Written by : #CreativeTone x #Liberator





ปัจจุบันนี้ การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตได้เกิดขึ้นแล้วในหลายๆ แง่มุม และหนึ่งในแง่มุมที่ชัดเจนมากสุดก็คือ เรื่องของเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ FinTech ซึ่งจะเห็นได้ว่า มันเข้ามามีส่วนร่วมกับการดำเนินชีวิตยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น เรื่องง่ายๆ ตั้งแต่การฝาก ถอน หรือโอนเงิน ไปจนถึงเรื่องที่ยากขึ้นมาหน่อยอย่างการลงทุนต่างๆ





อย่างไรก็ดี ที่สิงคโปร์ ประเด็นของ FinTech ดูเหมือนจะบียอนไปอีก เมื่อพวกเขามองว่า FinTech ต้องไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมทางการเงินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก ตลอดจนช่วยเหลือผู้คน และสร้างระบบนิเวศทางการเงินที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ด้วย





ทั้งนี้ สิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งใน FinTech hubs ที่สำคัญแห่งหนึ่ง และได้มีการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2559 นั้น มีแนวคิดเรื่องการส่งเสริมความยั่งยืนควบคู่กับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ Green FinTech มาตั้งแต่ปี 2563 ผ่านโครงการ Green Finance Action Plan ที่ตั้งใจนำประโยชน์จากเทคโนโลยีมาพัฒนาตลาดการเงิน เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจที่ยั่งยืนแล้ว





สำหรับ Green Fintech ของสิงคโปร์นั้น เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากพื้นฐานของเศรษฐกิจสีเขียว หรือ Green Finance ที่ผลักดันภาคการเงินให้เข้าสู่โปรเจ็คต์ที่ส่งเสริมหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลก โดยโครงการ Green FinTech ล่าสุด ที่สิงคโปร์กำลังผลักดันอย่างเอาจริงเอาจัง และเราอยากนำมาเล่าต่อก็คือ โครงการ Project Greenprint ที่มีความตั้งใจจะใช้เทคโนโลยีมาช่วยสร้างระบบนิเวศด้านการเงินที่มีธรรมาภิบาล มีความโปรงใส่ และใส่ใจสิ่งแวดล้อม





รูปแบบสำคัญของโครงการ คือ การร่วมมือกับผู้ประกอบการ ทั้งในภาคการเงินและภาคอื่น ๆ ที่มีศักยภาพในการใช้เทคโนโลยี ผ่านระบบจัดการข้อมูลร่วมกัน โดยมีธนาคารกลางของสิงคโปร์ หรือ MAS (the Monetary Authority of Singapore) ได้ออกแบบ “แพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนข้อมูล” ที่ทำงานแบบข้ามเซ็กเตอร์ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาร่วมกันของผู้ประกอบการในแขนงต่างๆ





ภายใต้การดีไซน์ของ MAS นี้ ได้มีการวางแผนสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มใน 4 รูปแบบ ได้แก่





1) Common Disclosure Portal คือ แพลตฟอร์มสำหรับสถาบันการเงินและผู้ประกอบการในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ ESG (Environment, Social and Governance) ซึ่งเป็นข้อมูลด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลของบริษัท





2) ESG Registry คือ แพลตฟอร์มที่สร้างโดยเทคโนโลยีบล็อกเชน ทำหน้าที่บันทึก เก็บรักษา และตรวจสอบข้อมูลและใบรับรองต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ESG เพื่อสร้างข้อมูลที่น่าเชื่อถือและเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการในภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง





3) Data Orchestrator คือ แพลตฟอร์มที่รวบรวมข้อมูลและรายงานด้านความยั่งยืน ทั้งจาก Common disclosure portal และ ESG registry รวมถึงข้อมูลแบบ open data ที่ได้จากข้อมูลดาวเทียมหรือข้อมูลทางธรรมชาติ เพื่อประโยชน์ต่อการสนับสนุนการลงทุนและการตัดสินใจลงทุน





4) Greenprint Marketplace คือ แพลตฟอร์มเปิด ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้ให้บริการเทคโนโลยีสีเขียวกับสถาบันการเงิน นักลงทุน บริษัทที่มุ่งพัฒนาธุรกิจสีเขียว ผู้ให้บริการ ESG และบริษัทต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจ และส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืน





จะเห็นว่า การที่สิงคโปร์ทำโครงการนี้อย่างจริงจังได้สะท้อนแนวคิดของการนำ Green Finance มาจับกับ FinTech อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการนำมาใช้กับประเด็นการเปิดเผยและแลกเปลี่ยนข้อมูล ESG นั้น ได้สร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นมากมาย ยิ่งถ้าข้อมูลถูกจัดการอย่างเหมาะสมภายใต้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ปลอดภัย ข้อมูลเหล่านั้นก็จะมีค่ากับทั้งธุรกิจและภาครัฐอย่างมหาศาลเลยทีเดียว





29.12.2022