แชร์วิธีจัดพอร์ตกองทุนรวม RMF แบบมืออาชีพที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ 
วิธีนี้จะช่วยลดความเสี่ยง ลดภาษี และเพิ่มความมั่งคั่งระยะยาวให้กับเราได้ด้วยเทคนิคชื่อ ปรับสมดุล (Rebalance) 
 
เนื้อหา โดยเพจ เด็กการเงิน (DekFinance) 
เรียบเรียงและออกแบบรูปภาพโดย Liberator Securities 
เริ่มต้นซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีได้แล้ววันนี้บนแอป Liberator ดาวน์โหลดแอปแล้วเปิดบัญชีที่นี่
 

ขายกองทุน RMF ไม่ผิดเงื่อนไขภาษี ทำอย่างไร?

ถ้าวันนี้เราอายุ 35 ปีและกำลังวางแผนภาษีโดยใช้ กองทุนรวม RMF ซึ่งเป็นกองทุนลดหย่อนภาษีระยะยาวสำหรับวางแผนเกษียณ โดยทั่วไปจะขายได้แบบไม่ถูกคิดภาษีและดอกเบี้ยย้อนหลังตอนอายุ 55 ปีไปแล้ว 
 
เราต้องมองหาโอกาสที่น่าลงทุนระยะยาวระดับ 20 ปีขึ้นไป การลงทุนที่เราจะใส่เงินเพิ่มเข้าไปทุกปี และลึกๆ ก็หวังว่าเราจะเห็นมันกำไรสมน้ำสมเนื้อทุกปี 
 
นั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะเลือกกองทุนกองเดียวและหวังว่า 20 ปีมันจะโตตลอดไปได้ เพราะเวลา 20 ปีมันนานมากพอที่อุตสาหกรรม หรือ สินค้าบางอย่างจะหายไปจากตลาดได้ เช่น กล้องฟิล์ม, รถยนต์ญี่ปุ่น, หรือแม้กระทั่งบริษัทยักษ์ใหญ่ที่พลาดโอกาส AI แบบ Intel ไป
 
แล้วเขาจะให้เราลงทุนแบบนั้นจริงหรือเปล่า? คำตอบ คือ ไม่จริง ครับ
ความเชื่อ: ซื้อกองทุน RMF แล้วขายไม่ได้เลย ต้องถือและลงทุนเพิ่มกองทุนกองเดียวไปยาวจนถึงอายุ 55 ปี
 
ความจริง: ซื้อกองทุน RMF แล้วขายได้ ถ้าเป็นกอง RMF เหมือนกัน ใน บลจ. เดียวกัน
 
ความจริงก็คือกองทุน RMF ที่เราเลือกลงทุนระยะยาวนั้นสามารถ ขายได้แบบไม่ผิดเงื่อนไข ด้วยฟังก์ชั่น สลับกองทุนใน บลจ. เดียวกัน หรือคือการ ขายกองทุนเดิมที่ไม่ดีออกแล้วย้ายไปซื้อกองใหม่ที่น่าสนใจกว่า
 
  • ต้องเป็นการ สลับ กองทุนรวมใน บลจ เดียวกัน
  • ต้องเป็นการ สลับ กองทุนลดหย่อนภาษี ประเภทเดียวกัน เช่น สลับกอง RMF หุ้นจีน > กอง RMF หุ้นอเมริกา 

 

โดยที่มืออาชีพเวลาเขาสลับกองทุนจะไม่ได้สลับไปเลยตามจังหวะตลาด เขาจะวางแผนกันมาแล้วว่าเขาเล็งกองทุนอะไร ซื้ออะไรเพิ่มและขายอะไรออกตอนไหน ทำยังไงกันนะ?

 

3 ขั้นตอนการจัดพอร์ตกองทุนรวม RMF ให้เสี่ยงน้อยลง และเติบโตได้ในระยะยาว
 
พอร์ต RMF ตัวอย่างที่เรากำลังจะพาไปลองสร้างด้วยกัน เป็นพอร์ตลงทุนระยะยาวที่เราใช้เพื่อลดหย่อนภาษี ย้ำว่าเราไม่ได้กำลังจับจังหวะหาโอกาสระยะสั้นตลอดเวลา (ไม่งั้นค่าธรรมเนียมกองทุนกินผลตอบแทนเราแย่เลยครับ)
 
สำหรับขั้นตอนการสร้างพอร์ตลงทุนกองทุน RMF ระยะยาวจะสร้างขึ้นด้วย 3 ขั้นตอน
  1.  จัดสัดส่วนเงินที่จะเอาไปลงทุน (Asset Allocation)
  2.  เลือกกองทุนที่ชอบ ตั้งใจจะลงทุนระยะยาวให้ครบทุกแบบใน บลจ. เดียวกัน
  3.  วางแผนปรับสมดุลพอร์ต (Rebalance)
 
 
1. จัดสัดส่วนเงินที่จะเอาไปลงทุน (Asset Allocation)
 
ขั้นตอนที่ 1 เริ่มต้นจากการจัดสัดส่วนเงินลงทุนของเราก่อนว่าจะแบ่งเงินเท่าไหร่ไปลงทุน: 
  • กองทุนรวมหุ้น มีความเสี่ยงสูง ขึ้น-ลง และเติบโตตามเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ 
  • กองทุนรวมตราสารหนี้ มีความเสี่ยงต่ำ เศรษฐกิจเป็นอย่างไรก็ยังจ่ายดอกเบี้ยเท่าเดิม
คนที่เลือกลงทุนกองทุนรวมมือโปรจะต้องจัดให้มีอย่างน้อย 2 อย่างนี้อยู่ด้วยกันเสมอ
 
เพราะในอดีตเวลาที่เศรษฐกิจตกต่ำ หุ้นจะไม่เติบโต ส่วนตราสารหนี้ยังจ่ายดอกเบี้ยให้เราได้ ถ้าเศรษฐกิจเฟื่องฟู หุ้นจะเติบโตรวดเร็ว สร้างผลตอบแทนระยะยาวให้กับเราได้
 
เราเรียกการจัดพอร์ตให้มีหลายสินทรัพย์ในระยะยาวกันว่า Asset Allocation หรือก็คือการแบ่งเงินลงทุนไปลงทุนของสองอย่างที่ราคาไม่ไปทางเดียวกันนั่นเอง
 
ในขั้นตอนนี้ เราควรจะรู้ว่าเราควรใส่เงินไปในกองทุนแบบไหนบ้างเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ซึ่งใส่มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่รับได้
 
ถ้ารับความเสี่ยงได้ต่ำ ควรจัดพอร์ตแบบ Conservative ที่เน้นไปที่กองทุนตลาดเงิน ตราสารหนี้มากกว่า เช่น ใส่ Bond 60% ใส่หุ้น 40% 
 
ถ้ารับความเสี่ยงได้เพิ่มขึ้น หวังผลตอบแทน 5-6% ต่อปี ควรจัดพอร์ตแบบ Moderate ที่เพิ่มสัดส่วนกองทุนรวมหุ้นมากขึ้น ใส่หุ้น 60% ใส่ bond 40% 
 
ถ้ารับความเสี่ยงได้สูงสุด อยากเห็นการเติบโตของพอร์ตเร่งตัวขึ้นเร็วๆ ควรจัดพอร์ตแบบ Aggressive ที่มีสัดส่วนหุ้นสูง 80% ส่วน bond 20% พอ
 
 
 
2. เลือก บลจ. และกองทุนที่สนใจลงทุนระยะยาว
 
ขั้นตอนที่ 2 คือ การเลือก ชุดกองทุน RMF เอาไว้ 3 ธีม 5-8 กองทุน โดยให้เลือกจาก บลจ. เดียวกันก่อน 
 
เพราะการขายกองทุน RMF ให้ไม่ผิดเงื่อนไขจำเป็นต้องทำผ่านการ สลับกองทุน RMF ใน บลจ. เดียวกัน 
 
ในบทความนี้จะจัดหมวดกองทุนรวมให้มี 3 ประเภท 
 
2.1. กองทุนตราสารหนี้ / กองทุนตลาดเงิน
ส่วนที่มีความเสี่ยงต่ำในพอร์ตของเรา
 
กองทุนตราสารหนี้ จะนำเงินของเราไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน ความเสี่ยงจะอยู่ที่อัตราดอกเบี้ยและราคาตราสารหนี้ที่มักจะเคลื่อนไหวจำกัดและผันผวนต่ำกว่าตราสารทุน (หุ้น)
 
กองทุนตลาดเงิน เป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในเงินฝากของธนาคาร หรือตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี เช่น ตั๋วเงินคลัง ตั๋วแลกเงิน ตั๋วสัญญาใช้เงิน ที่มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ต่ำและให้ผลตอบแทนค่อนข้างแน่นอน
 
2.2. กองทุนตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้ว (DM)
ต่อมาเป็นการเลือกกองทุนหุ้นในพอร์ตของเรา ในการลงทุนผ่านกองทุนหุ้นต่างประเทศ จะมีการกระจายการลงทุนไปทั่วโลก
 
ส่วนที่เราคิดว่าค่อนข้างเติบโตอย่างสม่ำเสมอ คือ กองทุนหุ้นตลาดประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market, DM) ที่มักจะเป็นหุ้นขนาดใหญ่
 
บริษัทฯ ในประเทศพัฒนาแล้วมักมีสินค้าและบริการขายไปทั่วโลก กระแสเงินสดดี สม่ำเสมอ มาตรฐานบัญชีที่สูง และอยู่ภายใต้การกำกับของกลต.ที่มีความเข้มงวด เช่น ตลาดหุ้นใน USA, EU และ Japan เป็นต้น หรือเรียกรวมๆว่า Global Equity
 
2.3. กองทุนตลาดหุ้นประเทศเกิดใหม่ (EM) / กองทุนเฉพาะธีม (Thematics)
สุดท้าย ตลาดประเทศกำลังพัฒนา (Emerging Market, EM) เช่น จีน อินเดีย เป็นต้น ที่เราเห็นแนวโน้มการเติบโตของประเทศได้
 
ตลาด EM มักจะผันผวนมาก เนื่องจากขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่ผันผวน จึงควรจัดสัดส่วนให้น้อยกว่า DM
 
ในขั้นตอนนี้ เราควรจะได้รายชื่อกองทุนรวมที่เราตั้งใจลงทุนระยะยาวเอาไว้สับเปลี่ยนในอนาคต
 
ตัวอย่างชุดกองทุนที่เราแนะนำ เป็นของ บลจ. กรุงศรี
  • KFGGRMF กองทุนหุ้นโลกสายเติบโต จากกองทุนหลัก Baillie Gifford ซึ่งเป็นหุ้นที่เน้นการเติบโตของกิจการและยอดขาย เช่น 2 เท่า ใน 5 ปี
  • KFGBRANDRMF กองทุนหุ้นโลกเน้นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง กระแสเงินสดสูง รองรับเศรษฐกิจผันผวนสูง
  • KFGTECHRMF กองทุนหุ้นเทคโนโลยีทั่วโลก เต็มไปด้วยโอกาสแห่งการเติบโต เมกะเทรนด์ที่น่าสนใจในยุคนี้
  • KFCMEGARMF กองทุนหุ้นจีน รวมเมกะเทรนด์ที่เติบโตในระยะยาวของจีน ขนาดเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก
  • KFHCARERMF  กองทุนหุ้นสุขภาพทั่วโลก อุตสาหกรรมที่โตได้ในทุกสภาวะและยังเหมาะกับแนวโน้มผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น สุดท้ายเป็นและตราสารหนี้
  • KFCASHRMF กองทุนตลาดเงินที่ลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น อายุไม่เกิน 1 ปี
  • KFSICRMF กองทุนที่ลงทุนตราสารหนี้ทั่วโลก
 
 
3. วางแผนปรับสมดุลพอร์ตกองทุน RMF (Rebalance)
 
ใกล้ขั้นตอนสุดท้ายแล้วนะ อีกนิดเดียวเท่านั้น
 
3.1. ทยอยซื้อกองทุนรวมเข้ามาในพอร์ตเตรียมเกษียณ RMF 
 
เมื่อได้รายชื่อกองทุน RMF ที่เล็งไว้ทั้งหมดใน บลจ. เดียวกันแล้ว กองทุนแรกที่ควรซื้อก่อน คือ กองทุนตราสารหนี้และกองทุนตลาดเงินเพราะเป็นส่วนที่เสี่ยงต่ำที่สุด
 
จากนั้นจึงเริ่มเลือกกองทุนหุ้นต่างประเทศพัฒนาแล้ว (DM) เพราะมีการเติบโต มั่นคง สม่ำเสมอ มีมาตรการทางบัญชีที่แข็งแรง แล้วค่อยเติมด้วยกองทุนเฉพาะอุตสาหกรรม (Thematics) หรือกองทุนประเทศเกิดใหม่เป็นชุดสุดท้าย 
 
ตัวอย่างกองทุนหุ้นประเทศกำลังพัฒนา เช่น VIETNAM RMF-A ของ ONEAM หรือ KT-WTAI-RMF ของ KTAM เป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงสูง ด้วยความเฉพาะทางของมันจึงอาจทำให้มีความผันผวนมากกว่าปกติได้จึงควรใส่มาให้น้อยกว่ากองทุนประเภท DM
 
3.2. การวางแผนปรับสมดุล (Rebalance) พอร์ตระยะยาว
 
การปรับสมดุล หรือ Rebalance คือ การวางแผนโยกย้ายกองทุนต่างๆ ในพอร์ตเพื่อปรับสัดส่วนให้กลับมาตามเดิม โดยทำได้ 2 แบบ คือ
 
  • Rebalance ตามช่วงเวลา เช่น Rebalance ปีละ 1 ครั้ง 
  • Rebalance เมื่อสัดส่วนเปลี่ยนแปลง เช่น มีกองทุนหุ้นอเมริกาอยู่ 40% แต่ผ่านมา 6 เดือนขึ้นมาแล้วเป็น 60% เราก็แบ่งขายปรับสมดุลให้กลับไปเป็นตามเดิม

 

ประโยชน์ของการ Rebalance คือทำให้เราได้ ขายทำกำไรกองทุนรวม ในจังหวะที่ราคาสูง และ ซื้อกองทุนรวมที่ราคาถูกแต่ระยะยาวยังเติบโตอยู่ ในจังหวะที่ราคาต่ำลง 

ยกตัวอย่างขั้นตอนการ Rebalance เช่น

สัดส่วนเริ่มต้นเป็น กองทุนหุ้น ต่อ กองทุนตราสารหนี้ ที่ 60 ต่อ 40 (60/40) เริ่มต้นที่ 1 แสนบาท

เมื่อเวลาผ่านไป 2 ปี ตลาดเป็นขาขึ้น พอร์ตโตขึ้น 30% สัดส่วนเปลี่ยนเป็น 80/20 มูลค่าเป็น 1.3 แสนบาท

ทำการ rebalance ให้สัดส่วนดังกล่าวกลับไปที่ 60/40 มูลค่ายังเท่าเดิมที่ 1.3 แสนบาท        

 
 
มาลองดูตัวอย่างจัดพอร์ตกองทุน RMF จริงกัน
สมมติว่าเราเลื่อนๆ ดูแล้วเราชอบกองทุนในกลุ่มของ บลจ. กรุงไทย มากที่สุด โดยจัดให้
 

ปีที่ 1 เริ่มต้นลงทุนด้วยเงิน 100,000 บาท เป็นกองทุนตราสารหนี้ 40%, กองทุนหุ้น DM 40% และกองทุน EM 20%

  • ลงทุน KT-BOND RMF 40% เป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท
  • ลงทุน KT-WEQ-RMF 40% เป็นจำนวนเงิน 40,000 บาท
  • ลงทุน KT-WTAI-RMF 10% เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท
  • ลงทุน KT-VIETNAM RMF 10% เป็นจำนวนเงิน 10,000 บาท

 

เวลาผ่านไป 2 ปี ตลาดขาขึ้นโดยมาจากกองหุ้นสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็น 140,000 บาท

  • KT-BOND RMF 30% เป็นยอดเงิน 42,000 บาท
  • KT-WEQ-RMF 50% เป็นยอดเงิน 70,000 บาท
  • KT-WTAI-RMF 15% เป็นยอดเงิน 21,000 บาท
  • KT-VIETNAM 5% เป็นยอดเงิน 7,000 บาท

 

สิ่งที่เราต้องทำในปีที่ 3 ก็คือ 

  • ซื้อ KT-BOND RMF เพิ่ม 14,000 บาท เป็น 56,000 บาท (ได้ 40% ตามแผนเดิม)
  • ขาย KT-WEQ-RMF ออก 24,000 บาท เป็น 56,000 บาท (ได้ 40% ตามแผนเดิม)
  • ขาย KT-WTAI-RMF ออก 7,000 บาท เป็น 14,000 บาท (ได้ 10% ตามแผนเดิม)
  • ซื้อ KT-VIETNAM เพิ่ม 7,000 บาท เป็น 14,000 บาท (ได้ 10% ตามแผนเดิม)

 

จะเห็นว่าเราได้ขายกองทุนหุ้นประเทศพัฒนาแล้วและกองทุน AI ที่ขึ้นมาสูงๆ ออกไป แล้วได้ซื้อกองทุนที่ราคาถูกลงมาเพิ่มแทน ความเสี่ยงลดลงกลับมาสู่สัดส่วนที่วางแผนไว้แต่แรก

พิเศษ ในแอป Liberator สามารถส่งคำสั่ง สลับกองทุน ได้ทันที
โดยในแอป Liberator ลูกค้าสามารถ
  • ดูว่ากองทุนนี้ลงทุนอะไรอยู่บ้าง
  • ดูเอกสาร Fund Fact Sheet ของกองทุนที่มีขายบนแอปได้ทันที่ ไม่ต้องไปค้นหาต่อ
  • กดปุ่ม สลับ กองทุน เพื่อทำตามแผน Rebalance ได้
ซื้อ-ขายกองทุนลดหย่อนภาษีบนแอป Liberator ทำอย่างไร อ่านได้ที่นี่