บทความ LIB Learn เดิม
เงินทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นญี่ปุ่นทำจุดสูงสุดในรอบเกือบ 33 ปี
Written by: #หนีดอย x #Liberator
ก่อนจะพูดถึงตลาดหุ้นญี่ปุ่น ผู้เขียนขอสรุปผลการประชุมของ FED รอบล่าสุดที่ผ่านมาในระหว่างวันที่ 2-3 พฤษภาคม 2023 ซึ่งผลการประชุมกำหนดนโยบายทางการเงินมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25% นับเป็นการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 10 สู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายล่าสุดอยู่ที่ 5.00-5.25% ซึ่งสะท้อนการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้เข้าสู่จุดสูงสุดของรอบดอกเบี้ยขาขึ้น และคาดว่า FED จะคงอัตราดอกเบี้ยเท่านี้ที่ระดับ 5.00-5.25% ไปต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2566 โดยยังไม่มีการปรับเร่งลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ ซึ่งต้องนับว่าเป็นการขึ้นดอกเบี้ยที่ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 10 และสู่ระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี โดยสามารถสรุปถ้อยแถลงที่บ่งชี้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกายังขยายตัวได้ ตลาดแรงงานแข็งแกร่งและอัตราการว่างงานที่ต่ำ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง ภาวะการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นในภาคครัวเรือนและธุรกิจมีแนวโน้มที่จะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ การจ้างงาน และอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปข้างหน้านี้
จะเห็นว่าผลการประชุมรอบนี้ FED กลับมาให้น้ำหนักด้านเสถียรภาพมากขึ้น จากแรงกดดันด้านการเงินตึงตัวภาคธนาคารของสหรัฐและภาคกลุ่มธุรกิจที่ต้องปิดกิจการลง รวมไปถึงตลาดการเงินทั่วโลกที่มาจากการขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงตั้งแต่ต้นปี 2022 เป็นต้นมา ส่งผลให้ Bond Yield อายุ 2 ปี ปรับตัวเพิ่มขึ้น 200 bps ภายในเวลาเพียงแค่ 3 เดือน และเร่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดที่ 5.00% ทำให้มีผลกระทบกับงบดุลของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งจากราคาพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว ทั้งยังมีปัญหาหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงและข้อจำกัดด้านการคลัง ซึ่งทำให้เป็นเหตุผลที่ FED กลับมาให้น้ำหนักด้านเสถียรภาพมากขึ้นกว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสู้กับเงินเฟ้อต่อไป
กลับมาในส่วนของตลาดหุ้นญี่ปุ่นตามหัวข้อบทความ ณ ตอนนี้เริ่มนักลงทุนชื่อดังหลายๆคน รวมไปถึงสถาบันยักษ์ใหญ่ในวอลสตรีทมองว่าขณะนี้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นนั้นมีความน่าสนใจมากกว่าตลาดหุ้นอย่างสหรัฐหรือจีนไปแล้ว ซึ่งตลาดทั้งสองประเทศนี้กำลังเผชิญกับแรงกดดันทางด้านเศรษฐกิจอยู่ สถาบันทางการเงินอย่าง JPMorgan และ Morgan Stanley ต่างมองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นนั้นยังคงมีอัพไซด์อยู่แม้ว่าตลาดจะเพิ่งทำจุดสูงสุดตลอดกาลนับตั้งแต่ปี 1990 ในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15-19 พ.ค. 2023) เสมือนว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นได้กลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้งจากผลของอัตราเงินเฟ้อ การปรับปรุงผลตอบแทนในส่วนของผู้ถือหุ้น และการได้รับการรับรองของ Warren Buffet ที่เข้ามาลงทุนในตลาดญี่ปุ่น ซึ่งรวมนับเป็นปัจจัยที่สำคัญของตลาดทุนที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกในปัจจุบัน
กูรูนักลงทุนอย่าง Jack Ablin แห่ง Cresset Capital Management ที่เป็นบริษัทให้คำแนะนำด้านการลงทุนจากชิคาโก ออกมากล่าวว่า ประเทศญี่ปุ่นจัดเป็นตลาดที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้ ตลาดหุ้นที่นั่นมีทุกอย่าง โดยทางบริษัทของเค้าได้จัดสรรเงินลงทุนราวๆ 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือนับเป็นสัดส่วน 50% ของพอร์ทลงทุนในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
ต้องถือว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นนั้นโดดเด่นท่ามกลางความวิตกกังวลในตลาดสหรัฐสำหรับประเด็นเรื่องเพดานหนี้ และภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจจะมาถึงในไม่ช้านี้ รวมไปถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ยังไม่ดีมากนัก รวมไปถึงภาวะตลาดหมีของตลาดหุ้นทั่วไป จากข้อมูลพบว่ามีเงินทุนต่างชาติไหลเข้าไปถือหุ้นของญี่ปุ่นแค่ในเดือนเมษายนแตะระดับ 2.2 ล้านล้านเยน (15,900 ล้านเหรียญ) มากที่สุดนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2017
ดัชนี Topix ปิดที่ 2,161.69 ในวันศุกร์ที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา นับเป็นการเพิ่มขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคมราวๆ 3.8% ขณะที่ดัชนี Nikkei 225 ปิดตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 5% และทำจุดสูงสุดตลอดกาลในรอบเกือบ 33 ปี ในขณะเดียวกัน ดัชนีหุ้นตลาดจีนอย่าง CSI 300 ปิดร่วงราวๆ 3.5% ซึ่งยังคงปรับฐานนับตั้งแต่มีการเปิดประเทศ ในส่วนของดัชนี S&P500 ปรับเพิ่มไม่ถึง 1%
หมายเหตุ ดัชนี Nikkei 225 คือดัชนีหุ้นใหญ่ 225 บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว ถือเป็นดัชนีสำคัญของญี่ปุ่น ขณะที่อีก Index คือ TOPIX ซึ่งแตกต่างกัน เพราะ TOPIX ใช้วิธีคิดแบบ Market cap weighted ในการคำนวณดัชนี ขณะที่ Nikkei ใช้วิธีแบบ price-weighted อีกนัยหนึ่ง ดัชนี Nikkei คือ หุ้น Blue chip ใน TOPIX
กูรูบางท่านจาก Man GLG อย่างคุณ Jeffrey Atherton ก็ออกมาให้ความเห็นถึงตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่ยังสามารถปรับตัวสูงขึ้นได้อีกราวๆ 10-15% ด้วยเหตุผลในแง่ของมูลค่าที่ยังไม่แพงเกินไป, รายได้ที่ไม่ตึงตัว รวมไปถึงการปฏิรูปในองค์กร รวมไปถึงการที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศญี่ปุ่นที่ยังคงต่ำมากๆ เทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโนบายของประเทศอื่นๆทั่วโลก ทำให้เป็นผลบวกกับตลาดหุ้น
หากดูมูลค่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะพบว่าสูงขึ้นแตะระดับ 518,000 ล้านเหรียญ ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม และยังพบว่าตลาดหุ้นนี้ยังดึงดูดเงินทุนให้ไหลเข้ามาอีกก่อนปิดสัปดาห์ในวันที่ 10 พ.ค. ที่ระดับ 800 ล้านเหรียญ ซึ่งนับเป็นการไหลเข้าของเงินทุนมากที่สุดใน 7 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่มองออกไปยังตลาดหุ้นยุโรปและสหรัฐอเมริกา จะพบเงินทุนไหลออกจากสถิติที่มาจาก EPFR
ด้วยการใช้มาตรการทางการเงินอย่างผ่อนปรนสุดท้ายแล้วจึงตามมาด้วยเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าบริโภคไม่นับรวมอาหารสดที่ 3.4% เทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เป็นไปตามคาดการณ์ สำหรับเดือนเมษายน โดยเพิ่มมาเทียบกับเดือนมีนาคมที่อยู่ในระดับ 3.1% แสดงให้เห็นว่านโยบายจากทางญี่ปุ่นได้ป้องกันภาวะเงินฝืดไว้ได้อย่างดีโดยไม่ทําให้ราคาเพิ่มขึ้นมากเกินไปซึ่งรับประกันการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นในสหรัฐอเมริกา ในทางกลับกันจีนกําลังเผชิญกับความเสี่ยงจากภาวะเงินฝืด
ข้อมูลเพิ่มเติมด้านตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นระบุว่าอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคพื้นฐาน (Core consumer inflation) ยังอยู่เหนือระดับที่ธนาคารกลางตั้งเป้าไว้ที่ระดับ 2% ในเดือนเมษายนนี้ และดัชนีหลักที่ไม่นับเชื้อเพลิงได้แต่ระดับสูงสุดในรอบสี่ทศวรรษ นอกจากนี้ยังมีตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ระบุว่าญี่ปุ่นเติบโตได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในไตรมาสแรกจากการฟื้นตัวด้านบริโภคหลังโควิด ซึ่งข้อมูลตัวเลขที่บ่งบอกถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งและอัตราเงินเฟ้อนี้อาจทำให้ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นต้องทยอยเลิกใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนจากการคาดกรณ์ของนักวิเคราะห์หลายๆคน
อัตราเงินเฟ้อด้านการบริการเร่งตัวขึ้นที่ 1.7% ในเดือนเมษายน จาก 1.5% ในเดือนมีนาคม โดยเป็นปัจจัยที่มาจากการปรับเพิ่มขึ้นของค่าเงิน ในส่วนของราคาอาหารก็กระโดดสูงขึ้นที่ระดับ 9% ในเดือนเมษายนเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่มีนาคมตัวเลขอยู่ที่ 8.2% ซึ่งบ่งชี้ถึงค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่ต้องรับภาระสูงขึ้น และจากราคาค่าอาหารที่เพิ่มขึ้นนี้ จะเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นไปถึงระดับ 4.5% ในช่วงกลางปีนี้ก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามแต่ วัฏจักรของภาวะเงินเฟ้ออาจใกล้สิ้นสุดลงแล้ว จากอัตราเงินเฟ้อด้านราคาฝั่งผู้ผลิตที่เริ่มตกลงอย่างมีนัยสำคัญในช่วงสามเดือนที่ผ่านมานี้ เราจึงอาจได้เห็นภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวลงอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีหลัง
แต่สำหรับปัจจุบันที่เงินเฟ้อยังคงสูงกว่าเป้าหมายที่ธนาคารกลาง BOJ ได้ตั้งไว้ ตลาดก็ได้เก็งไว้ว่า BOJ อาจจะทำการยุติมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้ในไม่ช้า เพราะมันดูเหมือนเป็นการบิดเบือนตลาดและส่งผลกับการทำกำไรของสถาบันการเงิน
อย่างไรก็ตามทาง BOJ ก็ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการคงไว้ซึ่งนโยบายทางการเงินแบบผ่อนปรนนี้จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 2% อย่างมั่นคง พร้อมกับการปรับขึ้นค่าแรง พร้อมยังเห็นว่าอัตราเงินเฟ้อผู้บริโภคพื้นฐาน (Core Consumer Inflation) จะชะลอตัวลงมาต่ำกว่า 2% ในช่วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณปัจจุบันที่จะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2024
นอกจากนี้การที่บริษัทถือเงินสดอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ได้ปรับกลยุทธ์เพื่อเพิ่มผลตอบแทนผู้ถือหุ้น จะเห็นว่ามีการซื้อหุ้นคืนมากเป็นประวัติการณ์ในปีงบ 2022 ที่ผ่านมา ซึ่งนักลงทุนได้มีความคาดหวังมากขึ้นหลังจากทางตลาดหลักทรัพย์โตเกียวได้เรียกร้องในเดือนมกราคมเพื่อเพิ่มมูลค่าของบริษัทที่มีการซื้อขายกรณีที่สัดส่วน Book Value ต่ำกว่าหนึ่ง ด้วยปัจจัยนี้ เราจึงเริ่มเห็นผลประโยชน์มากขึ้นในแง่ของผู้ถือหุ้น ที่มีบริษัทในญี่ปุ่นจำนวนที่มากเกินไปที่อยู่ในตลาดซื้อขายมายาวนานที่ราคาต่ำกว่ามูลค่า Book Value ซึ่งนั่นจะก่อให้เกิดผลบวกกับนักลงทุน
อีกปัจจัยสำคัญก็คือการที่ Warren Buffett มองบวกในตลาดแห่งนี้ด้วยการเดินทางมาที่ประเทศญี่ปุ่นในปีนี้ และการเพิ่มสัดส่วนถือครองหุ้นในบริษัทของญี่ปุ่น ก็สร้างความเชื่อมั่นในระดับสากลในแง่ของการลงทุนเข้าไปอีก รวมไปถึงสถาบันทางการเงินอย่าง Societe Generale SA และ Pictet Wealth Management ก็ออกมาให้น้ำหนักที่มากขึ้นในการลงทุนที่ประเทศญี่ปุ่นและลดสัดส่วนการลงทุนของสหรัฐอเมริกาลง
อย่างไรก็ตามแม้จะดูเหมือนมีแต่เรื่องดีๆ แต่ตลาดก็มีสัญญาณทางเทคนิคและปัจจัยพื้นฐานที่อาจปรับฐานได้ เมื่อในตอนนี้ดัชนีของตลาดญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะโซนซื้อมากเกินไปแล้ว ยังมีปัจจัยพื้นฐานอย่างเรื่องของค่าแรงที่ตกลงแม้ว่าจะมีภาวะเงินเฟ้อขยับตัวสูงขึ้น การชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่อาจส่งผลกระทบกับผู้ส่งออกในญี่ปุ่นที่ต้องพึ่งพาตลาดจีนและสหรัฐอเมริกา
สำหรับปีนี้ นักวิเคราะห์ให้ความเห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่นจะเติบโตได้ราวๆ 1% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สหรัฐอเมริกาและจีน จะเติบโตที่ตัวเลข 1.1% และ 5.7% ตามลำดับ โดยคาดการณ์ว่าจะขยายตัวได้ต่ำกว่าแนวโน้มในอดีต
สำหรับนักลงทุนจำนวนมาก มูลค่าของบริษัทในญี่ปุ่นนั้นถูกเกินไปที่จะเมินเฉยได้ เกือบครึ่งหนึ่งของ TSE Prime Market Index มีราคาซื้อขายต่ำกว่า Book value เทียบกับบริษัทที่มีเพียง 5% ในตลาดหุ้น S&P 500 ที่ราคาต่ำได้แบบนี้เท่านั้น และถึงแม้ตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะปรับตัวทะยานขึ้นแบบนี้ ก็มี Price-to-book ratio ในดัชนี Topix เพียง 1.3 เท่าเท่านั้น
แม้จะมีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน แต่ภาคส่วนหลักๆก็ยังมีส่วนลดจำนวนมากเมื่อเทียบกับมูลค่าในตลาดหุ้นของ S&P500 ซึ่งทำให้ตลาดญี่ปุ่นแห่งนี้ยังดูน่าสนใจมากๆ โดยทางทีมจากสถาบันการเงินอย่าง Pictet Asset Management ในกรุงลอนดอน ก็ออกมาให้ความเห็นว่า ประเทศญี่ปุ่นจะยังคงทำผลตอบแทนได้ดีในระยะกลางนับจากนี้ต่อเนื่องต่อไป
หากยกตัวอย่างผลตอบแทนกองทุนญี่ปุ่นในไทยบางกองผลตอบแทนจากหุ้นตัวใหญ่จะดีกว่าหุ้นตัวกลาง/เล็ก ยกตัวอย่างเช่น
SCBNKK225E ทำผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีที่ +19.250% (วันที่ 19 พ.ค. 2023)
TISCOJP ทำผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีที่ +18.234% (วันที่ 19 พ.ค. 2023)
K-JPX-A(A) ทำผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีที่ +14.445% (วันที่ 19 พ.ค. 2023)