Written by: #StockVitamins x #Liberator




M&A ย่อมาจาก Merger and Acquisition




  • Merger คือ การรวมกิจการกันของ 2 บริษัท หรือมากกว่า ให้เหลือเพียงบริษัทเดียว เช่น TMB รวมกับ TBANK กลายเป็น TTB หรือ TRUE รวมกับ DTAC กลายเป็น TRUE ที่ใหญ่ขึ้น

  • Acquisition คือ การที่บริษัทหนึ่งซื้อกิจการอีกบริษัทหนึ่งเข้ามาเป็นของตัวเอง เช่น CPALL ซื้อMAKRO และ LOTUS


เพราะฉะนั้น การทำ M&A ก็คือ การขยายขนาดของกิจการให้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วโดยการรวมพลังของกิจการอื่นเข้ามา


แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า การทำ M&A นั้นส่งผลดีหรือผลเสีย เราต้องดูแบบนี้ครับ




  1. Synergy 1+1 = 3


รวมกันแล้วต้องดีกว่าเดิม ทั้งรายได้ ต้นทุน กำไร โดยอาศัยความสามารถ ข้อได้เปรียบ อำนาจการต่อรองจากทั้งสองบริษัทเข้าด้วย เช่น




  • เพิ่มฐานลูกค้าใหม่ เช่น CPN ซื้อ SF ได้ศูนย์การค้าใหม่เข้ามาเพิ่ม ได้ลูกค้าในทำเลใหม่ที่ห้างเดิมเข้าไม่ถึง หรือ Facebook ซื้อ IG ก็เป็นการขยายฐานลูกค้าใหม่ เป็น social platform เหมือนกัน แต่ลูกค้าคนละกลุ่มกัน

  • ลดต้นทุนได้ เช่น BDMS มีโรงพยาบาลในเครือมากมายทั้งสมิติเวช พญาไท เปาโล BNH และหลายแห่งก็เกิดจากการควบรวมกิจการเข้ามา การลดต้นทุนก็จะเกิดจากการที่มีโวลุ่มสั่งยา อุปกรณ์การแพทย์เยอะ หรือลดจำนวนพนักงานที่ซ้ำซ้อนกันได้

  • ขยายไปในธุรกิจใหม่ที่ไม่คุ้นเคย เช่น GULF ซื้อ INTUCH จากเคยทำแต่โรงไฟฟ้า ก็ซื้อกิจการเพื่อเข้าสู่ธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคมได้ทันที

  • ได้ know how ได้คนเก่งเข้ามาในทีม เช่น Disney ซื้อ Pixar และ Marvel เข้ามา ก็ได้ทีมการผลิตภาพยนตร์มากฝีมือเข้ามาด้วยไปในตัว



  1. Take Over ทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม


ส่วนมากบริษัทที่เราจะซื้อเข้ามามักจะแย่กว่าเรา เช่น รายได้อาจจะน้อยกว่า มาร์จิ้นน้อยกว่า เจ้าของอาจจะอิ่มตัวอยากเลิกกิจการ


นั่นแปลว่า บริษัทผู้ซื้อต้องมองเห็นแล้วว่า เราอาจจะได้รายได้ของบริษัทใหม่เข้ามาเพิ่ม แต่มาร์จิ้นอาจจะลดลง บริษัทต้องมีวิธีในการเข้าไปพัฒนาปรับปรุงให้ธุรกิจนั้นดีขึ้นถึงจะคุ้มค่า เช่น




  • IP ซื้อ Lab Pharmacy ร้านขายยาที่ขาดทุนช่วง COVID เพราะเปิดในห้างเยอะ พอซื้อมามีการปรับปรุงทั้งหน้าร้าน หลังร้าน เปิดสาขามากมาย ตอนนี้เริ่มทำกำไรได้แล้ว

  • MINT ซื้อ BONCHON เป็นร้านอาหารที่เติบโตดี แต่ MINT เอามาขยายต่อไม่ใช่แค่ขายไก่ทอด วันนี้กลายเป็นร้านอาหารเกาหลีไปแล้ว

  • BBIK, BE8 ที่ซื้อธุรกิจกลุ่มเทคมากมายทุกปี รายได้เพิ่ม มาร์จิ้นลด แต่ก็พยายามขยายสเกล ใช้คนร่วมกัน ขยายงานข้ามไปมาระหว่างกัน ทำกำไรสุทธิให้เติบโต



  1. ซื้อเพื่อกำจัดคู่แข่ง


พูดแบบโหดร้าย คือ ซื้อมาเพื่อฆ่าทิ้ง เนื่องจากเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งในตลาด ถ้าอยู่ด้วยกันก็มีแต่แข่งกันตลอดเวลา เป็นเสี้ยนหนามการเติบโต บางทีเข้าไปซื้อกิจการมาเลยทีเดียว อาจจะคุ้มค่ากว่าในระยะยาว เช่น




  • วอลล์ ซื้อ โฟร์โมสต์ เพื่อก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ตลาดไอศกรีมในประเทศไทย และเลิกขายโฟร์โมสต์ไป

  • Big C ซื้อ คาร์ฟูร์ ทำให้จำนวนห้างค้าปลีกแบบ Super/Hypermarket เพิ่มขึ้นมาเกือบเท่าตัว และหลังจากนั้นก็เปลี่ยนชื่อเป็น Big C ทั้งหมดแทน

  • Grab ซื้อ Uber ในอาเซียน และยกเลิกการทำตลาดในภูมิภาคนี้ เพื่อที่จะได้เป็นผู้นำอย่างแข็งแกร่งแทน


 

เพราะฉะนั้น วิธีการดูง่ายๆ ว่า ดีล M&A แบบไหนล้มเหลว คือ ดูผลลัพธ์ที่ว่า




  • ซื้อมาแล้ว ลูกค้าทับซ้อนกัน รายได้เพิ่มไม่มาก กำไรก็เพิ่มไม่มาก แบบนี้ไม่คุ้ม

  • ซื้อมาแล้ว เข้ากับทีมใหม่ไม่ได้ ปรับโครงสร้างทั้งคน ทั้งเครื่องจักร อะไรไม่ได้เลย กำไรทั้งมาร์จิ้นและตัวเงินโดนฉุดลงไปอีก แบบนี้ก็ไม่เกิดประโยชน์

  • ซื้อมาเพื่อฆ่าทิ้ง แต่กลายเป็นว่า ลูกค้าก็ไม่ได้มาแบรนด์เรา กลับกระจายไปหาแบรนด์อื่นๆ หมด แบบนี้ก็ยิ่งแย่


M&A ถ้าเลือกถูกกิจการ ทำถูกวิธี ก็เกิดประโยชน์มหาศาล แต่ถ้าควบรวมเพียงเพราะคิดว่าจะโตได้ไว แต่ไม่ได้ดูรายละเอียดข้างในให้ดี สุดท้ายก็อาจจะไม่คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่ลงทุนไป เสียทั้งเงิน เสียทั้งเวลา และอาจจะเสียมูลค่าตลาดไปอีกด้วย