เทรดให้ SUCCESS เหมือนความสำเร็จของนักเตะสเปอร์ส
Written by : MacroView x Liberator
ผมได้มีโอกาสอ่านบทความเกี่ยวกับการฝึกเล่นฟุตบอลของ 'ซน ฮึง-มิน' กองหน้าจากทีม 'ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ส' และทีมชาติเกาหลีใต้ ตั้งแต่วัยเด็กจนกลายมาเป็น นักฟุตบอลระดับโลก ทำให้คิดไปถึงกระบวนการในการเรียนรู้และฝึกฝน สู่การเป็นนักลงทุนแนวมหภาค ที่ใช้ข้อมูลเศรษฐกิจและการเมืองมาเลือกตราสารการลงทุน
บทความนี้ ขอเปรียบเทียบการฝึกฝนของซน โดยคุณพ่อของเขาว่าจะนำมาใช้ในฝึกฝนวิทยายุทธ์ด้านการลงทุนได้อย่างไรบ้าง
เป็นที่รู้กันว่า กองหน้าจาก ท็อตแนม ฮ็อตสเปอร์ส ผ่านโปรแกรมฝึกสุดโหดจากผู้เป็นพ่อมาตั้งแต่เด็ก เริ่มตั้งแต่เบสิคพื้นฐานไปจนถึงทักษะการยิงประตู หากทำพลาดก็ต้องโดนลงโทษ ครั้งหนึ่ง ซน เล่าว่า เขาเคยถูกลงโทษให้เดาะบอลติดต่อกัน 4 ชั่วโมงแบบไม่มีพัก กว่าจะผ่านตอนนั้นมาได้ เรียกได้ว่าเลือดตาแทบกระเด็น แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ความลำบากในตอนนั้น ทำให้เขากลายเป็นสตาร์อย่างทุกวันนี้
เช่นเดียวกับการฝึกฝนแนวทางการลงทุนแนวมหภาค ถ้าอยากจะชำนาญในการมีทรัพยากรในคลังความคิดของตนเองเพื่อนำไปใช้ ประโยชน์ต่อการลงทุน ก็ต้องฝึกฝนตามแนวทางที่คล้ายคลึงกัน คือ ต้องอ่านข่าวเศรษฐกิจและการลงทุนแบบไม่พักราว 2-3 ชั่วโมง ถ้าเป็นไปได้ คือ อ่านบทความวิชาการว่าด้วยหลักการคิดในรูปแบบเชิงเศรษฐศาสตร์มหภาคที่ นายธนาคารกลาง อย่างเจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ใช้ในการกำหนดทิศทางและขนาดของการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย
ตรงนี้ ต้องไม่ลืมว่า พาวเวลก็เพิ่งศึกษาเศรษฐศาสตร์มาได้เพียง 12 ปีหลังจากเข้ามาเป็นสมาชิกของเฟดเช่นกัน ดังนั้น คุณก็สามารถศึกษาแนวคิดวิชาดังกล่าวเพื่อนำ concept ไปใช้ประยุกต์กับข้อมูลล่าสุด เพื่อคาดการณ์ก้าวต่อไปสำหรับการขยับดอกเบี้ยของเฟดได้อย่างแน่นอน
ล่าสุด The Athletic สื่อดังของอังกฤษ ได้ส่งนักข่าวไปเจาะลึกอคาเดมี่ของ ซน ฮึง-มิน ถึงประเทศเกาหลีใต้ พร้อมจับเข่าพูดคุยกับ ซน อุง-จอง พ่อของนักเตะคนดัง ถึงการสร้างเด็กในอคาเดมี่ ก่อนจะได้รับคำตอบว่า ปรัชญาการฝึกของศูนย์ฝึกแห่งนี้ คือรูปแบบเดียวกับที่เขาเคยปลุกปั้นลูกชายในวัยเด็ก
สิ่งแรกที่เด็กทุกคนต้องเรียนรู้คือ 'การฝึกใช้เท้าข้างที่ไม่ถนัด' เพราะ ซน อุง-จอง เชื่อว่า การจะเป็นนักฟุตบอลที่ดีให้ได้นั้น คุณจำเป็นต้องเล่นได้ทั้งสองเท้า โดยกล่าวว่า “ปกติแล้วคนที่เริ่มเล่นฟุตบอล พวกเขาจะเลือกใช้เท้าข้างที่ถนัดมากกว่า ด้วยอัตรา 3:1 เด็ก 3 คน จะใช้เท้าข้างถนัด มีเพียงคนเดียวที่ใช้ข้างไม่ถนัด แต่สำหรับที่นี่ ถ้าคุณถนัดเท้าขวา คุณต้องจับบอลด้วยเท้าซ้ายก่อนเสมอ คุณจะได้พัฒนาเท้าอีกข้าง และสุดท้ายคุณก็จะเล่นได้ทั้งสองเท้า”
“ในกรณีของ ซน ฮึง-มิน ผมรู้ว่าเขาถนัดเท้าขวา ผมจึงทำให้แน่ใจว่า เขาจะสวมรองเท้า, ถุงเท้า, กางเกง, นาฬิกา หรืออะไรก็ตามแต่ จากข้างซ้ายก่อนเสมอ เขาจะได้ไม่ลืมว่า เขาเป็นนักเตะที่ถนัดสองเท้า”
เทคนิคการฝึกฟุตบอลนี้ มีความคล้ายคลึงกับแนวทางการลงทุนเชิงมหภาค โดยขอยกตัวอย่างประสบการณ์ส่วนตัว ในช่วงนี้ มีคุณหมอที่เพิ่งจบใหม่ๆ มาปรึกษาผมว่า ควรจะศึกษาลงทุนในหุ้นแบบใช้ข้อมูลเศรษฐกิจอย่างไร
ผมแนะนำว่า ต้องไม่ฟังรายการหุ้นที่ฟันธงหุ้นรายตัวแล้วลงทุนตามสำหรับในช่วงแรกๆของการเริ่มลงทุน
ในทางกลับกัน ต้องมั่นใจว่ากระบวนการในการฝึกฝน ต้องเป็นไปในลักษณะที่มั่นใจว่าตนเองได้คิดและวิเคราะห์ข่าวสารต่างๆ เองให้ได้ก่อน อาจจะดูรายการวิเคราะห์ข่าวบ้าง แต่ที่สำคัญกว่า คือควรเสพข่าวเอง แล้วคิดต่อจนได้ข้อสรุปของข่าวเหล่านี้ว่าบรรยากาศเศรษฐกิจและการลงทุนโดยรวมดีหรือไม่ดี แล้วจึงโยงเข้าสู่ตลาดหรือหุ้นที่น่าจะได้รับผลดี จากนั้น จึงไปเปรียบเทียบกับข้อสรุปการลงทุนของผู้คนในตลาด
เนื่องจากว่าหากฟังข้อสรุปว่าจะลงทุนหุ้นตัวไหนดี ในตอนต้นๆ เมื่อตนเองเพิ่งลงทุนจริง จะขาดการฝึกฝนสมองในส่วนที่ Build up ธีมการลงทุนที่น่าสนใจด้วยตนเองไป จากการเสียโอกาสที่จะได้ฝึกฝนการสร้างนิสัยเสพข่าว แล้วคิดต่อจนได้หุ้นหรือตลาดที่น่าสนใจจากข่าวในช่วงเวลานั้นๆ
นอกจากนี้ ซน อุง-จอง ยังออกกฎเหล็ก ห้ามเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ลงทีมแข่งและฝึกยิงบอลด้วย โดยเขาให้เหตุผลว่า “สำหรับทีมระดับโรงเรียน พ่อแม่ และสโมสรบางแห่ง ที่ให้เด็กลงทีมแข่งตั้งแต่อายุยังน้อย มันไม่ได้เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กในฐานะนักเตะ แต่พวกเขาสนใจแค่การเอาชนะในเกมและการแข่งขันในระดับท้องถิ่น มากกว่าโฟกัสไปที่การพัฒนาเด็กตั้งแต่เบสิคพื้นฐาน”
“เราจะไม่ให้เด็กยิงบอลก่อนอายุครบ 15 ปี ทำไมน่ะหรอ? มันจะทำลายเส้นเอ็นและข้อต่อกระดูกที่เท้าของพวกเขาไง เพราะพวกเขายังไม่โตเต็มวัย ซน ฮึง-มิน เองก็ผ่านการฝึกแบบนี้มา และนั่นคือเหตุผลที่ผมไม่ส่งลูกชายลงแข่งทีมตั้งแต่อายุยังน้อย มันคือปรัชญาเดียวกับที่ผมนำมาใช้กับเด็กกลุ่มนี้”
สำหรับการลงทุนก็เช่นเดียวกัน เราไม่ควรลงทุนแบบทุ่มสุดตัว ในช่วงแรกๆ ของการเริ่มลงทุน ทำไมน่ะเหรอ? เพราะมันจะทำลายความอยากรู้กลไกความเชื่อมโยงระหว่างข่าวต่างๆ ที่เกิดขึ้น กับผลดีหรือผลเสียต่อการลงทุนที่ตนเองสนใจ เนื่องจากความโลภจากกำไรที่ได้จากการลงทุน หรือ ความกลัวจากส่วนขาดทุนจากการลงทุน จะไปทำลายความอยากรู้อยากเห็นดังกล่าว ซึ่งจะไปขัดขวางการเรียนรู้ในสเต็ปถัดไปจากความเข้าใจความเชื่อมโยงจาก ข่าวไปสู่การลงทุน เหมือนเด็กที่ยิงบอลก่อนอายุครบ 15 ปี มันจะทำลายเส้นเอ็นและข้อต่อกระดูกที่เท้าของพวกเขาไง
หมายเหตุ: อ้างอิงจากทาง MainStand สำหรับเนื้อหาในส่วนของฟุตบอล
ก่อนใคร! กับเนื้อหาสุด EXCLUSIVE ใน Group : ส่องหุ้น PREMIUM (กดเข้ากลุ่มที่นี่ https://bit.ly/3NIGBQ1 )
----------------------------------------------------------
ติดตาม 'Liberator' ได้ทุกช่องทางของคุณ
Instagram : liberator_th
Twitter : th_Liberator
Blockdit : Liberator
Facebook : Liberator Securities
.
𝗣𝗢𝗪𝗘𝗥 𝗜𝗡 𝗬𝗢𝗨𝗥 𝗛𝗔𝗡𝗗
𝗧𝗵𝗲 𝗻𝗲𝘄 𝘁𝗿𝗮𝗱𝗶𝗻𝗴 𝗽𝗼𝘄𝗲𝗿 𝘁𝗵𝗮𝘁 𝘁𝗿𝘂𝗹𝘆 𝗯𝗲𝗹𝗼𝗻𝗴𝘀 𝘁𝗼 𝗮𝗹𝗹 𝘁𝗿𝗮𝗱𝗲𝗿𝘀.