Green Finance การเงินสีเขียวเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
Written by : #CreativeTone x #Liberator
ทำความรู้จัก Green Finance : การเงินสีเขียวเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
จากสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ได้กลายเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อสภาวะทางการเมืองและเศรษฐกิจ ซึ่งน่าจะเป็นแบบนี้ต่อไปอีกหลายปีข้างหน้า ทำให้รัฐบาล นักลงทุน รวมถึงองค์กรทั่วโลก ต่างก็เริ่มดำเนินการเพื่อจัดการกับวิกฤตการณ์นี้ โดยหลายๆ ประเทศต่างให้คำมั่นสัญญาที่จะดำเนินการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ให้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม การจะทำตามคำมั่นสัญญานี้ได้จำเป็นจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และเพื่อให้การเข้าถึงเงินลงทุนดังกล่าวเป็นไปอย่างสะดวก สามารถสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emissions) อีกทั้งยังช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวเข้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ด้วยเหตุนี้เอง Green Finance หรือการเงินสีเขียว จึงถือกำเนิดขึ้น
นิยามและความหมายของ Green Finance
ถ้าว่ากันถึงความหมายหรือนิยามของ Green Finance แล้ว ทางโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้ให้ความหมายของคำๆ นี้เอาไว้อย่างชัดเจนว่า “เป็นการเพิ่มกระแสการเงิน ไม่ว่าจะจากธนาคาร การให้สินเชื่อ การประกันภัย และการลงทุน ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ให้ไหลไปสู่กิจกรรมของโลกธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีจุดสำคัญอยู่ที่การบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมให้ดีขึ้น คว้าโอกาสในการ ‘ให้ผลตอบแทน’ และ ‘ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม' ไปพร้อมๆ กัน นำไปสู่การดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบมากขึ้น”
สรุปง่ายๆ Green Finance เป็นนวัตกรรมทางการเงินที่ช่วยส่งเสริมและพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ผ่านเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สินเชื่อสีเขียว (Green Loan/Green Credit) ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bond) หรือกองทุนสีเขียว (Green Funding) ซึ่งเกิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างอุตสาหกรรมการเงินการลงทุน และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม
ในปัจจุบัน Green Finance กลายเป็นเมกะเทรนด์ที่ได้รับความสนใจจากภาคธุรกิจอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นแนวทางที่จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจในโลกทุนนิยม ซึ่งถูกมองว่าเป็นตัวการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน พร้อมๆ กับการให้ความสำคัญเรื่องการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กันไป
เสาหลักทั้ง 4 ของ Green Finance
บ้านมั่งคงที่ยืนยังทนแดด ทนฝน ทนพายุ ทนแผ่นดินไหว ได้ต้องประกอบด้วยเสาหลักที่แข็งแรง ซึ่ง Green Finance ก็เช่นเดียวกัน โดยเสาหลักของ Green Finance ประกอบด้วย
1) มาตรฐาน (Standard) ซึ่งต้องมีคำนิยามที่ชัดเจนว่า กิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมคืออะไร? เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้ถูกจัดสรรไปยังกิจกรรมที่ถูกต้อง
2) การเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) ที่ต้องแน่ใจได้ว่า บริษัทที่ได้รับเงินสีเขียวจะดำเนินกิจกรรมสีเขียวจริง โดยต้องเปิดข้อมูลและวัตถุประสงค์การลงทุน รวมถึงเปิดเผยว่า การลงทุนนี้จะสร้างผลประโยชน์ด้านวิ่งแวดล้อมได้อย่างไรด้วย
3) แรงจูงใจ (Incentive) เพราะบางโครงการอาจมีประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม แต่อาจไม่ได้สร้างผลตอบแทนที่เพียงพอ ภาครัฐจึงต้องสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมเหล่านี้
4) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ (Sweet Product) เป็นความต้องการที่หลากหลายของภาคเศรษฐกิจจริง เช่น บางโครงการต้องการสินเชื่อระยะสั้น บางโครงการต้องการเงินลงทุนระยะยาว หรือบางโครงการต้องการเงินทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้
Green Finance กับ FinTech
อย่างที่บอกไปแล้วว่า ตอนนี้ Green Finance กำลังกลายเป็นประเด็นใหญ่ ซึ่งไม่เพียงได้รับความสนใจประเทศต่างๆ เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงแวดวงธุรกิจ การเงิน และการลงทุนอื่นๆ เช่น ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ FinTech ด้วย
ปัจจุบัน มีหลายประเทศที่นำเอา FinTech มาช่วยให้เกิด Green Finance ที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ เช่น ในบังคลาเทศ ที่ผู้ให้บริการด้านการเงินผ่านมือถือ bKash นำเสนอบริการโอนเงิน ที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าในเมืองใหญ่สามารถโอนเงินผ่านระบบดิจิทัลไปยังผู้ใช้โทรศัพท์มือถือที่อาศัยในพื้นที่ชนบทได้อย่างปลอดภัย ทำให้เกิดความเท่าเทียม และลดการใช้ทรัพยากร
ขณะที่สิงคโปร์ ธนาคารกลางของที่นั่นก็ได้ออกใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจธนาคารดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบให้แก่ผู้ประกอบการ 4 ราย ซึ่งผู้ประกอบการทั้งหมดไม่ใช่ธนาคาร แต่สามารถจัดหาบริการที่เหมือนธนาคารได้ ทำให้คาดว่า ธุรกิจดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ต่ำกว่า และจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
ด้านประเทศไทย ปัจจุบันก็มี FinTech หลายๆ เจ้า ที่คอยขับเคลื่อนเรื่อง Green Finance ทั้งทางตรงและทางอ้อมอยู่ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างแพลทฟอร์ม ซึ่งไม่จำกัดตัวเองเพียงการซื้อขายหลักทรัพย์ แต่จะอำนวยความสะดวกด้านการให้ข้อมูลข่าวสาร รวมถึงสร้างชุมชนของคนลงทุนอย่างยั่งยืน อย่างเช่น แอปพลิเคชั่น Liberator ของบริษัท หลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด ที่จะเปิดตัวอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 3 มกราคม 2566 นี้
19.12.65