Written by : MacroView x Liberator





หลังงานการประชุมที่แจ็คสันโฮล เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โลกเราก็ได้เข้าสู่ยุคที่เรียกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงอย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะเป็นเจย์ พาวเวล ประธานธนาคารสหรัฐหรือเฟด ที่กล่าวว่าชาวอเมริกันจะต้องยอมเจ็บปวดเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อลดลง หรือว่าจะเป็นคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรปหรืออีซีบี ที่กล่าวว่าเราต้องทำทุกอย่างเพื่อให้อัตราเงินเฟ้อลดลงมาอยู่ในระดับร้อยละ 2 ให้ได้ เพราะตอนนี้อัตราเงินเฟ้อของเรายังคงสูงอยู่ที่กว่าร้อยละ 9 อยู่เลย





ด้านธนาคารกลางอังกฤษ ก็ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน คณะกรรมการนโยบายการเงินภายใต้การนำของแอนดริว ไบลีย์ ผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ หรือ บีโออี ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อจะขึ้นไปถึงร้อยละ 13 ในปีหน้า รวมถึงจะมีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจอังกฤษแบบติดลบในช่วงปลายปีนี้ จนถึงในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2023 โดยขนาดของเศรษฐกิจอังกฤษยังคงจะหดตัวลงจากในช่วงนี้อีกเยอะ





คำถามคือ แล้วธนาคารกลางแห่งใด จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายด้วยขนาดมากที่สุดในรอบนี้?





บทความนี้จะตอบคำถามนี้ โดยแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 3 มิติ ดังนี้





หนึ่ง มิติด้านเศรษฐกิจ: โดยแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน ได้แก่ อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจหรือจีดีพี และ อัตราเงินเฟ้อในปีหน้าของเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป และ อังกฤษ





การเติบโตของจีดีพี ปี 2023: คาดการณ์เติบโตสูงสุด คือ สหรัฐ ที่ราวร้อยละ 2.3 เติบโตอันดับสอง คือ ยุโรป ที่ร้อยละ 0.9 ส่วนเศรษฐกิจอังกฤษคาดการณ์ว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจจะติดลบ





อัตราเงินเฟ้อ ปี 2023: คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อสูงสุด คือ อังกฤษ ที่ร้อยละ 13 ส่วนอันดับสอง ได้แก่ ยุโรป ที่ร้อยละ 5.5 และอันดับสุดท้าย ได้แก่ สหรัฐ ที่ร้อยละ 3





หากพิจารณาในตัวเลขเศรษฐกิจสองส่วนนี้ประกอบกัน จะพบว่าอีซีบี น่าจะมีโอกาสสูงที่จะขึ้นดอกเบี้ยด้วยขนาดที่เยอะสุด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในปีหน้าถือว่าเกินเป้าหมายอยู่ร้อยละ 3 กว่าๆ ทว่าประเมินว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยุโรปก็ยังเติบโตเกือบร้อยละ 1 ในขณะที่ทั้งเฟดและบีโออี ดูแล้วน่าจะขึ้นดอกเบี้ยด้วยขนาดที่น้อยกว่า แต่ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกัน โดยในขณะที่เฟดอาจไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยมากสักเท่าไหร่ในปีหน้า เนื่องจากประเมินอัตราเงินเฟ้อในปีหน้าไว้ที่ร้อยละ 3 ซึ่งถือว่าใกล้กับเป้าหมายที่ร้อยละ 2 แล้ว ส่วนอังกฤษเองในปีหน้ามีเศรษฐกิจแบบถดถอย จนอาจจะยากที่จะขึ้นดอกเบี้ยแบบเยอะๆเช่นเดียวกัน





สอง มิติด้านการเมือง: หากพิจารณาว่าเศรษฐกิจภูมิภาคใดที่จะเอื้อให้ธนาคารกลางสามารถตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในปี 2023 แบบไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบเชิงการเมืองมากกว่ากัน คงต้องขอเรียงจาก อีซีบี ว่าน่าจะเป็นอันดับหนึ่งที่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้แบบไร้ความกดดันจากฝ่ายการเมืองมาก เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่ตั้งออกมาเป็นส่วนกลางจากรัฐบาลของประเทศต่างๆในยุโรป





ส่วนอันดับสอง ที่น่าจะขึ้นดอกเบี้ยได้แบบสะดวกในทางการเมือง คือ เฟด เนื่องจากสถานะทางการคลังของรัฐบาลสหรัฐดูดีขึ้นหลังจากรัฐบาลของโจ ไบเดน ออกกฎหมาย Inflation-Reducing Act เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งสามารถลดมูลค่าการขาดดุลทางการคลังลงไปได้เป็นหลักร้อยล้านดอลลาร์





ด้านอังกฤษนั้น บีโออี น่าจะหนักกว่าเพื่อนจากแรงกดดันทางการเมือง เนื่องจากเศรษฐกิจน่าจะถดถอยตลอดทั้งปี 2023 แม้ว่าอัตราเงินเฟ้ออังกฤษใน 2 ปีถัดจากนี้ อาจจะพอลดลงได้บ้างจากมาตรการนายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัส ที่จำกัดค่าไฟฟ้าของแต่ละครอบครัวไม่ให้เกิน 2,500 ปอนด์ต่อครัวเรือน ก็ตามที นอกจากนี้ การที่ภาระทางการคลังของรัฐบาลอังกฤษได้เปลี่ยนจากเกินดุลเป็นขาดดุลจากมาตรการช่วยเหลือด้านพลังงานมูลค่า 1.5 แสนล้านปอนด์นั้น ส่งผลให้ในทางการเมืองแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยมากเกินไปอาจจะทำให้เป็นภาระดอกเบี้ยต่อรัฐบาลอังกฤษเช่นกัน





สาม มิติด้านแนวคิดของสมาชิกคณะกรรมการของธนาคารกลางแต่ละแห่ง: ตรงจุดนี้ ต้องบอกว่าอีซีบีมีแนวโน้มที่ดูจะมีความจริงจังกับการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าเพื่อน หากพิจารณาการตอบคำถามของลาการ์ดในการประชุมอีซีบีเมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าเน้นการขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างมากกว่าเมื่อการประชุมครั้งก่อนหน้า สำหรับอันดับสอง ผมมองว่าเฟดดูมีท่าทีจริงจังมากที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดมาก โดยสมาชิกเฟดแต่ละท่านออกมาแสดงความเห็นที่ดูขึงขังกับการขึ้นดอกเบี้ยค่อนข้างมาก ส่วนอันดับสาม คือ บีโออี ไม่ใช่ว่าสมาชิกธนาคารกลางอังกฤษจะส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยน้อยลง แต่ว่ามีคณะกรรมการบีโออีบางท่านมีความเห็นว่าบีโออีได้ขึ้นดอกเบี้ยเร็วเกินไปแล้ว จึงทำให้เสียงสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยของบีโออี อาจจะดูไม่เป็นเอกฉันท์เหมือนกับธนาคารกลางกลางหลักอีก 2 แห่ง





นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่าอีซีบียังเป็นธนาคารกลางที่ดำเนินมาตรการลดขนาดงบดุลหรือ Quantitative Tightening (QT) ที่ดูจะช้ากว่าเพื่อน เมื่อเทียบกับเฟดและบีโออีที่มีแผนที่จะลดขนาดงบดุลที่แน่นอนแล้ว ตรงนี้ จึงทำให้การดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวของทั้งเฟดและบีโออีมีปรากฎเป็นมรรคเป็นผลให้เห็นเพิ่มเติมจากการทำ QT ในบางส่วนไปบ้างแล้ว จึงทำให้อาจไม่มีความจำเป็นที่จะทำการลดดอกเบี้ยแบบจริงจังมากๆในปีหน้าเหมือนกับทางอีซีบี





โดยสรุป หากจะให้เรียงว่าธนาคารกลางแห่งใดในปี 2023 ที่จะขึ้นดอกเบี้ยจากมากไปน้อยที่สุด คงต้องฟันธงว่า ธนาคารกลางยุโรป น่าจะขึ้นดอกเบี้ยเยอะเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยธนาคารกลางสหรัฐเป็นอันดับสอง โดยมีธนาคารกลางอังกฤษรั้งท้ายเป็นอันดับสาม





แน่นอนว่า ท่านผู้อ่านสามารถนำการวิเคราะห์นี้ไปใช้เป็นหนึ่งในข้อมูลประกอบในการเทรดหุ้นและอัตราแลกเปลี่ยนได้ต่อไป





แล้วก็อย่าลืมว่า การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนต้องศึกษาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจในการลงทุน





- บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ -





16.08.2022





----------------------------------------------------------
ติดตาม 'Liberator' ได้ทุกช่องทางของคุณ
Instagram : liberator_th
Twitter : th_Liberator
Blockdit : Liberator
Facebook : Liberator Securities
.
𝗣𝗢𝗪𝗘𝗥 𝗜𝗡 𝗬𝗢𝗨𝗥 𝗛𝗔𝗡𝗗
𝗧𝗵𝗲 𝗻𝗲𝘄 𝘁𝗿𝗮𝗱𝗶𝗻𝗴 𝗽𝗼𝘄𝗲𝗿 𝘁𝗵𝗮𝘁 𝘁𝗿𝘂𝗹𝘆 𝗯𝗲𝗹𝗼𝗻𝗴𝘀 𝘁𝗼 𝗮𝗹𝗹 𝘁𝗿𝗮𝗱𝗲𝗿𝘀.