Written by : #MacroView x #liberator





แต่ไหนแต่ไรมา เศรษฐกิจจีนขึ้นชื่อว่าเป็นตัวที่คอยประคองสถานการณ์ในทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง วิกฤตซับไพร์ม หรือแม้แต่วิกฤตโควิด 19 ช่วงต้นๆในรอบนี้





อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่หลังวิกฤตยุโรปเริ่มจะซาลงเมื่อกว่า 7-8 ปีก่อน จะเห็นได้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจจีนเริ่มจะชะลอตัวลงอย่างชัดเจน จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจจีนที่เคยเติบโตเป็นตัวเลขระดับสองหลัก ก็เริ่มจะลดลงมาเรื่อยๆ จนในตอนนี้ เราพูดกันถึงอัตราการเติบโตของจีดีพีของจีนที่ร้อยละ 3 กันแล้ว บทความนี้จะขอตอบคำถามที่ว่าแล้วเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้ และมีความเป็นไปได้ไหมที่เศรษฐกิจจีนจะกลับมาเติบโตได้อย่างรวดเร็วอีก รวมถึงหลังจากที่ สี จิ้น ผิง ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำของจีนในวาระที่ 3 เป็นที่เรียบร้อย โฟกัสของเศรษฐกิจจีนจะไปเน้นตรงจุดไหน





หากย้อนไปสู่จุดเริ่มต้นของพัฒนาการทางเศรษฐกิจยุคใหม่ของจีนที่เริ่มมีความจริงจังของการเติบโตแบบก้าวกระโดด ก็ต้องกลับไปในทศวรรษที่ 70 ในสมัยของเติ้ง เสี่ยว ผิง ที่เริ่มแนวคิดทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ว่า “หนึ่งประเทศ สองระบบ” นั่นคือ ประชาชนชาวจีนยังถูกคงปกครองภายใต้ระบบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ทว่าการบริหารเศรษฐกิจใช้ระบบกลไกตลาดแบบเสรี โดยระหว่างปี 1978-2014 อัตราการเติบโตเศรษฐกิจจีนสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เป็นระยะเวลาถึงกว่า 30 ปีนั้น สาเหตุหลักเกิดจากประเทศจีนไม่ได้มีการก่อสร้างแบบเมกะโปรเจคต์หรือแนวโครงสร้างพื้นฐานมากว่าร้อยปี หลังจากที่ปกครองด้วยระบบคอมมิวนิสต์มาหลายสิบปี ทำให้ทันทีที่มีนโยบายการเปิดประเทศและมีการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ต่างๆทั่วประเทศ จึงทำให้ระดับอัตราผลตอบแทนของโปรเจคต์ต่างๆที่ได้จากการลงทุนสูงกว่าระดับต้นทุนทางการเงินอย่างมหาศาล นั่นส่งผลให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีของจีนสามารถเติบโตได้แบบสองหลักเป็นเวลากว่า 30 ปี เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วประเทศอั้นการเติบโตมาเป็นระยะเวลายาวนาน





อย่างไรก็ดี เนื่องจากจีนใช้ระบบการปกครองแบบสังคมนิยม จึงทำให้ภาครัฐมีส่วนร่วมต่อการลงทุนผ่านรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจต่างๆในช่วงกว่า 30 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก โดยในขณะที่อยู่ในช่วงเริ่มๆของการพัฒนาเศรษฐกิจ แม้รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจต่างๆของจีนจะลงทุนในโครงการที่ไม่ได้มีมูลค่าเพิ่มมากนัก ก็ไม่ได้ส่งผลต่ออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจีนมากสักเท่าไหร่ เนื่องจากการลงทุนของฝั่งเอกชนทำได้ดีมากจนสามารถกลบประสิทธิภาพการลงทุนที่ไม่สู้ดีนักของด้านภาครัฐได้





ทว่านับตั้งแต่ 10 ปีที่ผ่านมา การลงทุนจากรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐวิสาหกิจต่างๆเริ่มจะก่อให้เกิดหนี้เสียมากขึ้นเนื่องจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของโครงการอสังหาริมทรัพย์และโปรเจคต์ด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เริ่มทับซ้อนกับของเดิม ประกอบกับแม้แต่โครงการที่ลงทุนโดยภาคเอกชนจีนเอง ก็เริ่มจะไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มแบบมากมายเหมือนสมัยก่อน ทั้งหมดนี้ จึงส่งผลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีนชะลอลงมาเรื่อยๆจนเหลือร้อยละ 3 ซึ่งโดนผลกระทบจากการล็อคดาวน์โควิด-19 ด้วย สำหรับช่วงนี้ในที่สุด





คำถามคือแล้วรัฐบาลจีนจะมีแนวนโยบายที่จะจัดการกับสถานการณ์นี้ต่ออย่างไร? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ของครั้งที่ 20 ของจีนได้เสร็จสิ้นลง พร้อมกับสี จิ้น ผิง ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำของจีนในวาระที่ 3 นั้น ได้มีการส่งสัญญาณอะไรออกมา สำหรับโฟกัสการเติบโตเศรษฐกิจจีนในช่วงต่อไปหรือไม่จากผู้นำจีน?





ในประเด็นนี้ ผมมองว่า สี จิ้น ผิง ได้พยายามสื่อต่อชาวโลกว่า เศรษฐกิจจีนในก้าวย่างต่อไป จะเน้นอยู่บนหลักการ 3 ข้อ ได้แก่ “คุณภาพของการเติบโตเศรษฐกิจ” “การบริโภคของประชาชนผ่านการส่งผ่านสวัสดิการที่ส่งเสริมคนรุ่นต่อไป” และ “การลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆ” ภายใต้นโยบายความมั่งคั่งร่วมกัน หรือ Common Prosperity





เริ่มจาก “คุณภาพของการเติบโตเศรษฐกิจ” คำถามคือ เศรษฐกิจจีนจะสามารถเติบโตได้ดีอย่างที่ผ่านมาหรือไม่ หากทำการยกเลิกการลงทุนโครงการที่ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มของภาครัฐ หรือยกเลิกโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่หลายแห่งที่ไม่ได้สร้างมูลค่าเพิ่มที่คุ้มค่า?





คำตอบที่สี จิ้น ผิง กล่าวเป็นนัยออกมา อาจจะทำให้หลายท่านเซอร์ไพร์ส คือ มีความเป็นไปได้ โดยที่ภายใต้กรอบ นโยบายผาสุกร่วมกัน หรือ Common Prosperity นั้น รัฐบาลจีนสามารถขอแชร์ข้อมูล รวมถึงความรู้ต่างๆของบริษัท Big Tech สัญชาติจีน เพื่อนำมาเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนชาวจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเยาวชน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการให้การศึกษาและเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาอาชีพให้กับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ





สอง “การบริโภคของประชาชนผ่านการส่งผ่านสวัสดิการที่ส่งเสริมคนจีนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น” จะเห็นได้ว่าสุนทรพจน์ของ สี จิ้น ผิง ในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งสำคัญที่ผ่านมา คำที่ได้พูดถึงบ่อยที่สุด คือ Security หรือความมั่นคง ไม่ใช่ Growth หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ นั่นคือ ผู้นำจีนกำลังจะสื่อว่าสำหรับเศรษฐกิจจีนในช่วงต่อไป ความมั่นคงนอกจากความมั่นคงประเทศแล้ว ความมั่นคงของภาคประชาชนถือเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่ง โดยจะเห็นได้ว่าการออกระเบียบใหม่ๆที่มีผลต่อบริษัทเทคโนโลยีของจีน โดยส่วนใหญ่จะเน้นไปในการตัดสิ่งที่จะสร้างความมอมเมากับคนจีน ไม่ว่าจะเป็นเกมที่เน้นความรุนแรง หรือ ธุรกิจติวเตอร์ที่ทำให้ผู้ปกครองต้องเสียเงินแบบมากมาย และทำให้เยาวชนจีนต้องลดเวลาในการออกกำลังกายและสันทนาการมาติวหนังสือแบบหามรุ่งหามค่ำ





โดยเป้าหมายต่อไปของผู้นำจีน คือการให้สวัสดิการในรูปแบบต่างๆต่อชาวจีน อาทิ การเข้าถึงแหล่งความรู้ใหม่ๆผ่านอินเตอร์เน็ต หรือ แม้แต่การให้สิทธิในการรับวัคซีนต่างๆสำหรับโรคระบาดในอนาคต ซึ่งถือเป็นการเพิ่มปริมาณการบริโภคของชาวจีนเพื่อส่งเสริมคนจีนให้มีชีวิตที่ดีขึ้น





ท้ายสุด “การลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆ” จะเห็นได้ว่าสี จิ้น ผิง ได้ประกาศว่าจีนจะพัฒนาการเทคโนโลยีต่างๆด้วยตนเอง โดยไม่สนใจมาตรการที่ห้ามการส่งออกเทคโนโลยีด้านไฮเทคชั้นสูงให้กับจีนของผู้นำสหรัฐ หรือ Chip War โดยจีนจะเน้นหนักในส่วนการลงทุนด้านนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ เซมิคอนดัคเตอร์ ยานยนต์ไฟฟ้า และ พลังงานสีเขียว ให้เป็นที่หนึ่งของโลก





โดยการเติบโตผ่านช่องทางทั้งสามส่วนดังกล่าวของนโยบายผาสุกร่วมกัน จะเป็นกุญแจหลักที่ผู้นำจีนจะใช้ในการทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตได้เฉลี่ยร้อยละ 5 ต่อปี จนกระทั่งถึงปี 2035





-บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ-





1.11.2022





----------------------------------------------------------





ติดตาม 'Liberator' ได้ทุกช่องทางของคุณ





Instagram : liberator_th





Twitter : th_Liberator





Blockdit : Liberator





Facebook : Liberator Securities





.





𝗣𝗢𝗪𝗘𝗥 𝗜𝗡 𝗬𝗢𝗨𝗥 𝗛𝗔𝗡𝗗





𝗧𝗵𝗲 𝗻𝗲𝘄 𝘁𝗿𝗮𝗱𝗶𝗻𝗴 𝗽𝗼𝘄𝗲𝗿 𝘁𝗵𝗮𝘁 𝘁𝗿𝘂𝗹𝘆 𝗯𝗲𝗹𝗼𝗻𝗴𝘀 𝘁𝗼 𝗮𝗹𝗹 𝘁𝗿𝗮𝗱𝗲𝗿𝘀.