คิดว่าในช่วงนี้ หลายคนคงจะงุนงงเป็นอย่างยิ่งกับการที่อยู่ดีๆ ธนาคารกลางอังกฤษทำการขายพันธบัตรอังกฤษเพื่อลดขนาดงบดุลหรือ Quantitative Tightening (QT) แล้วหันสลับมาดำเนินปฏิบัติการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ Quantitative Easing (QE) เพื่อเพิ่มขนาดงบดุล จากนั้นก็จะกลับมาทำ QT ใหม่อีกครั้งใน 2 สัปดาห์ถัดมา 





จากนั้นเลยเถิดไปถึงการพูดคุยกันในแวดวงโซเชียลมีเดีย ว่าธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดจะสลับจากที่ทำ QT ในตอนนี้ หันมาทำ QE เหมือนกับธนาคารกลางอังกฤษ ซึ่งต้องขอบอกก่อนว่าข่าวนี้ของเฟดในโซเชียลมีเดียไม่มีมูลความจริงแม้แต่น้อย โดยบทความนี้ จะขอทำความเข้าใจว่าแท้จริงแล้ว QE มีอยู่ด้วยกันกี่ประเภทกันแน่ เพื่อที่จะไม่ต้องมางุนงงกันต่อไปว่าธนาคารกลางต่างๆ จะทำ QE หรือ QT กันทำไมอีกต่อไป ดังนี้





สำหรับการทำ QE ของธนาคารกลาง ถ้าจะเอานิยามแบบไม่เป็นทางการ มีอยู่ด้วยกัน 3 ประเภท ดังนี้





QE ประเภทแรก คือ การเพิ่มปริมาณเงินฝากของสถาบันการเงินโดยเอามาไว้ยังธนาคารกลาง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อธนาคารกลางยืมเงินจากสถาบันการเงินด้วยการออกเงินสำรองซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงที่สุดไปให้กับสถาบันการเงิน โดยวัตถุประสงค์ของ QE ประเภทนี้ ทำไปเพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องต่อเซกเตอร์ต่างๆ ของภาคเอกชนให้มากที่สุด โดยจะส่งผลให้ฝั่งหนี้สินในงบดุลของธนาคารกลางมีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งโดยปกติ ธนาคารกลางหลักของโลก ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จะพบว่าขนาดงบดุลของตนเองมีขนาดใหญ่ ซึ่งนั่นหมายถึงมีปริมาณเงินสำรองที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น QE ประเภทนี้ มักจะได้รับการใช้งานในช่วงที่อุปสงค์ของสภาพคล่องในตลาดมีมากกว่าปกติ อาทิ เฟดได้ทำ QE แบบนี้เมื่อเดือนกันยายน 2019 





QE ประเภทที่สอง ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในรูปแบบการปรับองค์ประกอบภายในของฝั่งสินทรัพย์ในงบดุลของธนาคารกลาง ตัวอย่างที่ง่ายที่สุด คือ ธนาคารกลางขายพันธบัตรระยะสั้นเพื่อซื้อพันธบัตรระยะยาว หรือหากธนาคารกลางมีปริมาณเงินสำรองอยู่เหลือเฟือ และไม่ต้องการทำ QE ประเภทแรก ก็อาจจะทำการซื้อพันธบัตรระยะยาว ด้วยการเพิ่มปริมาณเงินสำรองในฝั่งหนี้สิน





สำหรับวัตถุประสงค์ของ QE ประเภทที่สองนั้น ทำไปเพื่อลดอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะยาว โดยปกติแล้ว จะส่งผลต่อการเพิ่มระดับอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงเพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้มีมากขึ้น ด้วยการลดต้นทุนทางการเงินของภาคเอกชนผ่านระดับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ลดลง รวมถึงผนวกด้วยแรงเสริมจากคำพูดของประธานธนาคารกลางต่อสาธารณชน ว่าต้องการกระตุ้นให้เศรษฐกิจเติบโตในช่วงเวลานี้ 





ในทศวรรษที่ผ่านมา QE ประเภทนี้ ได้รับความนิยมใช้งานมากที่สุด เนื่องจากไม่สามารถทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นลดลงอีกต่อไปได้ ติดกับดักตรงอัตราดอกเบี้ยชนที่ระดับศูนย์ ทว่าธนาคารกลางยังต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นต่อไปอีก





แล้วก็มาถึง QE ประเภทที่สาม ได้แก่การซื้อสินทรัพย์ที่มีปัญหา หรือ การปล่อยกู้เงินแบบเร่งด่วนต่อสถาบันการเงิน โดยเป็น QE ที่ใช้เพื่อให้เกิดเสถียรภาพด้านการเงิน หรือเมื่อธนาคารกลางต้องทำหน้าที่เป็นแหล่งผู้ให้กู้ลำดับสุดท้ายของเศรษฐกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปรากฏการณ์การขายสินทรัพย์แบบที่ไม่สามารถหยุดยั้งได้ (Fire Sale) หรือป้องกันไม่ให้ผู้ฝากเงินถอนเงินจากสถาบันการเงินแบบต่อเนื่องในระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากกังวลว่าสถาบันการเงินจะล้มละลายหรือเจ๊งนั่นเอง





ดังนั้น QE ประเภทที่สาม มักจะมีขนาดของการทำ QE ที่ค่อนข้างใหญ่ ทว่ามักจะทำแค่ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ โดยเมื่อเหตุการณ์วิกฤตได้สงบลงจากการที่ธนาคารกลางได้ทำการแก้สาเหตุของวิกฤตนั้นแล้ว ธนาคารกลางก็จะทำการขายสินทรัพย์ที่ได้ซื้อไว้ตอนที่ทำ QE ในช่วงวิกฤต





หากสรุปการทำ QE ในช่วงระยะเวลาที่เกิดขึ้นกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่าเป็นส่วนผสมที่ปนเปกันไปของ QE ทั้ง 3 ประเภท เริ่มจากในปี 2007 ที่มีการทำ QE ประเภทที่สามก่อนเพื่อน ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์วิกฤตสถาบันการเงิน Northern Rock ของอังกฤษ จากนั้นปี 2008 จึงทำ QE ประเภทแรก และตั้งแต่ปี 2010 เป็นต้นมา ได้หันกลับมาเน้นทำ QE ประเภทที่สองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ





หากพิจารณาในปี 2020 ช่วงโควิด ธนาคารกลางอังกฤษเริ่มจากทำ QE ประเภทที่สามในแทรกแซงตลาดพันธบัตร จากนั้นสัปดาห์ต่อมา จึงหันมาทำ QE ประเภทที่สองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ  





อย่างไรก็ดี เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เมื่ออัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอังกฤษอายุ 10 ปี สูงขึ้นเป็นอย่างมาก จากความไม่มั่นใจนโยบาย mini-budget ของรัฐมนตรีคลังอังกฤษ จึงทำให้มูลค่าของพันธบัตรอังกฤษอายุ 10 ปีที่บริษัทการลงทุนด้านบำนาญใช้เป็นหลักประกันลดลงต่ำกว่าระดับขั้นต่ำที่กำหนด จึงต้องมีการขายพันธบัตรอังกฤษอายุ 10 ปีซึ่งเป็นหลักประกันคืนให้กับผู้รับประกันตราสารการลงทุนนี้ นั่นยิ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรอังกฤษอายุ 10 ปีสูงขึ้นไปอีก จนกลายเป็นวงจรแบบ doom-loop ซึ่งกลไกตลาดไม่สามารถจะหาราคาดุลยภาพของตลาดพันธบัตรอังกฤษได้ 





ธนาคารกลางอังกฤษจึงได้ทำ QE ประเภทที่สาม ด้วยการกันเงินมูลค่า 4.5 หมื่นล้านปอนด์ เพื่อแทรกแซงตลาดพันธบัตรอังกฤษ เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ จากนั้น จึงกลับไปทำ QT (คล้าย QE แต่เป็นการขายพันธบัตรของธนาคารกลางแทนที่จะซื้อพันธบัตร) ประเภทที่สอง ในระยะเวลาอีก 1 เดือนหลังจากนั้น ซึ่งถือเป็นการให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาด้านการคลังจากความผิดพลาดของรัฐบาลให้เสร็จก่อน แล้วจึงค่อยกลับมาแก้ปัญหาเงินเฟ้อผ่าน QT ประเภทที่สองอีกครั้งหนึ่ง





หรือจะกล่าวโดยสรุปอีกครั้งว่า นโยบายด้านการหาแหล่งเงินและสภาพคล่องหมายถึง QE ประเภทแรก ในขณะที่นโยบายด้านการทำให้นโยบายการเงินมีความผ่อนคลายมากขึ้น หมายถึงการทำ QE ประเภทที่สอง ส่วนการทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินกู้แห่งสุดท้ายของธนาคารกลาง คือการทำ QE ประเภทที่สาม  





คราวนี้ ถ้าใครมาถามเรื่อง QE เราก็สามารถตอบแบบละเอียดได้ว่า สามารถแบ่งเป็นประเภทต่างๆตามที่ได้กล่าวไว้ 





-บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ-





----------------------------------------------------------
ติดตาม 'Liberator' ได้ทุกช่องทางของคุณ
Instagram : liberator_th
Twitter : th_Liberator
Blockdit : Liberator
Facebook : Liberator Securities
.
𝗣𝗢𝗪𝗘𝗥 𝗜𝗡 𝗬𝗢𝗨𝗥 𝗛𝗔𝗡𝗗
𝗧𝗵𝗲 𝗻𝗲𝘄 𝘁𝗿𝗮𝗱𝗶𝗻𝗴 𝗽𝗼𝘄𝗲𝗿 𝘁𝗵𝗮𝘁 𝘁𝗿𝘂𝗹𝘆 𝗯𝗲𝗹𝗼𝗻𝗴𝘀 𝘁𝗼 𝗮𝗹𝗹 𝘁𝗿𝗮𝗱𝗲𝗿𝘀.