Written by : #Dr.ArmTungnirun x #Liberator





เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ภายใต้การระบาดของโควิดอย่างหนักในกรุงปักกิ่ง รัฐบาลจีนตัดสินใจเดินหน้าการประชุมคณะกรรมการกลางเศรษฐกิจของพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อกำหนดทิศทางเศรษฐกิจจีนในปีหน้า





ข้อสรุปจากการประชุมคือ รัฐบาลจีนตั้งเป้าหมายว่าเศรษฐกิจจีนปีหน้าจะฟื้นแบบ J Shape





คำถามคือ การหักหัวขึ้นเป็นขาขึ้นนั้น ตามปฏิทินของรัฐบาลจีน คาดว่าจะเริ่มต้นได้เมื่อไหร่ หลังจากที่เศรษฐกิจจีนเป็นขาลงมาตลอดปี ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา และพลาดเป้าหมายการเติบโตของรัฐบาลเป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปีเรียบร้อย





หานเหวินซิ่ว นักเศรษฐศาสตร์ประจำคณะกรรมการกลางด้านเศรษฐกิจและการเงินของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แถลงว่าเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า (ค.ศ. 2023) จะยังคงได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดและจะทำให้ตัวเลขต่างๆ ยังไม่น่าจะออกมาดี แต่เขาเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะดีดตัวพลิกฟื้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 ของปีหน้า เพราะคนจีนจะเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เต็มที่ในช่วงเวลาดังกล่าว





ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มหดตัวในปี ค.ศ. 2023 เพราะฉะนั้นเศรษฐกิจจีนจะสวนกระแสโลกในปีหน้า





จากมุมมองของรัฐบาลจีน ปัญหาเศรษฐกิจจีนในตอนนี้มีสามข้อใหญ่คือ หนึ่ง ปัญหาจากฝั่งดีมานด์อ่อนแรง จุดเน้นต้องเป็นการฟื้นตัวของภาคการบริโภคภายหลังการปิดเมืองมาอย่างยาวนานจากนโยบายโควิดที่เคร่งครัด ซึ่งตอนนี้นโยบายโควิดได้ผ่อนคลายเรียบร้อยแล้วทั่วประเทศ





สอง ปัญหาการขาดความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ทั้งเป็นผลจากการกำกับดูแลที่เคร่งครัดของรัฐบาลและการปิดเมือง ดังนั้น ภายหลังการเปิดเมือง ต้องกลับมาเน้นการเติบโตของภาคเอกชน ควบคู่กับการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของรัฐวิสาหกิจ รัฐบาลจีนส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะกลับมาส่งเสริมและไม่ทิ้งภาคเอกชน





สาม ต้องแก้ไขปัญหาวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ได้ ซึ่งหานเหวินซิ่วมองว่านี่เป็นปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนานและเป็นความเจ็บปวดในช่วงการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคใหม่ของภาคอสังหาริมทรัพย์





ทั้งสามเรื่องนั้น ดูเหมือนเศรษฐกิจจะเกี่ยวพันกับปัญหาว่าจีนจะออกจากวิกฤตโควิดได้เมื่อไหร่ เพราะถ้าโควิดยังไม่จบ การบริโภค การลงทุนของภาคเอกชนก็คงไม่ฟื้น และคนจีนก็คงยังไม่ซื้ออสังหาริมทรัพย์





จีนปลดล็อควิกฤตแรกเรียบร้อยต้นเดือนธันวาคมด้วยการยกเลิกนโยบาย Zero Covid และผ่อนคลายเข้าสู่โหมดอยู่ร่วมกับโรคเหมือนประเทศอื่นๆ แต่ก็นำมาสู่วิกฤตใหม่คือการระบาดที่กว้างขวางมากในเมืองใหญ่ๆ ของจีน ไม่ว่าจะเป็นปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว เสินเจิ้น





ปฏิทินการระบาดของโควิดจึงสัมพันธ์กับปฏิทิน J Shape ของเศรษฐกิจจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จีนอั้นมานานไม่เคยมีการระบาด คำถามคือต้องใช้เวลายาวนานเพียงใดจึงจะเริ่มเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในระดับหนึ่งและทำให้การระบาดในวงกว้างลดขอบเขตลง





อู๋จุนโหยว่ นักระบาดวิทยาของกระทรวงสาธารณสุขของจีน ได้ประเมินว่าจีนจะมีคลื่นการระบาดใหญ่รวม 3 รอบ ในช่วงฤดูหนาว โดยปัจจุบันกำลังอยู่ในการระบาดระลอกแรก ซึ่งเป็นการระบาดในเขตเมืองใหญ่





คลื่นการระบาดลูกที่สอง ประเมินว่าจะเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งจะเป็นช่วงที่มีการเดินทางระหว่างเมืองในช่วงตรุษจีน จะเริ่มมีการระบาดแพร่หลายในชนบทและทั่วประเทศ





คลื่นลูกที่สาม เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนมีนาคม ซึ่งจะเกิดขึ้นภายหลังผู้คนกลับเข้าทำงานหลังตรุษจีน





หากดูตามปฏิทินนี้ จะเห็นว่าสอดรับกับการคาดหมาย J Shape ว่าเศรษฐกิจจีนต้องรอจนไตรมาส 2 ของปีหน้าจึงจะหักหัวขึ้นได้ เพราะในไตรมาสแรกทั้งการบริโภคและการลงทุนจะยังอัดอั้นอยู่เพราะคลื่นมหึมาสามลูกของการระบาดในประเทศ





สิ่งที่ชัดเจนจากการแถลงของทั้งทีมเศรษฐกิจและทีมสาธารณสุขก็คือ บัดนี้จีนได้กลับทิศทางจากให้ความสำคัญกับสาธารณสุขเป็นอันดับแรก มาเป็นให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีหน้า แต่ยังคงคาดหมายว่าจะต้องผ่านช่วงเวลายากลำบากของการอยู่ร่วมกับโควิดในการระบาดในช่วงฤดูหนาวและในไตรมาสแรกของปี





แต่ทางเดินนี้ไม่มีทางหวนกลับอีกแล้ว หลังมีนาคมเป็นต้นไป จีนก็จะไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่เริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ ถึงจุดนั้นจีนคงพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจเสริมไปด้วย เพื่อให้ภาพเศรษฐกิจกลับคึกคักมาเป็น J Shape ไม่ใช่ค่อยๆ ฟื้นลากขึ้นแบบเครื่องหมายถูก ความแรงและความชันของการหักหัวขึ้นย่อมสำคัญมากต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจและการเริ่มต้นงานของรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเริ่มเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคมเช่นกัน





28.12.2022