Written by: #CreativeTone x #Liberator

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การลงทุนที่ยั่งยืนกำลังกลายเป็นเทรนด์การลงทุนของโลกในปัจจุบัน โดยส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมในการทำธุรกิจ ทำให้การลงทุนต้องคิดถึงการบริหารความเสี่ยงในด้านดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งเกี่ยวข้องแบบตรงๆ กับความสามารถในการแข่งขันและผลประกอบการทางการเงินด้วย

เพราะเหตุนี้เอง การลงทุนที่คำนึงถึงปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ควบคู่ไปกับผลการดำเนินงานทางการเงิน จึงกลายเป็นการลงทุนที่ยั่งยืน และกำลังได้รับความนิยมมาก อย่างไรก็ดี กับการลงทุนแบบดังกล่าวก็ยังมีนักลงทุนบางคนที่เข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่ ซึ่งในโพสต์นี้ Liberator ได้สรุป 5 ความเข้าใจผิดๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุนที่ยั่งยืนมาให้

1) ก็แค่เทรนด์ระยะสั้น

หลายคนอาจเข้าใจผิด คิดว่าการลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นเพียงกระแสที่มาประเดี๋ยวประด๋าว แต่รู้หรือไม่ว่า การลงทุนที่ยั่งยืนนั้น ได้รับความสนใจมานานหลายสิบปีแล้ว

ทุกวันนี้ เม็ดเงินลงทุนในตลาดทุนทั่วโลกยังไหลเข้ากองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Funds) อย่างต่อเนื่อง แถมเทรนด์ดังกล่าวก็ยังไม่มีทีท่าจะแผ่วลงเลย กลับกัน มีแต่จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะได้รับความสนใจของนักลงทุนรุ่นใหม่

The Morgan Stanley Institute for Sustainable Investing สำรวจนักลงทุนกลุ่ม Millennials ในสหรัฐอเมริกา พบว่า 95% ให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืน

ขณะที่ DeVere Group สำรวจนักลงทุนกลุ่ม Millennials ทั่วโลกจำนวน 1,125 คน พบว่า 77% ให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืนเช่นกัน

2) ให้ผลตอบแทนน้อย

ในสายตาของบางคน การลงทุนที่ยั่งยืนเป็นเสมือนการมองโลกสวย และให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ แต่ถึงอย่างนั้น เมื่อมองจากข้อมูลจะพบว่า การลงทุนอย่างยั่งยืนอาจช่วยเพิ่มโอกาสด้านผลตอบแทนในระยะยาว และลดความเสี่ยงกับความผันผวนจากการลงทุนได้

ทั้งนี้ หากดูจากสถิติของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กราฟแสดงข้อมูลเปรียบเทียบการเคลื่อนไหวของดัชนี SET และ SET100 ที่ไม่ได้เน้นเรื่องความยั่งยืน กับดัชนี SETTHSI ที่เน้นคัดหุ้นยั่งยืน พบว่า ดัชนี SETTHSI มีทิศทางการเคลื่อนไหวเหนือ SET และ SET100 ด้วย

3) ทางเลือกมีจำกัด

การลงทุนที่ยั่งยืนนั้น ไม่ได้มีทางเลือกที่จำกัดอย่างที่หลายคนคิด ตรงกันข้าม กลับมีผลิตภัณฑ์มากมายที่พร้อมให้นักลงทุนเลือกลงทุนอย่างยั่งยืนได้

ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ESG เช่น รายชื่อหุ้นยั่งยืนใน Thailand Sustainability Investment (THSI), ดัชนี ESG เช่น ดัชนี SETTHSI, DJSI, MSCI ESG, FTSE4Good, กองทุนรวมหุ้น ESG และกองทุนรวมหุ้น CG รวมถึงตราสารหนี้ ESG เช่น ตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond), ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) เป็นต้น

4) ซับซ้อนและยุ่งยาก

การลงทุนอย่างยั่งยืนไม่ได้ซับซ้อนและยุ่งยากเลย เพราะปัจจุบันมีข้อมูลหลากหลายแหล่งที่นำมาใช้ประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนได้ เช่น ข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนเอง ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นตามความต้องการของผู้ใช้ข้อมูลและกฎเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับต่างๆ

นอกจากนี้ บริษัทจดทะเบียนไทยก็ต้องเปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนตามเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนมีข้อมูลในการตัดสินใจลงทุนมากขึ้นด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น ทุกวันนี้ก็มีผู้ประเมินข้อมูลด้านความยั่งยืน (Raters) อีกหลายร้อยแห่ง ที่ทำหน้าที่ประเมินหรือให้คะแนนบริษัทจดทะเบียน โดยดูจากข้อมูลผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนอีกต่างหาก

5) เหมาะกับนักลงทุนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

การลงทุนอย่างยืนไม่ได้เหมาะกับนักลงทุนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น อันที่จริง นักลงทุนกลุ่มอื่น ๆ ก็ให้ความสนใจมากเช่นกัน

The Great British Retirement Survey พบว่า 50% ของนักลงทุนวัยเกษียณในอังกฤษ ให้ความสำคัญกับการลงทุนอย่างยั่งยืน ขณะที่ผลสำรวจของ Bank of America พบว่า นักลงทุนกลุ่ม Gen X ก็สนใจลงทุนอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ จากการศึกษาของ KPMG ยังพบว่า นักลงทุนกลุ่มหลักที่มุ่งเน้นลงทุนอย่างยั่งยืนคือนักลงทุนสถาบัน ซึ่งสอดคล้องกับในประเทศไทย ซึ่งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และนักลงทุนสถาบันกว่า 30 แห่ง ได้ประกาศความร่วมมือที่จะลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบด้วย

====

ข้อมูลที่มา
> https://www.setinvestnow.com/.../239-5-misunderstandings...

04.06.2023