Written by : ArmTungnirun x Liberator





สีจิ้นผิงเดินทางออกนอกประเทศรวม 6 วัน มีนักวิเคราะห์จีนพูดทีเล่นทีจริงว่าเท่ากับเดินเกมบุกโลกเต็มสูบชดเชยเวลา 2 ปี ช่วงโควิดที่เสียไป





ภายในเวลาสั้นๆ 6 วัน นอกจากได้เข้าร่วมประชุม G20 และเอเปคแล้ว สีจิ้นผิงยังประชุมทวิภาคีอย่างเป็นทางการกับผู้นำประเทศต่างๆ รวมถึง 22 ครั้ง พบผู้นำประเทศสูงสุดรวม 19 ประเทศ





การเดินเกมการทูตเชิงรุกเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนทริปนี้แล้ว ภายหลังการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน สีจิ้นผิงได้ต้อนรับเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ตัวจริงเสียงจริงของเวียดนาม ตอกย้ำว่าเวียดนามไม่ได้สนิทกับสหรัฐฯ อย่างเดียว แต่ยังคงแนบแน่นกับจีนด้วย





ถัดมาก็คือผู้นำเยอรมันไปพบสีจิ้นผิงถึงปักกิ่ง ซึ่งเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญ เพราะจริงๆ ท่านจะรอมาพบสีจิ้นผิงในช่วงการประชุม G20 เหมือนผู้นำคนอื่นๆ ก็ได้ แต่กลับต้องการแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ที่โดดเด่นพิเศษระหว่างเยอรมันกับจีน และตอกย้ำว่าทั้งสองชาติยังเชื่อมโยงกันสูงมากในทางเศรษฐกิจ





การประชุมนัดแรกในต่างประเทศ สีจิ้นผิงเลือกพบกับไบเดน คุยกันยาวถึง 3 ชั่วโมงครึ่ง (จากเดิมนัดไว้ 2 ชั่วโมง) ถ้าขนาดไบเดนและสหรัฐฯ ที่ความสัมพันธ์กับจีนตกต่ำมากยังสามารถคุยกันได้และคุยกันออกรสชาติขนาดนี้ ก็ส่งสัญญาณว่าทุกคนก็ต่อคิวคุยกับสีจิ้นผิงได้ โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะเป็นการเลือกข้างหรือจะแสดงว่าไม่เป็นพวกสหรัฐฯ หรือไม่





ไบเดนคุยกับสีจิ้นผิง จริงๆ ไม่มีเนื้อหาอะไรใหม่และไม่มีผลอะไรเป็นรูปธรรม ผลที่ออกมาอย่างเดียวคือจะไม่ทำสงครามกันและความสัมพันธ์จะไม่แย่ไปมากกว่านี้ แต่เพียงเท่านี้ก็เป็นสัญญาณบวกต่อโลกมากแล้ว และสะท้อนว่า ภายหลังการเลือกผู้นำในจีนและการเลือกตั้งมิดเทอมของสหรัฐฯ ผู้นำทั้งสองประเทศเริ่มลดอุณหภูมิความขัดแย้งระหว่างกันลงได้ เพราะไม่ต้องหาเสียงโดยปลุกกระแสชาตินิยมและมองอีกฝ่ายเป็นศัตรูเพื่อเพิ่มความนิยมของตนในประเทศอีกต่อไป





เมื่อตอนแรกเริ่มสงครามยูเครน ยุโรปดูเหมือนจะเอนเข้าทางสหรัฐฯ มากขึ้น และมองจีนเป็นภัยคุกคามเช่นเดียวกับรัสเซีย แต่มารอบนี้ยุโรปเริ่มเอนมากลางๆ มากขึ้น พยายามจะกลับมาสานสัมพันธ์กับจีนอีกครั้ง ผู้นำประเทศในยุโรปต่างเรียงแถวประชุมทวิภาคีกับสีจิ้นผิง ตั้งแต่ผู้นำฝรั่งเศส เนเธอแลนด์ อิตาลี และสเปน





นอกจากสหรัฐฯ และชาติในยุโรปแล้ว ยังมีอีกสามชาติที่เป็นที่จับตาอย่างสูงในการพบกับสีจิ้นผิง เริ่มจากออสเตรเลีย ที่ความสัมพันธ์ก่อนหน้านี้กับจีนตกต่ำถึงขีดสุด แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลออสเตรเลียชุดใหม่ ก็เป็นโอกาสให้รีเซ็ทความสัมพันธ์อีกครั้ง การพบกันเพียงครึ่งชั่วโมงจึงเป็นสัญญาณเชิงบวกที่สำคัญ





ภายหลังการพบกัน นายกฯ ออสเตรเลียก็ให้สัมภาษณ์ว่าออสเตรเลียจะไม่สนับสนุนไต้หวันให้เข้าร่วม CPTPP ซึ่งยิ่งส่งสัญญาณแรงว่าออสเตรเลียต้องการฟื้นความสัมพันธ์กับจีน โดยมีเป้าหมายให้จีนยกเลิกกำแพงภาษีต่อสินค้าออสเตรเลียที่จีนตั้งไว้มากมายในช่วงที่ความสัมพันธ์ตกต่ำถึงขีดสุด





ถัดมาก็คือ เกาหลีใต้ ซึ่งแม้จะสนิทกับสหรัฐฯ ขนาดไหน แต่ข้อเท็จจริงที่ผู้นำเกาหลีใต้ทุกคนรู้ดีก็คือต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับจีนและไม่ไปกระตุกหนวดมังกร ดังที่ผู้นำเกาหลีใต้ลาพักร้อนพอดีตอนที่แนนซี่ เพโลซี ประธานสภาสหรัฐฯ ไปเยือนเกาหลีใต้ถัดจากที่เยือนไต้หวัน เกาหลีใต้อย่างไรก็ต้องพึ่งพาจีนเรื่องเศรษฐกิจและเรื่องสื่อสารกับเกาหลีเหนือ สีจิ้นผิงก็ย้ำประโยคเด็ดว่าเกาหลีใต้และจีนเป็นเพื่อนบ้านที่ย้ายหนีกันไปไม่ได้





สุดท้ายคือ ญี่ปุ่น ที่ทำนองการพูดคุยกับจีนจะคล้ายๆ สหรัฐฯ คือ เราไม่ชอบกัน แต่อย่าให้ความสัมพัน์แย่ไปมากกว่านี้ แต่ญี่ปุ่นนั้นคุ้นเคยกับการแสวงจุดร่วมสงวนจุดต่างกับจีนเพราะเป็นลิ้นกับฟันเพื่อนบ้านคู่ขัดแย้งกันมายาวนาน





นอกจากว่าครั้งนี้สีจิ้นผิงพบใครบ้าง เขาไม่พบใครก็น่าสนใจ สีจิ้นผิงไม่มีการประชุมทวิภาคีอย่างเป็นทางการกับผู้นำอินเดีย แคนาดา และอังกฤษ ซึ่งทั้งสามประเทศล้วนมีความสัมพันธ์ที่ตกต่ำมากกับจีน โดยอินเดียนั้นมีปัญหาการปะทะกันที่ชายแดนในปี ค.ศ. 2020 แคนาดามีปัญหาเรื่องการควบคุมตัวลูกสาวของเจ้าของหัวเว่ยก่อนหน้านี้ ส่วนอังกฤษนั้น นายกฯ ซูนัคของอังกฤษเพิ่งบอกว่าจะปิดสถาบันขงจื๊อทั่วประเทศอังกฤษ





ตอนแรกมีข่าวนาทีสุดท้ายว่า ผู้นำอังกฤษจะประชุมทวิภาคีอย่างเป็นทางการกับสีจิ้นผิง แต่จนนาทีสุดท้ายจริงๆ กลับมีการยกเลิก ซึ่งทางอังกฤษแถลงว่า เป็นปัญหาเรื่องตารางการประชุมที่ต้องขยับเพราะมีการประชุมฉุกเฉินโดยไบเดนกับพันธมิตรนาโต้เนื่องจากสถานการณ์ที่โปแลนด์ แต่ทางจีนกลับแถลงว่าไม่มีข้อมูลสาเหตุที่ยกเลิก ซึ่งหลายฝ่ายตีความว่า อาจเกี่ยวข้องกับที่นายกฯ ซูนัคให้สัมภาษณ์วันก่อนหน้าว่าจะสนับสนุนไต้หวันเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ ซึ่งจีนมองว่าไม่แสดงความจริงใจก่อนที่จะพบพูดคุยกัน





เกมบุกโลกของสีจิ้นผิงเป็นสัญญาณว่าจีนต้องการรักษาระดับความสัมพันธ์และลดความขัดแย้งกับคู่ขัดแย้งในช่วงที่จีนกำลังมีปัญหาเศรษฐกิจและการระบาดของโควิดภายใน และสะท้อนว่าจีนจะกลับมาเชื่อมโยงกับโลกสูงขึ้นอีกครั้งภายหลังโควิด แม้จีนจะไม่สามารถเปิดประเทศเต็มรูปแบบในทันที เพราะกังวลอัตราการเสียชีวิตที่สูง แต่ก็น่าจะค่อยๆ ขยับไปในทิศทางของการผ่อนคลายมาตรการ Zero Covid และเปิดประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งปัจจุบันนักวิเคราะห์ประเมินว่าจีนอาจเปิดประเทศได้หลังฤดูหนาวในช่วงเดือนมีนาคมปีหน้า





ส่วนสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างจีนกับสหรัฐฯ คงลดความร้อนแรงลงจากก่อนหน้านี้ แม้ความสัมพันธ์จะไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับยุโรป (ยกเว้นอังกฤษ) กลับเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปที่ ตกต่ำอันเป็นผลมาจากสงครามยูเครนที่ยืดเยื้อ





24.11.2022