บทความ LIB Learn เดิม
Top ETFs สำหรับนักลงทุนรายย่อย ในปี 2023
Written by: #หนีดอย x #Liberator
Bloomberg ได้รวบรวมความเห็นจากกูรูด้านการลงทุนว่า ETFs ที่น่าสนใจในปีนี้สำหรับนักลงทุนรายย่อยมีอะไรบ้าง โดยพุ่งเป้าไปที่กองทุนพันธบัตรที่ถือว่าเป็นโอกาสที่สดใสในปีที่ดูเหมือนการลงทุนยังไม่สู้ดีนัก
จากความเห็นของเหล่าผู้เชี่ยวชาญ ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว 2022 ที่พันธบัตรตกลงตามมูลค่าสินทรัพย์อื่นๆ เกือบทุกประเภท ซึ่งถือเป็นหนึ่งในปีที่แย่ที่สุดของนักลงทุนที่ปรับตัวลดลงแบบ 2 digit เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1872 อันเป็นผลมาจากธนาคารกลางสหรัฐปรับเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างจริงจังเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งมีการคาดการณ์ต่อไปว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอยู่ในปีนี้ ซึ่งส่งผลอาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)ขึ้น ในส่วนของ Bonds หรือ พันธบัตรอาจคลี่คลายลงบ้าง เนื่องจากอัตราผลตอบแทนที่สูงขึ้นนี้ จะช่วยป้องกันนักลงทุนจากการลดลงของราคาที่อาจเกิดขึ้นได้
สำหรับนักลงทุนรายย่อย การลงทุนผ่าน ETFs หรือ Exchange-traded funds เป็นวิธีที่ง่ายสำหรับการลงทุนในตราสารหนี้ที่หลากหลาย เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนอื่นๆ เช่น Mutual funds หรือ กองทุนรวม ซึ่ง ETFs ดูถูกกว่าและมีข้อได้เปรียบในแง่ภาษี ข้อดีอีกประกร คือ ETFs ซื้อขายได้ง่ายเหมือนหุ้นผ่านแพลตฟอร์ม ในปีที่ผ่านมาพบว่า ETFs มีเงินทุนไหลเข้าราวๆ 6 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่กองทุนรวมมูลค่าหายไปเกือบ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับ ETFs ที่ดีที่สุด สำหรับนักลงทุนรายย่อยตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรม แยกเป็นประเภทต่างๆ ดังนี้
1. Fixed Income หากพิจารณาในกลุ่มตราสารหนี้แล้ว จะพบว่ากลุ่มที่พันธบัตรใกล้จะครบกำหนดในเร็วๆนี้ หรือ ใกล้ถึงเวลาที่ผู้ออกตราสารหนี้จะต้องชำระเงินคืนมูลค่าเดิมของพันธบัตรอาจจะน่าสนใจ เพราะให้ผลตอบแทนที่มั่นคงแถมมีความเสี่ยงน้อยที่สุด
Nate Geraci ประธานของ ETF Store ซึ่งเป็นที่ปรึกษาการลงทุน ได้แนะนำถึง ETFs อย่าง JPMorgan JPMorgan Ultra-Short Income ETF (JPST) หรือ Pimco Enhanced Short Maturity Active ETF (MINT) ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ให้ผลตอบแทน 12 เดือนอย่างน้อย 1.83%
สำหรับตัวเลือกที่มีความเสี่ยงมากขึ้นเล็กน้อย แต่ยังคงไว้ซึ่งความอนุรักษ์นิยมอยู่คือ Vanguard Total Bond Market ETF (BND) ซึ่งรวมถึงหลักทรัพย์พันธบัตรระยะกลางในระดับการลงทุนที่หลากหลาย
2. Target-Maturity Funds สำหรับประเภทนี้ถือเป็นการจัดโครงสร้างความเสี่ยงในตราสารหนี้ผ่าน ETFs ที่จะครบกำหนดตามเป้าหมาย ซึ่งถือพันธบัตรที่คาดว่าจะครบกำหนดในปีใดปีหนึ่ง ซึ่งช่วยให้นักลงทุนสามารถเพิ่มการลงทุนได้โดยเลือก ETF หลายตัวที่มีระยะเวลาครบกำหนดที่แตกต่างกัน เมื่อกองทุนแต่ละรายการครบกำหนด นักลงทุนสามารถนำเงินต้นไปลงทุนใหม่ใน ETF ที่ครบกำหนดภายหลังหรือทำกำไรก็ได้เช่นกัน
Sam Huszczo ผู้ก่อตั้ง SGH Wealth Management นั้นชื่นชอบกองทุนอย่าง Invesco Bullet Shares เช่น 2027 Corporate Bond ETF (BSCR) ที่สามารถจับคู่กันกับ 2029 Corporate Bond ETF (BSCT) และ 2031 Coporate Bond ETF (BSCV) เพื่อสร้างเป็นพอร์ทขั้นบันไดได้
Geraci กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยง การอยู่ในกองทุนที่ครบกำหนดใกล้ๆนั้นสามารถช่วยลดความเสี่ยงนั้นได้ เขายังแนะนำผลิตภัณฑ์ที่จะครบกำหนดในปี 2025 หรือ 2026 นี้อีกด้วย ซึ่งการลงทุนในกลุ่มนี้จะให้ความยืดหยุ่นแก่นักลงทุน ดังนั้นหากอัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นสูงอีก เมื่อเราลงทุนกับตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดในเร็วๆนี้ คุณก็สามารถเอาเงินที่ได้คืนมาลงทุนซ้ำเพิ่มเติมได้อีก
3. Diversified Equity Exposure มันอาจไม่ใช่แค่พันธบัตรทั้งหมดเท่านั้น Geraci ยังให้นักลงทุนมองหาหุ้นต่างประเทศเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อราคาของหุ้นเหล่านี้ร่วงลงอย่างมากเมื่อไม่นานมานี้ แม้ว่าหากดูจากเหตุการณ์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และความเสี่ยงของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แต่นักลงทุนก็ควรอดทนกับการมีหุ้นต่างประเทศในพอร์ตร่วมด้วย
Vanguard FTSE Developed Markets ETF (VEA) และ iShares Core MSCI EAFE ETF (IEFA) ของ BlackRock เป็นสองกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดที่มุ่งเน้นในตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าตลาดเกิดใหม่
สำหรับกรณีที่มุ่งเน้นลงทุนในกลุ่มสหรัฐฯ Armour ที่ Morningstar จับตามอง ETFs อย่าง Dimensional US Core Equity 2 ETF (DFAC) ซึ่งรวมบริษัทประมาณ 2,700 แห่งในหุ้นขนาดเล็กและหุ้นที่มีราคายังไม่แพง โดยกลยุทธ์ในการลงทุนตอนนี้สำหรับคำแนะนำคือ การสร้างสมดุลระหว่างการหาหุ้นมูลค่าที่ยังถูกและมีความสามารถในการทำกำไรได้
4. Factor-Based Funds กองทุนอีกประเภทหนึ่งซึ่งอิงตามปัจจัยหรือ smart beta ETFs นี้จะรวมหุ้นหรือพันธบัตรที่มีลักษณะการลงทุนบางอย่างไว้ ตัวอย่างเช่น กลุ่มหุ้นโมเมนตัมที่มีราคาและปริมาณการซื้อขายที่สูงขึ้นในช่วงเวลานั้น ในขณะที่กลุ่มหุ้นที่มีความผันผวนต่ำ จะมีการขยับตัวขึ้นลงของราคาหุ้นน้อยกว่าค่าเฉลี่ย เป็นต้น
Todd Rosenbluth หัวหน้าฝ่ายวิจัยของ VettaFi คาดว่า ETFs ประเภทจ่ายเงินปันผลจะได้รับความนิยมในปีนี้ ตัวเขาเองชอบกองทุนอย่าง Vanguard High Dividend Yield ETF (VYM) ซึ่งประกอบด้วยบริษัทที่มีอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงกว่าค่าเฉลี่ย และมีแนวโน้มที่จะอยู่ในภาคธุรกิจกลุ่ม Defensive sectors มากกว่า
สำหรับกลุ่มเทคโนโลยี ที่หากต้องการเพิ่มสัดส่วนในพอร์ตการลงทุนมากขึ้น แนะนำเป็น ALPS Sector Dividend Dogs ETF (SDOG) ซึ่งเป็นกองทุนที่รวมหุ้นกลุ่ม S&P500 ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด 5 ตัวใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมรวมไปถึงกลุ่มเทคโนโลยีและให้น้ำหนักที่ถือครองเท่าๆกัน
Rosenbluth กล่าวไว้ว่า Invesco S&P500 Low Volatility ETF (SPLV) อาจได้รับความนิยมมากขึ้นในปีนี้ กองทุนมูลค่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์เน้นไปที่ภาคส่วนที่มีความเสี่ยงน้อยกว่า อย่างเช่น สาธารณูปโภค สินค้าอุปโภคบริโภค และการดูแลสุขภาพ
ในขณะเดียวกัน iShares MSCI USAMinimum Votality Factor ETF (USMV) นำเสนอความหลากหลายมากขึ้นในภาคส่วนต่างๆ และกำหนดข้อจำกัดว่าน้ำหนักการลงทุนของแต่ละภาคส่วนจะสูงหรือต่ำอย่างไร แต่ก็มีน้ำหนักในส่วนการลงทุนในเทคโนโลยีรวมอยู่ด้วย ในขณะที่มีสัดส่วนพวกกลุ่ม Utilities น้อยกว่า ETFs อย่าง SPLV ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกหนึ่งที่ยอดเยี่ยมสำหรับผู้ที่ต้องการกลยุทธ์เชิงรับ แต่ยังมองหาโอกาสในการพลิกกลับของตลาดด้วย
20.04.2023