Written by: #StockVitamins x #Liberator



 



หลายครั้งเราอ่านข้อมูล เราฟังผู้บริหารเล่าธุรกิจ เรามักจะมองมิติเดียว หรือตีความตามตัวอักษรที่เห็น เช่น งบดี ราคาต้องขึ้นสิ ขยายกิจการ รายได้ก็น่าจะเพิ่ม เข้าไปดูร้านค้า ของเกลี้ยง shelf เลย แปลว่าขายดีแน่ แต่ในความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่แบบที่เราเห็นแบบนั้นก็ได้



 



วันนี้วิตามินหุ้นจะมาชวนทุกคนคิดให้ลึกขึ้น มองต่างมุม มองหลายมิติมากขึ้น ผ่านตัวอย่างของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นกันแบบนี้ครับ



 



1. ขึ้นราคาสินค้า ทำไมหุ้นตก



 



• มองมิติเดียว : รายได้มาจาก P x Q ถ้าราคาขึ้น แล้วคนยังซื้อของเหมือนเดิม หรือลดลงไม่มาก รายได้ก็น่าจะเพิ่ม เห็นงบไตรมาสล่าสุดรายได้โตมากกว่าปกติด้วย น่าจะดีแน่เลย อ้าว แต่หุ้นตกเฉย



• มองหลายมิติ : ที่รายได้ดีกว่าปกติ เพราะคนตุนสินค้าก่อนปรับราคาหรือเปล่า เพราะบริษัทต้องแจ้งร้านค้าก่อนขึ้น ทีนี้ร้านก็รีบตุนของกันใหญ่ แปลว่า งบไตรมาสหน้าอาจจะไม่ดีก็ได้นะ ราคาหุ้นเลยลงนำมาก่อน



 



2. ราคา Commodity ลงแล้ว ทำไมงบยังไม่ดี



 



• มองมิติเดียว : เราเห็นราคาน้ำมัน พลาสติก ทองแดง อลูมิเนียม หมู ไก่ ลงแล้ว เราก็คิดไปเลยว่า ต้นทุนบริษัทลงตาม กำไรมาแน่ แต่พอประกาศงบกลับยังเหมือนเดิม



• มองหลายมิติ : เราลืมคิดไปว่าสต็อกเดิมที่ซื้อมาราคาสูงยังใช้ไม่หมด ต้องรอล็อตใหม่ต้นทุนถึงจะลดได้ หรือหนักหน่อยถ้าเป็นโรงงานผลิตสินค้า ลูกค้าเราเห็นราคาวัตถุดิบลงแล้ว รีบมาต่อราคาเลย แต่สต็อกเก่าเรายังเยอะอยู่ ถ้าอำนาจต่อรองต่ำ ก็อาจกลายเป็นว่า ต้องลดราคาขาย แต่สต็อกเก่าราคาสูง กลายเป็นขาดทุนมากกว่าเดิมอีก



 



3. Utilization Rate 80% ทำไมบอกว่าเต็ม



 



• มองมิติเดียว : บริษัทเก่ง ผลิตสินค้าได้เยอะ ถ้า U Rate 80% ทำยอดขายได้ 800 ล้านบาท ไตรมาสหน้า high season รายได้อาจจะไปแตะ 900-1,000 ล้านบาทแน่ๆ เลย แต่พองบออกมากลับได้เท่าเดิม หรือมากกว่าเดิมนิดหน่อย เราก็งงเลยทีนี้



• มองหลายมิติ : เพราะการผลิตจริงที่โรงงานต่างจากการคำนวณบนกระดาษ การที่ U Rate 80% อาจจะแปลว่าเต็มแล้ว เพราะโรงงานผลิตหลายสินค้า หลาย sku ต้องมีเวลาเผื่อเปลี่ยนอะไหล่ เผื่อเสีย เผื่อซ่อม รอเตรียมวัตถุดิบอะไรต่างๆ ด้วย จะ Run 100% เลย เป็นไปไม่ได้ แล้วถ้าเกิดบริษัทไม่ได้มีแผนรับมือการเติบโตที่มากขึ้น ถึงจะมีออเดอร์เข้ามามาก ก็ผลิตไม่ได้รายได้ก็ไม่เพิ่มอยู่ดี



 



4. นโยบายรัฐบาลกระตุ้นกำลังซื้อ ทำไมหุ้นตก



 



• มองมิติเดียว : รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกเงิน Digital Wallet ช็อปปิ้ง Easy E-Receipt ลดหย่อนภาษี เป็นการเพิ่มกำลังซื้อผู้บริโภค แต่หุ้นสินค้าอุปโภคบริโภค หุ้นร้านค้า IT ทำไมราคาตกกันจัง



• มองหลายมิติ : ถ้าเรารู้ว่าอีกไม่กี่เดือน ซื้อสินค้าแล้วได้ส่วนลด หักภาษีได้ แล้วไม่ใช่เป็นสินค้าจำเป็นเร่งด่วน เราก็จะรอกัน ถ้ารอกันทุกคน ยอดขายก็จะตก งบระยะสั้นก็จะอาจจะแย่ได้ ราคาหุ้นเลยชิงลงมาก่อน



 



5. เปลี่ยน Distributor ใหม่ใหญ่กว่าเดิม แต่ราคาไม่ขยับ



 



• มองมิติเดียว : เปลี่ยนเจ้าใหม่น่าจะขายสินค้าได้มากขึ้น เพราะครอบคลุมร้านค้าเพิ่มขึ้น ลูกค้าใหม่ๆจะเข้ามา ยอดขายก็น่าจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย



• มองหลายมิติ : ถ้าเจ้าเดิมขายกันดีๆ อยู่แล้ว เปลี่ยนทำไม มีปัญหาอะไรกันหรือเปล่า เจ้าใหม่มาช่วงแรกๆ จะมีเรื่องรอยต่อการขายกับร้านค้า เรื่องทำความเข้าใจสินค้า เรื่องเปลี่ยนฉลากอีก ระยะสั้นก็อาจจะไม่ดีได้ ราคาหุ้นเลยลงนำไปก่อน



 



6. M&A รัวๆ ตลาดกลับไม่ดีใจ



 



• มองมิติเดียว : ซื้อกิจการเข้ามาเพิ่ม ยอดขายเพิ่มทันที บางทีโตเป็นเท่าตัว แต่ตลาดกลับไม่ดีใจ ไม่คิดเป็นสมการแบบที่เราคิด



• มองหลายมิติ : ซื้อแล้วคุ้มมั้ยทั้งในแง่ของการ synergy กันได้ วัฒนธรรมองค์กร ความคุ้มค่าเงินในการซื้อ สัดส่วนการซื้อที่จะทำให้เรามีสิทธิ์บริหารได้หรือเปล่า และเราต้องไปเพิ่มทุนหรือกู้หนี้ก้อนโตมาซื้อจนเป็นภาระมากแค่ไหน



 



7. สินค้าใหม่เทสต์แล้วใครๆ ก็ชอบ แต่ร้านค้ากลับไม่กล้ารับ



 



• มองมิติเดียว : บริษัทออกสินค้าใหม่ ทำวิจัยกับผู้บริโภคมาแล้ว ผลตอบรับดี กะว่าขายเมื่อไหร่ยอดขายโตระเบิดแน่



• มองหลายมิติ : ในความเป็นจริง ของดี แต่วางขายไม่ได้เยอะ เพราะเจ้าเดิมที่เป็นผู้นำตลาดอาจทำโปรโมชั่นรับน้องลดราคา หรือหนักหน่อยบอกร้านค้าว่าถ้าขายคู่แข่งจะไม่ให้เงินสนับสนุนเหมือนเดิม ร้านค้าก็เริ่มลังเล ไม่กล้าขาย



 



8. ตั้งตู้แช่เยอะ ทำไมรายได้ไม่มา



 



• มองมิติเดียว : บริษัทเอาตู้แช่ใส่เครื่องดื่มไปให้เพื่อวางสินค้าของบริษัทอย่างเดียว เพิ่มการมองเห็นโดดเด่นด้วย ยอดขายน่าจะดี



• มองหลายมิติ : ในความเป็นจริง ตู้แช่กินไฟเยอะ วางแบรนด์เดียวอาจไม่พอ เลยวางเครื่องดื่มทุกอย่างหมดที่ไม่ใช่คู่แข่งโดยตรง หนักหน่อยคือ วางแบรนด์เดียวตอนเซลล์มา ถ่ายรูปเสร็จเก็บลง วางหลายแบรนด์ต่อ



 



9. เครื่องดื่มนอนอยู่ก้นโถกดตั้งแต่บ่าย ยอดขายปังแน่



 



• มองมิติเดียว : ชา กาแฟ โอวัลตินตามโถกดร้านสะดวกซื้อ เราเข้าไปดูบ่ายต้นๆ จะหมดแล้ว เห็นแบบนี้ดีใจ เดี๋ยวร้านชงใหม่ ขายดีอีก พอหมดวันยอดขายคูณสองแน่ๆ



• มองหลายมิติ : บางร้านชงรอบเดียวตอนตีสาม ขายหมดตอนบ่าย ไม่ชงต่อแล้ว เพราะชงใหม่ของอาจจะเหลือ แปลว่า ชงรอบเดียว รายได้มาแค่นั้นเอง แต่เราเข้าใจผิดคิดเป็นคณิตศาสตร์มากเกินไป



 



หลายครั้งสิ่งที่เห็น ได้ยิน หรืออ่านตามตัวอักษรมานั้น อาจไม่ได้ชัดเจนหรือง่ายดายแบบนั้น เราต้องมองทะลุให้ลึกหลายมิติมากขึ้น บางครั้งการลงไปดูพื้นที่จริงอาจช่วยให้เราเห็นความจริงอีกมุมมากขึ้น