Written by : #DrArmTungnirun x #Liberator



 



เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มูดี้ส์ (Moody’s) บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ของโลกปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของพันธบัตรรัฐบาลจีน จากระดับมีเสถียรภาพ (Stable outlook) ลงเป็นมุมมองเชิงลบ (Negative outlook) แต่ในขณะเดียวกัน มูดี้ส์ยังคงตรึงอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินหยวนและสกุลเงินต่างประเทศของจีนไว้ที่อันดับ A1






ถ้าอ่านจากคำอธิบายของมูดี้ส์แล้ว พบว่ามีปัจจัยสำคัญสามข้อ ข้อแรก คือ ความกังวลเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว โดยคาดว่า การขยายตัวของ GDP จีนจะชะลอตัวลงสู่ระดับ 4% ในปี 2024 และ 2025 และจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 3.8% ตั้งแต่ปี 2026-2030






ข้อสอง คือ ความกังวลเกี่ยวกับปริมาณหนี้มหาศาลของรัฐบาลท้องถิ่นของจีน และข้อสาม คือ ความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังเลี้ยงไข้แบบทรงๆ ทรุดๆ อยู่






ในช่วงส่งท้ายปี หลายคนถามว่า เศรษฐกิจจีนเริ่มมีสัญญาณฟื้นหรือยัง คำตอบคือ ถ้าเราหักภาคอสังหาริมทรัพย์ออก ตัวเลขเศรษฐกิจจีนไม่ว่าจะเป็นในภาคการบริโภค ภาคการผลิต มีสัญญาณเริ่มฟื้นตัวภายหลังโควิดทั้งสิ้น แต่ปัญหาใหญ่ก็คือภาคอสังหาริมทรัพย์นี่แหละที่คิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 15-30 ของ GDP จีน ดังนั้น เมื่อภาคนี้ไม่ฟื้น ก็ยากที่เศรษฐกิจจีนจะกลับมามีเรี่ยวแรงคึกคักเหมือนในอดีตได้






จริงๆ แล้วรัฐบาลจีนเดิมมีทางเลือกที่จะอัดสเตียรอยด์ขนานใหญ่ ปั๊มหัวใจให้ภาคอสังหาฯ กลับมาฟื้นคืนชีพและคึกคักอีกครั้ง จริงๆ แล้ว เมื่อภาคอสังหาฯ จีนมีทีท่าจะเกิดวิกฤตในอดีตทุกๆ ครั้ง รัฐบาลจีนก็เลือกหนทางนี้






วันก่อนผมประชุมกับนักเศรษฐศาสตร์ มีคนประเมินว่าหากรัฐบาลจีนต้องการอุ้มภาคอสังหาฯ และปลุกผีซอมบี้ให้กลับฟื้นคืนชีพ ต้องใช้เม็ดเงินเท่าไหร่ ถ้ารัฐบาลจีนตัดสินใจจะทำก็น่าจะทำได้ เพราะรัฐบาลจีนยังมีช่องวางทางการคลังในการอัดฉีดได้อยู่






เราต่างก็เคยหวังกันว่ารัฐบาลจีนจะเลือกเส้นทางนี้ แต่จนแล้วจนรอดรอมาสองปีกว่า รัฐบาลจีนก็ไม่เลือกเส้นทางนี้เสียที การกระตุ้นหรืออัดฉีดของรัฐบาลเป็นไปอย่างกะปริดกะปรอย เพียงเพื่อประคับประคองไม่ให้ลามไปเกิดวิกฤต แต่ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะกระตุ้นคลื่นหัวใจให้สัญญาณชีพภาคอสังหาฯ ฟื้น






สิ่งที่เราควรเข้าใจก็คือ การตัดสินใจทุบภาคอสังหาฯ เป็นการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ในระดับผู้นำของจีน ปัญหาวิกฤตอสังหาฯ ของจีนเริ่มมาจากข้อจำกัดเรื่องเพดานการกู้เงินของบริษัทอสังหาฯ ที่ออกโดยรัฐบาลจนเป็นจุดเริ่มต้นวิกฤตเอเวอร์แกรนด์ ทำให้ฟองสบู่แตกโพละ






อาจกล่าวได้ว่ารัฐบาลจีนนั่นแหละเป็นผู้ตัดสินใจที่จะเจาะฟองสบู่ตัวเอง ด้วยแนวคิดว่าแตกตอนนี้ดีกว่าไปแตกเอาสิบปียี่สิบปีข้างหน้า ซึ่งถึงตอนนั้นฟองสบู่อสังหาฯ จีนก็จะยิ่งใหญ่โตมโหฬารยิ่งไปกว่านี้ ยิ่งเสี่ยงจะลามจนเศรษฐกิจเละยิ่งกว่าในวันนี้ สู้ตอนนี้เจาะฝีให้หนองแตก ทนเจ็บและปรับตัวเสียดีกว่า






สีจิ้นผิงเองยังมองว่าฟองสบู่อสังหาฯ ที่ไม่มีการควบคุมมาก่อนหน้านี้ ทำให้ราคาบ้านในเมืองใหญ่ของจีนปั่นกันจนทะลุเพดาน ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ทำให้คนจีนจำนวนมากตัดสินใจไม่สร้างครอบครัวไม่ยอมมีลูก จนภาวะประชากรหดของจีนรุนแรงกว่าที่ทุกคนเคยประเมิน ความเหลื่อมล้ำในจีนก็สูง เมื่อคนเมืองถือครองอสังหาฯ ในเมือง ซึ่งราคาพุ่งติดจรวดทุกปี ขณะที่คนชนบทไม่มีปัญหาย้ายเข้าเมืองเพราะค่าเช่าสูงมาก



 



มีนักเศรษฐศาสตร์บางคนที่มองว่า หลังเจาะฟองสบู่จนแตกแล้ว รัฐบาลจีนน่าจะปล่อยตามธรรมชาติให้เกิดวิกฤตใหญ่และให้ภาคนี้ได้ค่อยๆ รีเซ็ทใหม่ แทนที่จะเอาเงินดีไปอุ้มหนี้เน่า แต่รัฐบาลจีนยังไม่ใจเด็ดใจกล้าขนาดนั้น ในทางหนึ่งก็ไม่ยอมฟื้นชีพผีซอมบี้ แต่อีกทางก็ไม่ต้องการให้ล้มกันระเนระนาดจนลามภาคการเงินการธนาคาร สิ่งที่รัฐบาลจีนทำจึงเป็นการกระตุ้นอย่างประคับปะคองสถานการณ์ ไม่ให้ลามไปเกิดวิกฤตใหญ่ในภาคการเงิน






ถามว่า Endgame ของรัฐบาลจีนคืออะไร รัฐบาลจีนมองว่าจะค่อยๆ ปรับโครงสร้างหนี้และทำให้ภาคอสังหาฯ หยุดความหวือหวา แต่ราคาต้องไม่ตกแบบวิกฤตอสังหาฯ ในญี่ปุ่นที่ตอนนั้นราคาบ้านในโตเกียวลดลงฮวบฮาบกว่าร้อยละ 70 ตอนนี้ในจีน ราคาบ้านในเมืองใหญ่หยุดเพิ่มและบางพื้นที่ลดลงเล็กน้อย แต่ราคาไม่ได้ดิ่งเหวรวดเร็วฉับพลันเหมือนวิกฤตอสังหาฯ ทั่วไปในประเทศอื่นที่คนแห่แทขายด้วยความตื่นตระหนก






คำถามใหญ่กว่านั้นก็คือ การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนต่อไปจะมาจากไหน ในเมื่อภาคอสังหาฯ มีสัดส่วนที่สูงมากใน GDP จีน เกี่ยวโยงกับหลายภาคอุตสาหกรรม และความร่ำรวยของคนจีนส่วนใหญ่อยู่ในภาคอสังหาฯ เมื่อภาคอสังหาฯ ฟุบ คนจีนต่างรัดเข็มขัดไม่ใช้จ่ายเงิน เพราะมีความกังวลเรื่องอนาคต



 



ที่สำคัญ สาเหตุที่มูดีย์เริ่มกังวลเรื่องหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่น ก็เพราะแต่เดิมรายได้ของรัฐบาลท้องถิ่นจีนมาจากการเอาที่ดินไปพัฒนาอสังหาฯ (ที่ดินเป็นของรัฐบาลท้องถื่น) แต่ตอนนี้เมื่อภาคอสังหาฯ เกิดปัญหา ภาวะหนี้และภาวะการคลังของรัฐบาลท้องถิ่นก็จะกลายเป็นแผลที่อาจแตกได้






คำตอบของรัฐบาลจีน ก็คือ จีนต้องค่อยๆ เอาภาคเทคโนโลยีดิจิทัล และภาคพลังงานสะอาด มาทดแทนภาคอสังหาฯ เดิม แต่ข้อนี้ก็ชวนสงสัยเหมือนกันว่า จะทำได้จริงหรือไม่ เพียงใด เพราะภาคเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้ยากมากที่จะมีสัดส่วนสูงได้ใน GDP จีนแบบภาคอสังหาฯ






รัฐบาลจีนคงหวังจะปรับโครงสร้างเศรษฐกิจจีนให้ลดความหวือหวาลง แต่มีความยั่งยืนมากขึ้น และลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตใหญ่หรือฟองสบู่ยักษ์แตกในอนาคต มีนักวิเคราะห์มองว่ารัฐบาลจีนไม่อยากซ้ำรอยโมเดลสหรัฐฯ ที่เน้นการเติบโตจากเศรษฐกิจมายาเช่นฟองสบู่อสังหาฯ หรือฟองสบู่ตลาดทุน ขณะที่ภาคการผลิตและภาค Real Sector อาจไม่ได้เข้มแข็งนัก






รัฐบาลจีนอยากใช้โมเดลแบบเยอรมันที่โตไม่หวือหวา ไม่คึกคัก แต่ยั่งยืนกว่า เสถียรกว่า และเหลื่อมล้ำน้อยกว่า ขณะเดียวกันก็มีเทคโนโลยีไฮเทค และเป็นมหาอำนาจด้านการผลิต ภาคเศรษฐกิจ Real Sector ก็มีความเข้มแข็ง






เหล่านี้เป็นจุดหมายของการเปลี่ยนผ่านระยะยาว มีคำถามว่าจะทำได้ตามฝันเพียงใด เพราะเศรษฐกิจที่ซึมนั้น หากดูแลไม่ดีก็อาจกลายเป็นวงจรอุบาทว์หักหัวลง ไม่ใช่จะเสถียรราบรื่นยั่งยืนได้อย่างที่หวัง ดังนั้น เวลาต่อจากนี้ย่อมเป็นห้วงพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลจีนครั้งสำคัญ






แต่พวกเราต้องเตรียมใจรับความจริง ปีหน้าหยุดถามหยุดหวังว่าจีนจะมีการอัดฉีดกระตุ้นใหญ่ หยุดหวังว่าเศรษฐกิจจีนจะหักหัวขึ้นได้อย่างทันควัน แต่ต้องยอมรับสภาพเศราฐกิจจีนที่ซึมยาวและซึมต่อในปีหน้า เพราะภาคอสังหาฯ จะไม่ฟื้นกลับมาอีกแล้ว และช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาพที่คลี่คลายกว่านี้อาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี เป็นอย่างน้อย