Written by : PocketInvestor x Liberator

หนึ่งในงานสำคัญของนักลงทุน VI คือ การศึกษาตัวเลขพื้นฐานกิจการผ่านการอ่านงบการเงิน เพราะ งบการเงินเป็นแหล่งข้อมูลเชิงปริมาณที่สามารถวัดผลลัพธ์เชิงคุณภาพของกิจการได้ดีที่สุด บนความเชื่อว่าราคาหุ้นในระยะยาวจะแปรผันตามผลกำไรของกิจการ

ดังนั้น เทคนิคการวิเคราะห์และทำความเข้าใจงบการเงินจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักลงทุน หนึ่งในวิธีที่เป็นที่นิยม คือ การวิเคราะห์ผ่านตัวเลขอัตราส่วนทางการเงิน (Financial Ratio) สามารถนำตัวเลขในงบการเงินตั้งแต่ 2 ตัวแปรขึ้นไปมาคำนวณเป็นสัดส่วน และนำไปเปรียบเทียบกับผลงานของกิจการในอดีต หรืเปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามสำหรับนักลงทุนมือใหม่หลายๆท่าน อาจจะเห็นตัวเลข Financial Ratio เหล่านี้เยอะแยะมากมาย จนอาจจะเกิดความสับสนว่า ควรจะดูตัวไหนบ้าง ก่อน-หลัง และมีประโยชน์อย่างไร วันนี้ จึงขอมาแนะนำ 5 Financial Ratio ที่คิดว่านักลงทุนสายพื้นฐาน ทุกคนต้องเข้าใจกันดีกว่าครับ จะมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันเลย

1. อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin)
อัตรากำไรขั้นต้น = กำไรขั้นต้น / รายได้

เป็นอัตรากำไรที่กิจการทำได้เบื้องต้นจากหลังหักต้นทุนขาย ใช้วัดความสามารถในการขายและความสามารถในการบริหารต้นทุนหลักของกิจการ ก่อนหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ

อัตรากำไรขั้นต้นยิ่งสูงนั้น หมายความว่าบริษัทสามารถกำหนดราคาขายได้สูงเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนหลัก อย่างไรก็ตามในแต่ละอุตสาหกรรมจะมีอัตรากำไรขั้นต้น สูง-ต่ำ ที่แตกต่างกัน เช่น ในธุรกิจร้านอาหาร อาจจะมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 60-70% เป็นต้น ซึ่งบริษัทที่ดีมักทำได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม

แต่สิ่งที่สำคัญกว่า คือ ความสม่ำเสมอและหากกิจการสามารถเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นได้อย่างยั่งยืนก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก

2. อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin)
อัตรากำไรสุทธิ = กำไรสุทธิ/ รายได้

เป็นอัตรากำไรที่กิจการทำได้หลังหักค่าใช้จ่ายออกไปทุกอย่างแล้ว ทั้ง ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร รวมถึงต้นทุนทางการเงิน อย่างดอกเบี้ยและภาษีจ่าย จึงเป็นผลประกอบการของกิจการที่แท้จริง

อัตรากำไรสุทธิยิ่งสูงนั้น เกิดขึ้นได้จากทั้งกิจการมีความสามารถในการสร้างอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงหรือสามารถบริหารค่าใช้จ่ายอื่นๆได้ดี ซึ่งสะท้อนมาจากทั้ง คุณภาพของอุตสาหกรรมเอง รวมถึงความสามารถในการแข่งขันที่กิจการมี

เช่นเดียวกับอัตรากำไรขั้นต้น สิ่งสำคัญกว่า คือ ความสม่ำเสมอและหากกิจการสามารถเพิ่มอัตรากำไรสุทธิได้อย่างยั่งยืนก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก

3. อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Asset Turnover)
อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม = รายได้ / สินทรัพย์รวม

เป็นอัตราส่วนที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการบริหารสินทรัพย์ให้เกิดรายได้ ยิ่งบริษัทไหนใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ได้ดี ก็มักจะมีตัวเลขอัตราส่วนนี้ที่สูง

โดยทั่วไปแล้วลักษณะกิจการที่เน้นด้านปริมาณขาย หรือกิจการที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนสินทรัพย์หนัก (Asset Light) มักจะสามารถสร้างอัตราหมุนเวียนต่อสินทรัพย์รวมได้สูง ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจค้าส่งที่เน้นการขายส่งปริมาณมากๆ โดย เงินลงทุนในสินทรัพย์หลักคือร้านค้าและคลังสินค้า ไม่จำเป็นต้องมีเครื่องจักรหนัก อาจจะมีอัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์รวมสูงเป็นหลายเท่า

ยิ่งบริษัทสามารถเพิ่มรายได้ โดย ไม่ต้องลงทุนสินทรัพย์ใหม่ๆ อัตราส่วนนี้จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นได้

4. อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt to Equity Ratio)
อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน = หนี้สินระยะยาว / ส่วนทุน

อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนหรือมักนิยมเรียกว่า D/E Ratio เป็นอัตราส่วนที่ใช้วัดความเสี่ยงทางการเงินของกิจการ โดย พิจารณาจากโครงสร้างทางการเงินหลักของกิจการทั้ง 2 ส่วน คือ หนี้สิน และส่วนของผู้ถือหุ้น

หลายๆกิจการ โดยเฉพาะกิจการที่อยู่ในช่วงการเติบโต (Growth Stage) มักจะมีการกู้ยืม เช่น การออกหุ้นกู้ หรือการขอกู้ยืมธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการเติบโต ซึ่งต้นทุนดอกเบี้ยจากการกู้ยืม มักมีอัตราที่ต่ำกว่าต้นทุนของส่วนทุน อย่างไรก็ตามการมีหนี้สินที่มากเกินไปก็มีความเสี่ยงในด้านโอกาสผิดชำระหนี้

D/E Ratio จึงเป็นอัตราส่วนสำคัญที่สะท้อนความเสี่ยงทางการเงินของกิจการ การที่งบการเงินของกิจการมีค่า D/E Ratio ที่สูงมากเกินไปนั้นจึงเป็นเรื่องอันตราย

5. อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (Return on Equity)
อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น = กำไรสุทธิ / ส่วนทุน

อัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น หรือมักนิยมเรียกว่า ROE เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้วัดความสามารถในการทำกำไร ซึ่งหากเป็นกิจการที่มีคุณภาพที่ดี ตัวเลข ROE มักจะมีค่าสูงต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งสะท้อนถึงการบริหารเงินทุนอย่างคุ้มค่า

ยิ่งมีค่า ROE สูง อาจจะสะท้อนถึงความสามารถในการเติบโตในอนาคตได้มาก เนื่องจากกิจการสามารถสร้างผลกำไรได้มาก ซึ่งผลกำไรเหล่านี้อาจจะเก็บสะสมไว้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนภายในที่ใช้ในการลงทุนใหม่ๆต่อไปได้ เป็นวัฏจักรความรุ่งเรืองของกิจการ

อย่างไรก็ตามในหลายๆครั้งตัวเลข ROE อาจจะสูงจากการกู้ยืมที่มากเกินไป หรือ อาจจะมีค่าสูงชั่วคราวจากภาวะผิดปกติที่ดีเกินไปในบางช่วงเวลา ดังนั้น สิ่งที่ควรจะต้องวิเคราะห์ควบคู่ไปกับตัวเลขทางการเงินเสมอ คือ สถานการณ์ทางธุรกิจและปัจจัยเชิงคุณภาพของกิจการ

เพื่อนๆคนไหนสนใจอยากวิเคราะห์งบการเงินด้วยตัวคุณเอง ลองเริ่มต้นจาก 5 อัตราส่วนทางการเงินนี้ครับ ถ้าลองแล้วเป็นอย่างไร อย่าลืมมาเล่าให้ฟังน้า

15.02.2023