LIB Visit
สรุปประเด็นน่าสนใจ จาก LIB VISIT#7: BEM
รวมสรุปประเด็นคำถามที่น่าสนใจจากกิจกรรม LIB Visit #7 :BEM โดยในครั้งนี้ เราได้พานักลงทุนมาเข้าชมโครงการสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้มซึ่งเป็น 1 ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศไทย
สรุปประเด็นน่าสนใจ LIB Visit#7 : BEM
สิ้นสุดลงแล้วสำหรับกิจกรรม LIB VISIT#7: บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) BEM
เมื่อวันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา
LIB VISIT ครั้งนี้พานักลงทุนมาเข้าชมโครงการสถานีรถไฟฟ้าสายสีส้มซึ่งเป็น 1 ในโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศไทย โดยแอดหยิบประเด็นถาม-ตอบ และเกร็ดความรู้ที่น่าสนใจมาฝากนักลงทุน ดังนี้
ประเด็นที่น่าสนใจ
1. เนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มใช้เงินลงทุนทั้งหมดประมาณ 120,000 ล้านบาท ทางบริษัทมีนโยบายจัดสรรเงินลงทุนในส่วนนี้อย่างไร และอนาคตมีแผนที่จะเพิ่มทุนหรือไม่
ผู้บริหาร : บริษัทไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนแต่อย่างใด เพราะงานโยธาจะมีงบภาครัฐสนับสนุนให้ บริษัทกู้ธนาคาร 90,000 ล้านบาท จากนั้นรัฐบาลก็ทยอยใช้คืนให้ใน 10 ปีพร้อมดอกเบี้ยที่บริษัทจ่ายธนาคารไป ซึ่งตอนนี้ได้วงเงินกับธนาคารเรียบร้อยแล้วในดอกเบี้ยที่น่าพอใจมาก ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 30,000 ลบ. จะใช้กระแสเงินสดจาก ทางด่วน รถไฟฟ้า และการกู้ยืม ซึ่งด้วยระยะเวลาพัฒนา 6 ปี และสถาบันการเงินให้การตอบรับกับหุ้นกู้ BEM อย่างดี มองว่ามีเงินสดเพียงพอทยอยลงทุนได้แน่นอน
2. โดยปกติแล้วเมื่อมีการเปิดสายให้บริการใหม่ มักจะมีการขาดทุน แล้วสายสีส้มจะเป็นแบบนั้นไหม?
ผู้บริหาร : อาจหลีกเลี่ยงการขาดทุนในช่วงแรกของการให้บริการได้ยาก แต่สำหรับสายสีส้มนั้นจะขาดทุนน้อยกว่าสายอื่นๆ จากเหตุผล 3 ข้อ คือ 1 รัฐบาล-เอกชน มีการเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา จึงได้ออกแบบสัมปทานที่มีการจ่ายค่าสัมปทาน fixed amount เริ่มในปีที่ 10 ของการเดินรถ ขณะที่ revenue sharing จะเกิดขึ้นเมื่อ IRR มากกว่าระดับที่กำหนด 2 การที่รถไฟฟ้าสายสีส้มเชื่อมรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะช่วยยกระดับจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินให้ทะลุวันละ 500,000 เที่ยวได้ ซึ่งเป็นจุดคุ้มทุน จากปัจจุบันเฉลี่ยวันละประมาณ 440,000 แสนเที่ยว (วันธรรมดาประมาณ 500,000 เที่ยว) ดังนั้นสายสีน้ำเงินที่ผ่านจุดคุ้มทุน จะเป็นตัวช่วยในช่วง 3 - 5 ปีแรกได้อย่างดี 3 ค่าตัดจำหน่าย บริษัทใช้ระบบนับจากจำนวนผู้โดยสาร ดังนั้นในช่วงแรกที่ปริมาณผู้โดยสารน้อย ค่าตัดจำหน่ายก็จะน้อยไปด้วย ไม่เป็นภาระต่องบกำไรขาดทุนรวมนั่นเอง
3. โครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสายทุกเส้นของรัฐบาล จะกระทบกับบริษัทไหม?
ผู้บริหาร : บริษัทมองว่าโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายถือเป็นเรื่องดีกับบริษัท เพราะว่าบริษัทจะได้เงินเร็วขึ้น 26 ปี โดยการเวนคืนจะต้องนำมูลค่าในอนาคตที่เหลือตามสัมปทาน คิดลดกระแสเงินสดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน แล้วรัฐบาลต้องจ่ายเงินให้ผู้รับสัมปทานในปีที่โครงการเริ่มดำเนินการ ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็ยังต้องจ้าง BEM ในการเดินรถต่อ ดังนั้นบริษัทมองว่าไม่ใช่ข่าวร้ายแต่อย่างใด
4. ระยะเวลาก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มใช้เวลาประมาณ 6 ปี หากมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทางบริษัทจะได้รับผลกระทบหรือไม่
ผู้บริหาร : ตลอดระยะเวลาที่บริษัทดำเนินกิจการมา บริษัทเคร่งครัดต่อสัญญาสัมปทาน และการก่อสร้างมาโดยตลอด และมีการ Track Record ที่ดีมาโดยตลอด เชื่อว่าหากเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจริง ทางบริษัทจะไม่ได้รับผลกระทบใดๆ
5. (คำถามจากผู้ถือหุ้น) บริษัทมีแผนการเพิ่มกำไรในส่วนไหนได้บ้าง เพื่อให้กำไรกดสัดส่วน P/E ลดลง ทำให้ผู้ถือหุ้นคืนทุนได้ไวขึ้น เพราะตอนนี้เห็นมีแต่การลงทุนใหม่ๆขนาดใหญ่
ผู้บริหาร : ปัจจุบันนี้บริษัทมีกำไรสม่ำเสมอ ปีก่อนหน้าอยู่ที่ 3,500 ล้านบาท ส่วนปีนี้ 1H24 ทำได้ 1,850 ล้านบาท ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีอัตราการเพิ่มของผู้โดยสาร 2 หลัก ซึ่งเติบโตมากกว่าอุตสาหกรรม และกำลังใกล้ผ่านจุดคุ้มทุนแล้ว อีกทั้งบริษัทยังมีรายได้ด้าน commercial ที่กำลังเร่งตัวขึ้นตามผู้โดยสารที่สูงถึง 440,000 เที่ยวต่อวัน เชื่อว่ากำไรจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและสามารถกดสัดส่วน P/E ให้ลดลงมาได้
6. บริษัทมีการทำประกันภัยในแต่ละโครงการไว้อย่างไร
ผู้บริหาร : เนื่องจากโครงการต่างๆของทาง BEM มีมูลค่าสูงและมีความเกี่ยวพันกับสังคม บริษัทได้มีการทำประกันภัยไว้อย่างครอบคลุม โดยมีการกำหนดเงื่อนไขเกณฑ์การรับผิดชอบ ซึ่งในปัจจุบันเรามีบริษัทประกันภัยขนาดใหญ่ทั้งในและต่างประเทศที่เข้าเงื่อนไขที่เรากำหนด และเรากระจายความเสี่ยงไปกับบริษัทประกันหลายแห่ง ทำให้หากเกิดปัญหา ก็จะมีประกันชดเชยให้ครบทั้ง 100%
7. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีค่าใช้จ่ายเข้ามาหรือยัง?
ผู้บริหาร : ค่าใช้จ่ายจะเริ่มมีตอนเริ่มเดินรถในปี 2028 ปัจจุบันเงินลงทุนพัฒนาจะถูกบันทึกไว้บนงบดุล ส่วนฝั่งตะวันออกที่ก่อสร้างเสร็จไปแล้ว ค่าบำรุงรักษายังอยู่ในมือของผู้รับเหมาร่วม CKST อีก 1 ปี ซึ่งจะยังไม่มารบกวนงบการเงินของบริษัท
เรื่องน่ารู้ :
1. รถไฟฟ้าสายสีส้ม ถือว่าพัฒนาโดยคนไทย 99.9% จากประสบการณ์ทำงานมาหลายโครงการของกลุ่ม CK และ BEM อีกทั้งเทคโนโลยีที่ใช้เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการรับรองในมาตรฐานระดับสากลและใช้งานกันมาทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันวิศวกรไทยสามารถทำได้เองเกือบหมด มีเพียงระบบหัวเจาะที่ต้องสั่งผลิตจากญี่ปุ่น รวมถึง รถไฟฟ้าที่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศด้วย ปัจจุบันมี Advisor จากญี่ปุ่นมาเป็นที่ปรึกษาโครงการ
2. เวลาก่อสร้างในแต่ละโครงการจะเริ่มจากการทำ Diaphragm wall เพื่อเจาะสร้างสถานีลงไปก่อน แล้วขุดดินออก จากนั้นนำหัวขุดลงไปเจาะเดินหน้านำไป จากนั้นโครงสร้างผนังโค้งจะทยอยต่อสลักเป็นวงกลมอุโมงค์เชื่อมตามไปเรื่อยๆ
3. หัวเจาะจากญี่ปุ่นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 6.3 เมตร สั่งผลิตมาโดยเฉพาะ ส่วนชิ้นส่วนโครงสร้างโค้งที่ใช้ประกอบเป็นอุโมงค์จะหล่อจากโรงหล่อของกลุ่มที่ จ.อยุธยา โดยตอนนี้ได้ลงนามสัญญาว่าจ้าง CK เป็นผู้รับเหมาหลักเรียบร้อยแล้ว
สุดท้ายนี้ ต้องขอขอบคุณบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นอย่างสูง ที่ได้ให้โอกาสกับทาง Liberator ได้ไปจัดกิจกรรม Company Visit ด้วยนะคะ
อยากจะมีโอกาสได้มาเยี่ยมชมบริษัท และพบปะผู้บริหาร รวมถึงเพื่อนๆนักลงทุนแบบนี้ ทำได้ง่ายๆ แค่มีบัญชีกับ Liberator ก็มีโอกาสสมัครมาร่วมกิจกรรม LIB Visit นี้ได้แล้วนะคะ
เปิดพอร์ตใหม่ เทรดฟรี ไม่มีค่าคอม 1 เดือน คลิกที่นี่ ได้เลย