เศรษฐกิจทั่วโลกดีทั่วโลก ปี 2023 ?
Written by : MacroView x Liberator
ในช่วงนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกกำลังเผชิญแรงกดดันอย่างหนักจากนโยบายการเงิน แบบตึงตัวสุดๆ ของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด จากภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอย่างมากทั้งในสหรัฐและทั่วโลก รวมถึงกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐ และประเทศอื่นๆใกล้ที่จะเผชิญ ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเข้าไปในทุกขณะ บทความนี้ ขอแสดงความคิดเห็นว่า การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่เป็นไปอย่างรวดเร็วและภาวะนโยบายการเงินแบบตึงตัวในช่วงนี้ น่าจะชะลอลงมาได้ไม่มากก็น้อยในปี 2023 จากปัจจัยต่างๆ ดังนี้
ช่องว่างสำหรับการเข้าสู่อัตราดอกเบี้ยระยะเวลาปานกลาง (Terminal Rate) ซึ่งเป็นระดับที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน เหลือน้อยลงในปี 2023
คงต้องยอมรับว่า เฟดน่าจะไม่สามารถที่จะเพิ่มอัตราดอกเบี้ยระยะเวลาปานกลาง (Terminal Rate) ให้ขึ้นมาสูงกว่าระดับร้อยละ 5 ได้มากสักเท่าไหร่ เนื่องจากระดับอัตราดอกเบี้ยที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน (Neutral Interest Rate) ของสหรัฐ ที่เจย์ พาวเวล ประธานเฟดได้เคยเปรยไว้ว่าน่าจะไม่ห่างไกล จากร้อยละ 2.5 มาก
ดังนั้น การที่เฟดตั้งเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่ระดับร้อยละ 2 จึงดูแล้วมีความเป็นไปได้ว่า หากเฟดขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึงใกล้ระดับร้อยละ 5 แล้ว เฟดคงน่าจะใช้ เครื่องมืออื่นๆในการทำให้อัตราเงินเฟ้อลดต่ำลง
ซึ่งหากพิจารณาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ ปัจจุบัน ของเฟดที่ร้อยละ 3-3.25 โดยเฟดเหลือการประชุมในปี 2022 อีก 2 ครั้ง ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของสมาชิกเฟด หรือ Dot Plot เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1.25% ซึ่งนั่นหมายถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของเฟด ณ สิ้นปีนี้ น่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.25-4.5 นั่นเท่ากับว่าในปี 2023 เฟดน่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ออีกได้ไม่มากเท่าไหร่
ตรงนี้ ทำให้เป็นไปได้ว่าสำหรับเฟดในปี 2023
การใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่น่าจะเป็นพระเอกของการดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัว หากว่าเฟดยังจะต้องการทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอลงต่อไปอีก โดยเครื่องมือเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินอย่างนโยบาย Macroprudential หรือการใช้คำพูดรวมถึงการส่งสัญญาณในอนาคต (Forward Guidance) และการลดขนาดงบดุลเฟดนั้น อาจจะนำมาใช้ในการเสริมเพื่อให้นโยบายการเงินแบบตึงตัวขึ้นแทน
องค์ประกอบของสมาชิกเฟดในปี 2023 ดูจะเป็นใจให้เฟดสามารถดำเนินนโยบายการเงินแบบตึงตัวน้อยลง
หากพิจารณาองค์ประกอบของสมาชิกเฟดในปี 2023 จะพบว่ามีแนวโน้มที่จะดำเนิน นโยบายการเงินแบบตึงตัวน้อยลงกว่าปัจจุบัน โดยสมาชิกเฟดที่กำลังจะออกจากสมาชิก ประเภทที่สามารถออกเสียงโหวตเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ในปีนี้ ดูแล้วมีความเป็น Hawkish หรือให้ความสำคัญต่อเงินเฟ้อในระดับสูงถึงสูงมาก มีอยู่ด้วยกัน 3 ท่าน ประกอบด้วย เจมส์ บูลลาร์ด ที่ถือว่ามีภาพลักษณ์ที่หวือหวาในการสนับสนุน ให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยให้เยอะๆ เข้าไว้ นอกจากนี้ ยังมีเอสเธอร์ จอร์จ ที่มักจะมีความเห็นออกจะเป็นของตนเอง โดยหลายครั้งมักจะออกไปทาง Hawkish มากกว่า ส่วนลอเรตตา เมสเตอร์ ถือว่ามีความมั่นใจในมุมมองตนเอง ในส่วนของการขึ้นดอกเบี้ยอยู่ค่อนข้างสูง
ในขณะที่ หากพิจารณาสมาชิกเฟดที่จะเข้ามาเป็นผู้ที่สามารถโหวตได้ในปี 2023 ดูจะมีแนวโน้มที่จะโหวตออกเสียงให้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้นน้อยกว่า ประกอบด้วย ชาล์ส อีแวน สมาชิกเฟดอาวุโสที่ดูมีแนวโน้มพร้อมจะให้เฟดกลับมา ชะลอการขึ้นดอกเบี้ยมากที่สุดคนหนึ่ง ในความคิดเห็นของผม รวมถึงแพทริค ฮาร์คเกอร์ สมาชิกเฟดที่ดูเหมือนจะใช้นโยบายการเงินตึงตัวไม่ฮาร์ดคอร์สักเท่าไหร่ โดยถ้าจะมีสมาชิกเฟดที่สามารถโหวตได้ ในปี 2023 ที่มีความ Hawkish สูง คือ นีล แคชคาลิ ที่ต้องการขึ้นดอกเบี้ยแรงๆ ในช่วงต้นของระยะเวลาที่เฟด ทำนโยบายการเงินแบบตึงตัว ทว่าก็ถือเป็นสมาชิกเพียงท่านเดียวในส่วนของสมาชิก จากผู้ว่าการสาขาเฟดในปี 2023 ที่ดูมีมุมมองค่อนข้างแรงในการขึ้นดอกเบี้ย
หากจบเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ ปูตินไม่จำเป็นต้องเร่งให้เกิดการปะทะครั้งใหญ่ในสงครามยูเครน
ในปี 2023 ซึ่งการเลือกตั้งวุฒิสมาชิกและสมาชิกผู้แทนฯช่วงกลางเทอมของสหรัฐได้ผ่านพ้นไปแล้ว น่าจะทำให้แรงจูงใจของวลาดิมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ซึ่งถือเป็นคู่กัดอันดับหนึ่งของ โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ในการก่อสงครามยูเครนแบบหนักมือมากๆ มีน้อยลง นั่นคือ มองว่าโทนของสงครามยูเครนในปี 2023 น่าจะอ่อนลงกว่าตอนนี้ ซึ่งตรงนี้ น่าจะทำให้ปรากฎการณ์อุปทานติดขัด (Supply Chain Disruptions) ของโลกลดลงเร็วกว่าที่หลายฝ่ายคาดกันไว้ในขณะนี้ ซึ่งนั่นจะส่งผลดีต่อปริมาณการค้าทั่วโลกให้กลับมาเติบโตได้ดีขึ้น และนั่นย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกในภาพรวม
ทั้งนี้ จากผลพวงการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด รวมถึงปัจจัยเชิงบวกอื่นๆ ที่กล่าวข้างต้นต่อเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ น่าจะส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าน้อยกว่าในปี 2022 และนั่นจะทำให้แรงกดดันต่อธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก ในการขึ้นดอกเบี้ยลดลง และแน่นอนว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก ที่ดูแล้วน่าจะกำลังใกล้เกิดขึ้นในหลายภูมิภาค มีโอกาสเกิดขึ้นจริงลดลงไปด้วย
ท้ายสุด หลังเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐ ยังมองว่าไบเดนน่าจะกลับไปฟื้นความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งซาอุดิอาระเบียอีกครั้ง เนื่องจากไบเดนทราบดีว่าสหรัฐไม่สามารถที่จะปฏิเสธความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศต่างๆในตะวันออกกลาง หากต้องการให้ระดับราคาน้ำมันลดลง เพื่อที่จะเป็นการสร้าง แรงกดดันต่อเศรษฐกิจรัสเซียในการบีบให้ปูติน ให้ต้องค่อยๆ กลับมาเข้าสู่โต๊ะเจรจา ในประเด็นสงครามยูเครน เนื่องจากไม่สามารถทนต่อการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ จากทั้งสหรัฐและยุโรปได้แบบยาวๆ อีกต่อไป
นั่นคือเรามองว่าระดับราคาน้ำมันในปี 2023 ไม่น่าจะสูงกว่าระดับปัจจุบัน ส่วนหลักมาจากกลยุทธ์ของนโยบายด้านการต่างประเทศของสหรัฐและการลดความรุนแรงของสงครามยูเครน
อย่างไรก็ดี อย่าเพิ่งรีบด่วนสรุปว่าเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลกในปี 2023 จะดูดีกว่าในปีนี้แบบมีนัยยะสำคัญ ซึ่งจะเป็นหัวข้อที่จะกล่าวถึงในครั้งต่อๆ ไป
-บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ-
25.10.2022
----------------------------------------------------------
ติดตาม 'Liberator' ได้ทุกช่องทางของคุณ
Instagram : liberator_th
Twitter : th_Liberator
Blockdit : Liberator
Facebook : Liberator Securities
.
𝗣𝗢𝗪𝗘𝗥 𝗜𝗡 𝗬𝗢𝗨𝗥 𝗛𝗔𝗡𝗗
𝗧𝗵𝗲 𝗻𝗲𝘄 𝘁𝗿𝗮𝗱𝗶𝗻𝗴 𝗽𝗼𝘄𝗲𝗿 𝘁𝗵𝗮𝘁 𝘁𝗿𝘂𝗹𝘆 𝗯𝗲𝗹𝗼𝗻𝗴𝘀 𝘁𝗼 𝗮𝗹𝗹 𝘁𝗿𝗮𝗱𝗲𝗿𝘀.