเราเลือกซื้อหุ้นด้วยตัวเอง แล้วตั้งใจมีหุ้นในพอร์ตไม่เกิน 5 ตัว
ถ้าเราเลือกเก่ง เลือกหุ้นได้ถูกจังหวะ ถูกตัว ได้กำไรมากกว่าเดิมเป็นเท่าตัว (คือลง 1 ล้าน ได้กลับมา 2 ล้าน) เราก็จะได้สัดส่วนของกำไรเน้นๆ ตามสัดส่วนที่เราถือ
กองทุนก็เหมือนกัน ทีนี้กองทุนโดยทั่วไปจะถือกันมากกว่า 10 ตัว (บางกองมีมากถึง 80 ตัว!)
ถ้าเจอหุ้นผู้ชนะขึ้นมาจริงๆ ส่วนของกำไรเราอาจจะเล็กน้อยมากๆ จนแทบไม่รู้สึกเลยก็ได้
“ผมคิดว่าคนที่ชอบการลงทุนด้วยตัวเองมากกว่าเขามั่นใจในทักษะนะ
ถ้าพี่มีทักษะแล้วผมว่าพี่ซื้อหุ้นด้วยตัวเองอาจจะดีกว่าก็ได้”
3.3. กองทุนลงทุนตามนโยบายเป๊ะๆ
“แล้วกองทุน RMF เขาไม่เห็นทำอะไรเลยตอนมันขาดทุน” พี่ A ว่ามาแบบนี้
“ก็ใช่ครับ เขาต้องทำตามกฎและเอกสารที่เขียนไว้เป๊ะๆ เลยครับ”
“ถึงแม้ว่าทำต่อแบบเดิมแล้วจะยังขาดทุนเนี่ยนะ?”
“ใช่เลยพี่ เราเลยต้องกระจายไปกองทุนหลายๆ แบบครับ”
เรื่องนี้วันแรกๆ ขัดใจผมมาก 5555 เพราะถ้าเราลงทุนเอง เรายังเห็นปัญหาและเข้ามาแก้ไขได้เอง
พอเป็นกองทุนแล้วเขามีกฎระเบียบต้องทำตามเคร่งครัด ซื้อขายแก้เกมนอกกฎที่เขียนไว้ในเอกสารไม่ได้ ไม่งั้นเขาจะโดนนักลงทุนคนอื่นฟ้อง
ทางเดียวที่จะแก้เรื่องนี้ได้ คือ ไปลงทุนด้วยตัวเองทั้งหมด หรือ กระจายซื้อกองทุนหลายๆ กอง หลายๆ นโยบายตั้งแต่แรก
“อ๋อ ถึงว่าบอกให้พี่ซื้อหลายๆ กองกระจายๆ กัน เพราะแบบนี้นี่เอง” พี่ A ทำหน้าเหมือนบรรลุในอะไรสักอย่าง
สรุป เราควรลงทุนกองทุนรวมไหม?
ควร ถ้าเป็นมือใหม่แล้วยังลงทุนด้วยตัวเองไม่คล่อง
ควร ถ้ารู้ตัวว่าจิตใจอ่อนไหวง่าย ถืออะไรได้ไม่นาน
ควร ถ้าเราทำเงินได้ดีกว่าในที่อื่นมากกว่าการลงทุน
ควร ถ้ารู้ตัวว่าไม่ค่อยมีเวลา แต่อยากออมเงินส่งต่อสินทรัพย์ให้ลูกหลาน
ไม่ควร ถ้ามั่นใจว่าเราเก่ง เราจะเป็นคนส่วนน้อยในตลาดที่ทำกำไรได้อย่างยั่งยืน
ไม่ควร ถ้าไม่พร้อมที่จะรับการขาดทุนใดๆ เลยในชีวิต (เอาเงินไปใช้ดีกว่าครับ)
ควร หรือ ไม่ควร ไม่ใช่แอดมินที่ตอบได้ แต่เป็นผู้อ่านเองเลยนะจ๊ะ
ซื้อไม่ว่าจะทางไหน Liberator ก็มีให้หมดเลยนะ