3 เหตุผล พาเศรษฐกิจสหรัฐถอยหลัง ?? ?
Written by : MacroView x Liberator
นาทีนี้ วงการเศรษฐกิจการลงทุนสหรัฐกำลังมีประเด็นฮ็อตถกเถียงกันว่า ท้ายสุดแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐจะประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่?
ตรรกะความคิดในเรื่องนี้ แสดงได้เป็นดังนี้
ในขณะนี้ โฟกัสของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดพุ่งเป้าไปที่การทำให้อัตราเงินเฟ้อ ซึ่งยังอยู่ในระดับสูงในรอบกว่า 40 ปีลดลงมาให้ได้ ในทางทฤษฎีแล้ว การขึ้นดอกเบี้ยไม่สามารถลดอัตราเงินเฟ้อได้ทุกส่วน
โดยอัตราเงินเฟ้อสหรัฐ มีสาเหตุหรือต้นตอหลักมาจาก 3 ส่วน ประกอบด้วย
ส่วนแรก เงินเฟ้อที่เกิดมาจากฝั่งอุปทาน หรือ ที่เรียกกันว่า Cost Push Inflation อาทิ ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดไม่ได้ช่วยให้เงินเฟ้อในส่วนนี้ลดลงแต่อย่างใด
ส่วนที่สอง เงินเฟ้อที่เกิดมาจากฝั่งอุปสงค์ เมื่อเศรษฐกิจร้อนแรงจนผู้บริโภคมั่นใจในรายได้ของตนเองในอนาคต ก็จะจับจ่ายใช้สอยกันแบบหนักมือขึ้น ส่งผลให้ยอดขายของบริษัทห้างร้านสูงขึ้นและถือโอกาสขึ้นราคาสินค้าเสียเลย ตรงนี้ การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดสามารถจะชะลอเงินเฟ้อในส่วนนี้ได้ โดยดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะล่อใจให้ผู้บริโภคหันมาออมมากขึ้นแทนที่จะตัดสินใจซื้อของ รวมถึงการซื้อสินค้าผ่านการผ่อนชำระก็จะทำกันน้อยลง เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
ส่วนที่สาม เงินเฟ้อที่มาจากฝั่งตลาดแรงงาน หรือที่นักวิชาการนิยมใช้จำนวนตำแหน่งงานว่างซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดเงินเฟ้อขึ้นในตลาดแรงงาน เนื่องจากเมื่อตำแหน่งงานว่างเยอะขึ้น ผู้ใช้แรงงานก็จะสามารถต่อรองเงินเดือนให้สูงขึ้น และนั่นก็กลายเป็นเงินเฟ้อจะสูงขึ้นนั่นเอง
โดยประเด็นที่ทำให้เชื่อว่า อย่างไรเสียเศรษฐกิจสหรัฐยังไงก็น่าจะไม่พ้น ‘เศรษฐกิจถดถอย’ นั้นมาจากกลไกฝั่งตลาดแรงงาน ตามรายละเอียด ดังนี้
เริ่มจากช่องทางการส่งผ่านระหว่างตลาดแรงงานกับอัตราเงินเฟ้อ ที่บางท่านอาจเคยได้ยินคำว่า Wage-Price Spiral ในวงการวิชาการแล้ว จะวิเคราะห์ผ่านตัวแปร 'จำนวนตำแหน่งงานว่าง' อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ซึ่งบริษัททำการโพสต์ตำแหน่งงานโดยที่ยังไม่มีคนเข้าทำงานในตำแหน่งงาน
โดยจำนวนการจ้างคนงานแบบรวม หรือ Gross Hires จะเพิ่มสูงขึ้นหรือลดน้อยลง มาจาก 3 ปัจจัย คือ
1. ประสิทธิภาพในการมาพบเจอกันระหว่างอุปทานของงาน หรือนายจ้าง กับ อุปสงค์ของงาน หรือ ลูกจ้าง
2. จำนวนคนว่างงานทั้งหมดในเศรษฐกิจ
3. จำนวนตำแหน่งงานว่างทั้งหมดในเศรษฐกิจ
ตรงนี้ ในทางวิชาการ ชอบที่จะใช้อัตราส่วนระหว่าง จำนวนการจ้างคนงานแบบรวม กับ จำนวนคนทั้งหมดในตลาดแรงงาน (ทั้งที่มีงานทำและว่างงาน) หรือ ดัชนีที่ใช้บ่งบอกถึงการกระจายของแรงงาน (Labor Resource Allocation Index) ในการดูว่าตลาดแรงงานมีอุณหภูมิเป็นอย่างไร? ในลักษณะเดียวกัน ดัชนีนี้จะเพิ่มสูงขึ้นหรือลดน้อยลง มาจาก 3 ปัจจัย คือ
1. ค่าประสิทธิภาพในการพบเจอกันระหว่างอุปทานของงาน กับ อุปสงค์ของงาน (Matching Efficiency Index)
2. จำนวนคนว่างงานต่อจำนวนคนทั้งหมดในตลาดแรงงาน หรือ อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate)
3. จำนวนตำแหน่งงานที่ว่างต่อจำนวนคนทั้งหมดในตลาดแรงงาน หรือที่เรียกกันว่า (Vacancy Rate)
เมื่อนำค่าดัชนีที่ใช้บ่งบอกถึงการกระจายของแรงงาน และ Matching Efficiency Index ของเศรษฐกิจสหรัฐจากข้อมูลเฉลี่ยในอดีตมาใช้ จะพบว่าอัตราการว่างงานของสหรัฐจะต้องเพิ่มขึ้นถึง 1.3% จากระดับในปัจจุบันที่ 3.6% จนขึ้นไปถึง 4.9% เพื่อที่ค่า Vacancy Rate จะลดลงจากระดับปัจจุบันที่ 2 เท่าของจำนวนคนสมัครงานในตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งถือว่าสูงกว่าช่วงก่อนโควิดเกือบเท่าตัว ให้ลงมาสู่ในระดับที่สามารถทำให้อัตราเงินเฟ้อในระยะยาวจะไม่สูงเกินกว่าร้อยละ 2-3
โดยการที่อัตราการว่างงานของสหรัฐจะต้องเพิ่มขึ้นถึงอีก 1.3% จากระดับ 3.6% ในปัจจุบัน ขึ้นไปเป็น 4.9% นั่นหมายความว่าเศรษฐกิจสหรัฐต้องเข้าสู่ภาวะถดถอยแบบค่อนข้างลึกพอสมควรชนิดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อที่อัตราการว่างงานจะสูงขึ้นไปเยอะขนาดนั้นเพื่อสกัดเงินเฟ้อจากตลาดแรงงาน
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดจะต้องทำให้เยอะเข้าไว้ก่อน เพื่อส่งต่อการชะลอตัวลงของจีดีพีสหรัฐให้มากเข้าไว้ หรือ Front-load อย่างน้อยในจุด ณ ตรงนี้ เพื่อที่จะให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นให้ได้ตามที่วิเคราะห์ไว้ เพื่อที่จะลด Vacancy Rate ลดลง ให้ไปกดอัตราเงินเฟ้อลดลงให้ได้ในที่สุด
นั่นคือ เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยให้เพียงพอที่จะตัดวงจรค่าจ้างที่จะเร่งตัวสูงขึ้นมาจากตำแหน่งงานว่างซึ่งมีอยู่สูงมากในช่วงนี้ให้ได้ หรืออาจกล่าวได้ว่า ณ จุดนี้ ต้นตอของแหล่งกำเนิดของเงินเฟ้อสหรัฐ โฟกัสเริ่มจะเปลี่ยนจากเงินเฟ้อที่เกิดจากปัจจัยระดับโลก อย่างปรากฏการณ์ ’อุปทานติดขัด’ หรือ Supply Disruption หรือเงินเฟ้อที่เกิดจาก ‘สินค้า’ หรือ Good Inflation กลายมาเป็น เงินเฟ้อที่เกิดมาจาก ‘ภาคบริการ’ หรือ Bad Inflation ซึ่งถือเป็นเซกเตอร์ของตลาดแรงงานที่ร้อนแรงมากที่สุด จนกระทั่งค่าจ้างเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
สถานการณ์ตรงนี้ ถือว่าเปลี่ยนไปจากช่วงต้นปี 2022 ที่สถานการณ์อาจจะยังดูไม่ซีเรียสขนาดนี้ โดยที่ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่มีอุปสงค์ของแรงงานแข็งแรงอย่างเช่นในขณะนี้ ทำให้การจ้างงาน (Hires) และ ตำแหน่งงานว่าง (Vacancies) มีค่าอยู่ในระดับต่ำกว่านี้ (ตามรูปที่ 1)
โดยหากมองย้อนกลับไปในอดีต จากรูป จะพบว่าเมื่อใดที่ Vacancy Rate มีค่าสูงๆ อัตราการว่างงานจะลดลงเป็นอย่างมากในอีก 2 ปีถัดไป นั่นหมายความว่าทุกครั้งที่ Vacancy Rate มีค่าสูงๆ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะมาเยือนเศรษฐกิจสหรัฐ ในเวลาไม่เกิน 2 ปีนั่นเอง
ด้วยเหตุประการเช่นนี้ ดูแล้วจึงเป็นคำตอบที่ว่า ทำไมสหรัฐอย่างไรเสีย ก็เห็นทีน่าจะไม่พ้นการเผชิญภาวะ ‘เศรษฐกิจถดถอย’ ในรอบนี้
17.08.2022
----------------------------------------------------------
ติดตาม 'Liberator' ได้ทุกช่องทางของคุณ
Instagram : liberator_th
Twitter : th_Liberator
Blockdit : Liberator
Facebook : Liberator Securities
.
𝗣𝗢𝗪𝗘𝗥 𝗜𝗡 𝗬𝗢𝗨𝗥 𝗛𝗔𝗡𝗗
𝗧𝗵𝗲 𝗻𝗲𝘄 𝘁𝗿𝗮𝗱𝗶𝗻𝗴 𝗽𝗼𝘄𝗲𝗿 𝘁𝗵𝗮𝘁 𝘁𝗿𝘂𝗹𝘆 𝗯𝗲𝗹𝗼𝗻𝗴𝘀 𝘁𝗼 𝗮𝗹𝗹 𝘁𝗿𝗮𝗱𝗲𝗿𝘀