ปลดล็อคความกังวลใจให้นักลงทุนหุ้นอเมริกา ตลาดหุ้นอเมริกาที่เต็มไปด้วยโอกาส (และมีความเสี่ยง) ด้วยกลไก LULD (Limit up-Limit Down) ช่วยทำให้ราคาไม่ขึ้นหรือลงรุนแรงเกิน 5-20% ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้นักลงทุนมีเวลาปรับแผน ปรับจิตใจรับกับความผันผวนได้ดีขึ้น

ในตลาดหุ้นไทยจะมีมาตรการแบบขึ้นเครื่องหมายเตือนนักลงทุน เช่น 

  1. H (Halt) หยุดการซื้อขายชั่วคราวเวลามีข่าวที่มีผลกระทบรุนแรง หรือมีแรงซื้อขายที่น่าสงสัยของนักลงทุนบางกลุ่ม
  2. มาตรการ Ceiling และ Floor ที่จำกัดไม่ให้หุ้นไทยแกว่งเกินกว่ากรอบ 30% ซึ่งเมื่อมันไปถึงก็มักจะทำอะไรไม่ได้แล้ว ????

เท่าที่แอดมินศึกษาดู LULD อาจดีกว่ากลไก Ceiling และ Floor ของไทยเสียอีก 

Limit Up - Limit Down (LULD) ต่างจาก [Ceiling กับ Floor] ในไทยอย่างไร

กลไก Limit Up - Limit Down (LULD) เปรียบเสมือนลูกผสมระหว่าง 2 เครื่องมือในไทย คือ 

  1. การขึ้นเครื่องหมาย H (Halt) หยุดซื้อขายชั่วคราว เวลามีข่าวสำคัญที่บริษัทยังไม่ได้แจ้งตลาด หรือมีแรงซื้อขายน่าสงสัย
  2. การกำหนดเพดานราคา Ceiling Floor (ไม่เกิน +/- 30%) กำหนดกรอบราคาในวัน ลดความร้อนแรงของนักลงทุน

 

ความแตกต่างที่สำคัญระหว่าง LULD ของอเมริกากับกลไกในตลาดไทย คือ 

1. เมื่อราคาตลาดเกินกรอบ Limit จะทำให้หุ้นอยู่ใน Limit state ทำให้ซื้อขายนอกกรอบราคาไม่ได้ 

2. Limit State แต่ละครั้งจะใช้เวลา 15 วินาที ถ้ายังมีคำสั่งซื้อขายนอกกรอบราคาอยู่ ตลาดจะสั่งพักการซื้อขาย 5 นาที 

3. เมื่อราคาหลุดจาก Limit State แล้ว ระบบจะคิดราคาเฉลี่ย 5 นาทีย้อนหลังใหม่ คำนวณกรอบใหม่ขึ้นมา

4. ถ้าราคายังคงมีความผันผวนไม่หยุด จะเข้าสู่ขั้นตอนที่ 1-3 ใหม่อีกครั้ง

สังเกตว่าตลาดหุ้นอเมริกาแม้จะมีความเสี่ยงมากกว่า แต่การมีจังหวะพักการซื้อขายให้นักลงทุนเปลี่ยนคำสั่งซื้อขายตัวเองได้  นาน 5 นาที ก่อนที่จะกลับมาซื้อขายและคำนวณกรอบราคาใหม่ ทำให้นักลงทุนมีเวลาทบทวนกลยุทธ์และข้อมูลเพิ่มขึ้น และแก้ไขความผิดพลาดได้ง่ายกว่า

ขั้นตอนการทำงานของ LULD

Limit up - Limit Down (LULD) ในตลาดอเมริกา จะมีขั้นตอนการทำงาน 4 ขั้นด้วยกัน 


1. คำนวณราคาอ้างอิง (Reference Price) 

เพื่อป้องกันปัญหาราคาผันผวนเกินไป จะเริ่มต้นจากการหา ราคาอ้างอิง ก่อน โดยจะใช้ราคาปิดของเมื่อวานนี้ หรือว่าราคาเฉลี่ย 5 นาทีย้อนหลังมาคำนวณ ตลาดจะคอยอัพเดตราคาอ้างอิงและกรอบราคาให้อัตโนมัติ

2. คำนวณกรอบราคา (Price Band) 

กรอบราคา ที่ตลาดอนุญาตให้ราคาวิ่งขึ้น-ลงได้จะถูกกำหนดต่างออกไปตามประเภทของหุ้น

  • ถ้าเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องสูง อยู่ใน S&P500, Russell 1000 จะเรียกว่า หลักทรัพย์ Tier 1
  • ถ้าเป็นหุ้นที่มีสภาพคล่องไม่สูงมาก อยู่นอกกลุ่ม Tier 1 จะถูกเรียกว่าเป็น หลักทรัพย์ Tier 2

โดยปกติแล้ว กลุ่ม Tier 2 มักมีความเสี่ยงและความผันผวนได้สูงกว่า Tier 1 ดังนั้น โดยปกติแล้ว % กรอบราคาในกลุ่ม Tier 2 จะสูงกว่า Tier 1 

 

2.1. ถ้าเป็นหุ้นอเมริกา Tier 1 (อยู่ในดัชนีใหญ่) มีกรอบกว้าง 5% จากราคาอ้างอิง

2.2. ถ้าเป็นหุ้นอเมริกา Tier 2 (ไม่อยู่ในดัชนีใหญ่) มีกรอบกว้าง 10% จากราคาอ้างอิง

2.3. ถ้าเป็นหุ้นอเมริกาที่ราคาระหว่าง $0.75 - $3.00 จะมีกรอบกว้าง 20% จากราคาอ้างอิง

2.4. ถ้าเป็นหุ้นอเมริกา Penny Stock ราคาน้อยกว่า $0.75 จะมีกรอบกว้างได้ถึง 75% หรือ $0.15 (เลือกกรอบที่แคบกว่า)

 

แม้ว่าจะมีเลข %กรอบราคา เป็นเลขเดียวกัน แต่เพราะว่าตลาดจะปรับราคาอ้างอิง เป็นราคาเฉลี่ยที่มีการซื้อขายในช่วง 5 นาทีล่าสุดโดยอัตโนมัติ ทำให้กรอบของ Limit Up Limit Down จะเปลี่ยนไปตลอดเช่นกัน 

ดังนั้น ถ้าเราเห็นว่าอยู่ๆ ก็ซื้อขายไม่ได้ นั่นอาจแปลว่าราคากำลังเข้า Limit State อยู่นั่นเองครับ

 

3. ถ้าราคาทะลุกรอบราคา Limit ไปแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น? 

หลังจากที่ราคาทะลุกรอบ Limit ไปแล้ว จะเข้า Limit State

- นักลงทุนจะซื้อหลักทรัพย์ ราคาสูงกว่ากรอบบน (Limit Up) ไม่ได้ 

- นักลงทุนจะขายหลักทรัพย์ ราคาต่ำกว่ากรอบล่าง (Limit Down ไม่ได้) 

LULD ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนซื้อขายหุ้นในกรอบราคาได้

เพราะ LULD ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนซื้อขายหุ้นในกรอบราคาได้ ดังนั้น เมื่อราคาขึ้นสูงกว่า Limit Up ไม่ได้ อาจทำให้เกิดแรงขายกลับลงมาในกรอบได้ ในทำนองเดียวกัน ถ้าราคาลงไปถึง Limit Down แล้วนักลงทุนขายราคาต่ำกว่า Limit ไม่ได้ อาจเกิดแรงซื้อกลับเข้ามาในกรอบได้เช่นกัน 

การติด Limit State ลักษณะนี้ทำให้นักลงทุนรายใหญ่ไม่สามารถกวาดซื้อ / เทขาย จนทำให้ราคาเปลี่ยนแปลงมากๆ จนราคาตลาดห่างจากต้นทุนของตนเองในเวลาสั้นๆ ได้ มีเวลาให้นักลงทุนรายย่อยปรับสภาพจิตใจ แก้ไขข้อผิดพลาดทัน

 

4. ถ้าราคาทะลุกรอบราคา แต่แรงซื้อ/ขายยังคงรุนแรงไปทิศทางเดิม

อย่างไรก็ตาม ถ้าแรงซื้อ/ขายยังคงถาโถมต่อเนื่องในทิศทางเดิมเกินเวลา 15 วินาทีไปแล้ว ทางตลาดหลักทรัพย์ (สหรัฐอเมริกามีหลายตลาดนะครับ) จะประกาศปิดการซื้อขายชั่วคราว 5 นาที เพื่อให้นักลงทุนประเมินข้อมูลสถานการณ์ใหม่

หลังจากผ่าน 5 นาทีไปแล้ว ตลาดจะคำนวณกรอบ LULD ใหม่จากราคาอ้างอิงชุดใหม่อีกครั้ง แล้วเปิดให้ซื้อขายใหม่อีกครั้ง จากนั้นถ้าราคายังคงไปในทิศทางเดิมอีกก็จะไปติด LULD ชุดใหม่ แล้วมี Limit State 15 วินาที ก่อนจะ Pause อีกครั้ง 

ล่าสุดหุ้น $GME ที่มีกระแสถูก Pause ไปมากถึง 8 ครั้ง หลังจากนักลงทุนรายใหญ่ออกมา Livestream นี่อาจเป็นมาตรการที่ช่วยกำกับให้นักลงทุนมีเวลาตั้งสติและแก้ไขข้อผิดพลาดในวันได้ง่ายมากขึ้น

 

ตัวอย่างเพื่อทำความเข้าใจ LULD

เราพูดกันแค่คอนเสปต์มันจะเข้าใจยาก ส่วนนี้เราจะลองยกตัวอย่างให้ดูในรูปภาพที่ 3 ได้เลย

สรุปสั้นๆ สำหรับนักลงทุนที่มีเวลาไม่มาก

  1. ตลาดหุ้นอเมริกามีระบบ Limit Up - Limit Down (LULD) ซึ่งความกว้างของกรอบขึ้นอยู่กับลักษณะและราคาหุ้น
  2. ถ้ามีคำสั่งซื้อขาย ทำให้ Bid Offer เกินลิมิต จะเข้าภาวะ Limit State ทำให้ซื้อขายราคานอกกรอบไม่ได้เป็นเวลา 15 วินาที
  3. ถ้าราคากลับมาซื้อขายในกรอบ ตลาดจะคิดราคาอ้างอิงใหม่ คำนวณกรอบใหม่
  4. ถ้าราคายังคงย่ำและทะลุ Limit Up - Limit Down (LULD) อยู่ ตลาดจะสั่งพักการซื้อขาย 5 นาที

เมื่อรวมเข้ากับระบบที่ให้เราซื้อขายเศษหุ้นได้, ช่วยลดภาษีเงินปันผลให้, มี Conditional order และโอกาสการลงทุนในหุ้นนวัตกรรมชั้นนำระดับโลก การกระจายเงินบางส่วนไปลงทุนหุ้นอเมริกาอาจไม่ยากเท่าที่คิด

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

  1. LULD FAQ โดยเว็บไซต์ของตลาด NASDAQ; LULD_FAQ.pdf (nasdaqtrader.com)
  2. บทความอธิบายกลไก LULD โดย Investopedia; https://www.investopedia.com/terms/l/limitdown.asp