บทความ LIB Learn เดิม
ปัญหาที่โลกอยากออก แต่ไทยอยากเข้า? ความมั่นคงการเงินของเราในอนาคต
Written by: #MoneyDisruptor x #Liberator
ว่าที่รัฐบาลไทยชุดใหม่ ประกาศแนวทางบริหารประเทศผ่าน MOU 23 ข้อ
ข้อที่น่าสนใจ คือ ข้อ 14 ที่ว่า
“สร้างระบบสวัสดิการดูแลประชาชน ตั้งแต่เด็กแรกเกิดจนถึงผู้สูงวัย โดยคำนึงถึงความเหมาะสม และภาระทางการคลังระยะยาว”
เกิดอะไรขึ้นก้บ “ภาระทางการคลังระยะยาว” ของหลายประเทศทั่วโลกที่ดำเนินนโยบายนี้?
. . .
ช่วง 70 ปี เศรษฐกิจ US ผ่านมาหลาย Boom ตั้งแต่ Baby Boom => Reagan Boom => Tech Boom และมาถึงรุ่งอรุณของ AI Boom
แต่ด้านประชากร US กลับเริ่มเข้าสู่ยุค Grey Boom = คนมีอายุขัยยืนยาวขึ้น จนสร้างปัญหาการเงินกับประเทศ
งบสวัสดิการผู้สูงวัยใน US ถูกมองว่าเป็น "สิทธิ" (entitlement) จึงไม่มีประธานาธิบดีคนไหนกล้าตัด เพราะกลัวเสียคะแนนเสียง
ปัจจุบัน US ต้องใช้จ่ายถึง 40% ของภาษีที่เก็บได้ทั้งหมด ไปกับสวัสดิการผู้สูงวัย และเหลือใช้จ่ายแค่ 7% ไปกับด้านการศึกษา
แต่ US “มีความพิเศษเฉพาะตัว” ในการหาเงินมาจ่าย ผ่านการพิมพ์ US Dollar ได้เรื่อยๆ ถ้าสามารถขยับเพดานหนี้ตามได้
ความมั่นคงของ US จึงตั้งอยู่บนความเชื่อมั่นของ US Dollar ที่จะไม่ยอมให้พังทลายจากความเสี่ยงใดๆ
. . .
แต่ประเทศอื่น ไม่มี “ความพิเศษเฉพาะตัว” แบบ US การหาเงินมาจ่ายสวัสดิการ ย่อมหนีไม่พ้นการขึ้นภาษี และการกู้ยืมเงินเพิ่มขึ้น
จึงเริ่มเกิดกระแสต่อต้านของคนวัยหนุ่มสาว ที่ต้องทำงานจ่ายภาษีสูงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อนำมาส่งเป็นสวัสดิการคนสูงวัย
* S&P กล่าวว่า ภายในปี 2060 ปัญหาจากสวัสดิการผู้สูงวัย จะทำให้เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกครึ่งนึง เครดิตถูกลดอันดับสู่ “ระดับขยะ (Junk)” หรือเสี่ยงต่อการล้มละลาย เรียกกันว่า Pensions Time Bomb *
แต่ถึงรู้เช่นนี้ ก็แทบไม่มีรัฐบาลไหนกล้าตัด หรือปรับลดสวัสดิการอย่างราบรื่น ล่าสุดคือประท้วงเผาเมืองจากนโยบายขยายอายุเกษียณของฝรั่งเศส
หนึ่งใน “ท่าจบ” ของนโยบายนี้ จึงมักเกิดขึ้นเมื่อประเทศไม่มีเงินมาชำระหนี้จนล้มละลาย สิ่งแรกที่ IMF บังคับให้ตัดก่อน คืองบสวัสดิการผู้สูงวัย (Greece Model)
ผลที่ตามมาคือ ประชาชนจะใช้ชีวิตลำบาก เพราะที่ผ่านมาเคยแต่พึ่งพิงเงินจากรัฐตลอด
มีเพียงประเทศแถบ Scandinavia ที่ไม่เจอปัญหานี้เพราะมีโครงสร้างเศรษฐกิจต่างกับที่อื่น มี GDP สูง และประชากรน้อยมาก (5-10 ล้าน)
% Pensions/GDP
Greece 16%
Italy 15%
Norway 7%
Sweden 7%
. . .
ประเทศไทย ยังหาตัวตนไม่เจอว่าจะ Boom ทางไหน แต่ก็กำลังเข้าสู่ยุค Grey Boom แล้ว
ภายใน 20 ปี คนไทยอายุมากกว่า 60 จะเพิ่มจาก 12 ล้านคนเป็น 20 ล้านคน (จาก 19% ของประชากรเพิ่มเป็น 31%) ขณะที่สัดส่วนคนวัยทำงาน "เดอะแบก" จะลดลง จาก 43 ล้านคนเหลือ 36 ล้านคน (จาก 65% จะเหลือ 56%)
อีกนัยนึง
จากคนทำงาน 3.6 คน ต่อ ผู้สูงอายุ 1 คน
จะเหลือคนทำงานเพียง 1.8 คน ต่อผู้สูงอายุ 1 คน
* การเพิ่มงบสวัสดิการผู้สูงวัย ยิ่งทำให้ "เดอะแบก" ที่ต้องทำงานหนักอยู่แล้ว ต้องแบกหนักขึ้นไปอีก จากภาษีที่ต้องสูงขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม (การขึ้นภาษีบริษัท ทำให้ต้องปรับราคาสินค้าขึ้น) *
สมมุติถ้าไทย จ่ายสวัสดิการผู้สูงวัยเพิ่มเป็น 3,000บาท/เดือน = รัฐมีภาระ 4 แสนล้าน/ปี
ซึ่งเงินจำนวนเดียวกันนี้ สามารถนำไปพัฒนาประเทศด้านอื่นอีกมาก ในเวลาที่บ้านเราโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ครบ เช่น สร้างถนน รถไฟ โรงพยาบาล สนามบิน ซึ่งล้วนแต่ก่อให้เกิดการจ้างงาน & ขยายตัวเศรษฐกิจ
แต่สวัสดิการผู้สูงวัย ไม่เกิดการจ้างงานใหม่, ต้องจ่ายเพิ่มทุกปี, ขึ้นภาษี, กู้ยืมเพิ่ม, และอาจต้องลดการลงทุนพัฒนาด้านอื่น = ยิ่งทำให้เศรษฐกิจโตช้าไปอีก
ปัญหานี้ ก็ “Pension Time Bomb" ที่ทั่วโลกอยากหาทางออก แต่ไทยอยากหาทางเข้าครับ
. .
ถ้าไทยจะเพิ่มสวัสดิการผู้สูงวัย “โดยคำนึงถึงความเหมาะสม และภาระทางการคลังระยะยาว” มีข้อแนะนำ ดังนี้ครับ
1. ตั้งเพดานงบรวมของสวัสดิการ โดยยึดโยงกับสถานการเงินของประเทศในแต่ละปี (variable benefit, not fixed entitlement) เช่น งบรวมโครงการต้องไม่เกิน x% Tax ที่เก็บได้ และหนี้สินประเทศไม่เกิน x% GDP
2. ช่วยเหลือแบบ “เจาะจง” ให้เฉพาะคนที่เดือดร้อนจริงๆ โดยคัดแยกฐานข้อมูล (Sub-segment) จากเงินในสถาบันการเงินหรือสวัสดิการอื่นที่มีอยู่ ถ้าลดจำนวนผู้ที่ไม่จำเป็นต้องรับสวัสดิการลงได้ รัฐจะมีเงินเหลือไปพัฒนาประเทศด้านอื่นอีกหลายแสนล้านบาท
3. ส่งเสริมการจ้างงานผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น (Elderly Employment) โดยรัฐให้สิทธิพิเศษนายจ้างมารูปแบบต่างๆ ทำให้ผู้สูงวัย เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ สร้างความภูมิใจต่อตนเองและส่วนรวม
4. ขยายอายุเกษียณเพิ่มขึ้น มากกว่า 60 ปี ตามช่วงชีวิตของคน Life Expentency (LE) ที่ยาวนานขึ้น (Denmark model) ตามสถิติจาก 100yearlife
คนเกิดปี 1947 มีอายุเฉลี่ย 85 ปี
เกิดปี 1977 จะมีอายุเฉลี่ย 94 ปี
เกิดปี 2007 จะมีอายุเฉลี่ย 103 ปี
5. ตั้งกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ Severeign Wealth Fund (Norway Model) ให้ทุกคนถือหุ้นเท่ากัน แต่ให้สัดส่วนปันผลมากขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลมีโครงการ “เข้าถึงแหล่งรายได้ใหม่” ดันเศรษฐกิจนอกระบบให้เข้ามาในระบบ ที่มีมากถึง 46% ของ GDP
. . .
ทางแก้ปัญหา Grey Boom ระยะยาวที่ดีที่สุดคืออะไร?
คือการส่งเสริมให้ประชากร “ส่วนใหญ่” สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง รัฐจะได้ไปช่วยเหลือกับประชากร “ส่วนน้อย” ที่ลำบากจริงๆ
World Econ Forum วิเคราะห์ว่า แม้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เงินสวัสดิการผู้สูงวัยที่รัฐให้ ก็ไม่พอค่าใช้จ่ายในอนาคตอยู่ดี ส่ิงที่ปิด Gap เงินหลังเกษียณได้ดีที่สุดมาจาก “การลงทุน” ขณะที่ทำงานอยู่
ซึ่งการลงทุนระยะยาวที่ดีที่สุด คือลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเฉพาะในสกุลเงินที่เราต้องใช้ยามเกษียณ
* คำตอบที่ถูกทางของปัญหา Grey Boom คือ การจัดสรรงบเน้นไปเพื่อขยายเศรษฐกิจให้เติบโตต่อเนื่อง และส่งเสริมตลาดทุนในประเทศ ในฐานะแหล่งสร้างความมั่งคั่งในระยะยาว *
ถ้าคนพึ่งตัวเองได้ การพึ่งพารัฐย่อมน้อยลง
ปัจจุบัน มีคนไทยลงทุนในตลาดหุ้นเพียง <5% ของประชากร เทียบกับเศรษฐกิจพัฒนาแล้วอย่าง US 58% และ Singapore มีถึง 83%
ในขณะที่มีนักลงทุนยังไม่มาก ความรู้ด้านการลงทุนน้อย และดอกเบี้ยเงินฝากต่ำติดดิน ถ้ารัฐจะมีนโยบายที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์ในตอนนี้ จะส่งผลเสียทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
เพราะจะไม่เหลือแหล่งลงทุน ที่ให้ผลตอบแทนเพียงพอต่อการเกษียณในอนาคตครับ!
. . .
คำแนะนำสำหรับเราๆคืออะไร?
เพราะบทเรียนจากทั่วโลกแสดงให้เห็นว่า ไม่มีสวัสดิการไหนที่ยั่งยืนเพียงพอ ถ้าแสวงหาชีวิตที่มั่นคง ควรเริ่มวางแผนการเงินการลงทุนด้วยตัวเองตอนนี้เลย
ในวันนึง ที่เราอายุ 60 และอาจจะอยู่ถึง 100 ปี วันนั้นที่พึ่งสำคัญที่สุดก็คือ “เงินลงทุนของเรา” ที่สร้างสะสมไว้ในวันนี้
“นกที่เกาะบนกิ่งไม้ ไม่เคยกลัวว่ากิ่งจะหัก เพราะมันเชื่อมันในปีกของตัวเองครับ”