Written by: #StockVitamins x #Liberator

“ขายดีจนเจ๊ง”

หลายคนอาจเคยเห็นหลายกิจการขายดิบขายดี แต่พอเวลาผ่านไปไม่นาน อ้าว ปิดกิจการไปแล้ว เราก็งงว่าขายดีแบบนั้น ไม่น่าเจ๊งเลย พอไปถามคนแถวนั้น เค้าก็บอกว่า เฮียแกหมุนเงินไม่ทัน

ปัญหาที่ว่านี้เป็นเรื่องของสภาพคล่อง เกี่ยวกับการหมุนเงินในการซื้อวัตถุดิบมาผลิต มาขาย บางทีเงินจมต้องจ่ายเงินให้ supplier ไปก่อน กว่าจะได้เงินจากการขายใช้เวลานาน หมุนเงินไม่ทันต้องไปกู้เงินมาซื้อวัตถุดิบเพิ่ม แล้วก็รอผลิต รอขายให้ได้เงินกลับมา รอบของเวลาไม่สัมพันธ์กัน สรุปต้องปิดกิจการทั้งๆ ที่ขายดีเทน้ำเทท่า

เรื่องราวที่ว่านั้นเกี่ยวข้องกับคำว่า “วงจรเงินสด” หรือ “Cash Cycle”

วงจรเงินสด คือ ระยะเวลาที่เงินเราหมุนออกไปซื้อของ มาผลิต มาขาย จนเก็บเงินกลับมาหาเราได้ ใช้เวลานานเท่าไหร่ กี่วัน กี่เดือน หรือเป็นปี

วิธีการคำนวณ คือ ระยะเวลาขายสินค้า + ระยะเวลาเก็บหนี้ – ระยะเวลาจ่ายหนี้

ตัวอย่าง ไปซื้อแชมพู สบู่ ยาสีฟัน มาวางขายที่ร้าน ยังไม่ต้องจ่ายเงิน เพราะร้านเราสาขาเยอะ supplier ให้เครดิต 55 วัน วางของขายแค่ 30 วัน ก็มีคนมาซื้อไปเรียบร้อย แถมลูกค้าจ่ายเงินสดให้เราด้วยแปลว่าได้เงินภายใน 1 วัน

กรณีนี้ วงจรเงินสด = 30 + 1 - 55 = -24 วัน

วงจรเงินสดติดลบ 24 วัน ตัวเลขติดลบได้นะ ไม่ได้คำนวณผิด แปลง่ายๆ ได้ว่า เอาเงินเค้ามาก่อน ค่อยจ่ายคืนทีหลัง ขายของเก็บเงินสดได้ไว สภาพคล่องสูง จะเอาเงินนั้นไปหมุนต่อ ไปลงทุน ไปจ่ายปันผล ก็เลือกได้
ตัวเลขที่เอามาให้ดูนี้ คือ CPALL ทำธุรกิจร้านค้าปลีกนั่นเอง

อีกตัวอย่างนึง ไปซื้อผ้า ด้าย กระดุม ซิป supplier ใจดีกว่าอีก ให้เครดิต 109 วัน แต่รอบนี้ต้องเอาเข้าโรงงานตัดเย็บจะทำเสื้อ กางเกง แล้วเอาไปวางขายที่หน้าร้านของตัวเอง ใช้เวลา 372 วัน นานมาก เพราะว่าทำหลายสี หลายไซส์ ลูกค้าทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้ชาย ผู้หญิง แต่พอขายได้ ก็เก็บเงินได้ไวนะ 23 วันเท่านั้น

กรณีนี้ วงจรเงินสด = 372 + 23 - 109 = 286 วัน

วงจรเงินสดเป็นบวก 286 วัน ตัวเลขเป็นบวก แต่นานมากเลยนะ เกือบ 10 เดือน ตัวอย่างนี้ คือ MC โรงงานผลิตและมีร้านของตัวเองในการขายกางเกงยีนส์ ตอนซื้อของ ตอนเก็บเงินไม่เท่าไหร่ แต่ตอนผลิต เก็บสต๊อกหลายแบบ กว่าจะขายหมด กินเวลานานมาก ธุรกิจแบบนี้ถ้าเงินสดในมือไม่เยอะ หรือออกสินค้า new collection ไม่ปัง เหนื่อยเลยนะ

.
โดยสรุป วิธีการแปลความหมายวงจรเงินสด มีดังนี้

1. ตัวเลขยิ่งน้อยยิ่งดี

แสดงถึงการบริหารเงิน หมุนเงินได้ดี ซึ่งตัวเลขที่น้อยอาจจะมาจาก เก็บเงินได้ไว จ่ายเงินเจ้าหนี้ช้า ได้เครดิตนาน หรือสินค้าขายคล่องไม่ต้องเก็บสต๊อกเยอะ ก็เป็นได้

2. ตัวเลขเป็นศูนย์ได้ ติดลบได้ ยิ่งติดลบมากยิ่งดี

เหมือนตัวอย่าง CPALL ซื้อของเขามาขายที่ร้านเรา คนเดินเข้า 7-11 ปุ๊บ จ่ายเงินปั๊บ แล้วก็ไม่ต้องรีบเอาเงินไปจ่ายเจ้าหนี้ด้วย แบบนี้ คือ สภาพคล่องสูงมาก เรามักจะพบเจอกับธุรกิจค้าปลีกเจ้าใหญ่ หรือโรงพยาบาล สภาพคล่องก็จะดีมาก

3. ตัวเลขมีค่ามาก สะท้อนปัญหาสภาพคล่อง

โรงงานผลิต ร้านเสื้อผ้า รองเท้า อสังหาริมทรัพย์ เป็นกลุ่มที่สต็อคสินค้าเยอะ หลายแบบ กว่าจะขายของได้กินเวลานาน นึกถึงคอนโดก็ได้จะเห็นภาพชัดกว่าจะปิดโครงการใช้เวลาเป็นเดือนเป็นปี ธุรกิจแบบนี้ต้องมีเงินทุนเยอะเอาไว้เผื่อฉุกเฉิน หรือเอาไว้ลงทุนต่อเนื่องได้ ไม่อย่างนั้นอาจเจอปัญหาสภาพคล่องหมุนเงินคืนหนี้ไม่ทัน

4. อย่าเปรียบเทียบข้ามอุตสาหกรรม

เราจะเห็นแล้วว่า ร้านค้าปลีกมีวงจรเงินสดติดลบ โรงงาน อสังหา ร้านเสื้อผ้า วงจรเงินสดนาน เราไม่ควรที่จะบอกว่า ร้านค้าปลีกดีกว่า เพราะรูปแบบการทำธุรกิจแตกต่างกัน เราควรเปรียบเทียบในธุรกิจที่เหมือนกัน ดูว่าทำไมขายของเหมือนกัน เขาขายได้ไวกว่าเรา ทำไมเจ้าหนี้ให้เครดิตนานกว่าร้านเรา เป็นต้น

วงจรเงินสดเป็นเรื่องสำคัญ เป็นตัวเลขชี้เป็นชี้ตายในการอยู่รอดของธุรกิจเลยทีเดียว สิ่งที่เราอยากเห็น คือ พัฒนาการที่ดีขึ้นในแต่ละด้านอย่างเหมาะสม เช่น ขายของได้ไวขึ้น ไม่ต้องสต๊อกเยอะ เก็บเงินได้เร็ว ได้เครดิตเทอมนานขึ้น ตัวเลขก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ สภาพคล่องก็ดีขึ้น แล้วต่อไปเราก็จะได้ ขายดีแบบไม่ต้องกลัวเจ๊งอีกต่อไป