Written by : DrArmTungnirun X Liberator

ท่ามกลางภาพความผันผวน ตึงเครียด ขัดแย้งระหว่างสองยักษ์อย่างจีนและสหรัฐฯ ตั้งแต่เรื่องข้อพิพาทบอลลูนสอดแนม การยกเลิกทริปเยือนจีนของ รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯ ตลอดจนสงครามเทคโนโลยีที่สหรัฐฯ จำกัดอุตสาหกรรมเซมิคอนดัคเตอร์ของจีนอย่างหนักหนาสาหัส แต่เชื่อไหมครับว่า สถิติการค้าระหว่างสองประเทศในปีที่ผ่านมากลับเพิ่มขึ้นทะลายทุกสถิติก่อนหน้า ชนิดสวนกระแสภาพความขัดแย้ง

ก็ไหนใครบอกว่าจีนและสหรัฐฯ จะไม่คบค้ากันแล้ว กระแสเรื่อง Decoupling หรือการถอดรื้อความเชื่อมโยงทางการค้าของทั้งสองฝ่ายได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางมาโดยตลอด นับตั้งแต่สงครามการค้าของทรัมป์ ไล่มาถึงช่วง 3 ปี ที่จีนใช้นโยบาย Zero Covid ปิดประเทศ

แต่ตัวเลขล่าสุดคือ ในปี 2022 การค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 6.3 แตะที่ 536.8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ซึ่งเกือบกลับคืนจุดสูงสุดในปี 2018 ส่วนการส่งออกจากสหรัฐฯ ไปจีนเติบโตร้อยละ 1.6 แตะที่ 153.8 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ตัวเลขการค้ารวมระหว่างสองประเทศอยู๋ที่ 690.6 พันล้าน ทำลายทุกสถิติการค้าในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

สะท้อนข้อเท็จจริงว่ากระแส Decoupling หรือการถอดรื้อความเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างกันนั้น พูดง่าย แต่ทำยาก และภาพในจินตนาการว่าทุนสหรัฐฯ วิ่งหนีออกจากจีนกันหมดแล้ว หรือว่าทั้งสองฝ่ายกำลังจะเลิกค้าขายกัน ล้วนแต่ห่างไกลความเป็นจริงมาก

แน่อนครับว่า ตัวเลขการค้าระหว่างสองชาติ หากไม่มีกระแสความขัดแย้งทางการเมือง น่าจะเติบโตสูงกว่านี้อีกมาก การเติบโตนั้นชะลอตัวลงจริง แม้จะทุบสถิติการค้าในประวัติศาสตร์ก็ตาม

บริษัทสหรัฐฯ ในจีน แม้ในทางหนึ่ง ไม่ได้เลิกกิจการย้ายออกมาจากจีน เพราะแทบจะเป็นไปไม่ได้ในทางธุรกิจ แต่ในขณะเดียวกัน หากจะขยายกำลังการผลิต ก็มักจะเลือกไปขยายฐานการผลิตที่ประเทศอื่นเช่นเวียดนามแทนที่จีน และปรับให้โรงงานที่จีนเน้นผลิตเพื่อตอบสนองตลาดผู้บริโภคภายในจีนเองมากขึ้น จะเห็นว่าที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับเวียดนามและประเทศอื่นๆ ในเอเชียสูงขึ้นอย่างรวดเร็วมากในอัตราที่สูงกว่าการเติบโตของการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ

หลายคนเรียกภาพที่เกิดขึ้นว่าเป็น Managed Decoupling คือการถอดรื้อความเชื่อมโยงทางการค้าแบบมีการบริหารจัดการค่อยๆ ผ่อน ไม่ใช่ถอดรื้อแยกขาดเอาแบบดื้อๆ ทั้งหมดทันที บางคนย้ำว่าต้องดูลักษณะของอุตสาหกรรมด้วย หากเป็นอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์หรืออุตสาหกรรมที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง เช่น เซมิคอนดัคเตอร์นั้น สหรัฐฯ เดินหน้าเต็มสูบที่จะถอดรื้อความเชื่อมโยงกับจีน แต่ในการค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ความผูกพันทางการค้าระหว่างสองประเทศก็ยังคงสูงอยู่เช่นเดิม

สงครามเย็นรอบนี้ระหว่างสหรัฐฯ และจีน จึงแตกต่างจากสงครามเย็นรอบก่อนระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพโซเวียตอย่างมาก เพราะในสงครามเย็นรอบที่แล้ว สหภาพโซเวียตไม่มีความเชื่อมโยงทางการค้าและเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ เรียกว่าสหรัฐฯ ทุบสหภาพโซเวียตจนพัง ก็ไม่กระทบอะไรสหรัฐฯ

ในขณะที่ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในปัจจุบัน แม้ท่ามกลางความผันผวนขัดแย้งทางการเมือง ก็ยังอยู่ในจุดที่สูงที่สุดทะลุทุกสถิติการค้าในประวัติศาสตร์ และจีนเองก็ยังเล่นบทบาทเป็นโรงงานโลก ดังนั้น หากสหรัฐฯ ทุบจีนเต็มร้อย สหรัฐฯ เองนั่นแหละที่จะพังไปด้วย และเศรษฐกิจโลกก็จะพังตามกัน สหรัฐฯ ตอนนี้กำลังเล่นเกมค่อยๆ ทุบ ค่อยๆ ถอดรื้อ แต่ก็พูดง่ายกว่าทำ เพราะภาพความเป็นจริงทางธุรกิจดูจะสวนทางภาพการถอดรื้อความเชื่อมโยงที่อยู่ในหัวของนักการเมืองสหรัฐฯ

สงครามเย็นรอบที่แล้ว เป็นเรื่องระหว่างขาวกับดำ คือจะเลือกระบบของโซเวียต หรือเลือกระบบของสหรัฐฯ แต่การต่อสู้แข่งขันกันระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในรอบนี้เป็นการต่อสู้ภายใต้ระเบียบการค้าอันเดียวกันที่เดิมสหรัฐฯ และตะวันตกเป็นผู้สร้างขึ้น จีนเองได้ประโยชน์มหาศาลจากระเบียบโลกการค้าเสรีและไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกโดยทันที เพียงแต่ต้องการค่อยๆ เปลี่ยนผ่านให้จีนขึ้นมาเคียงคู่บัลลังก์กับสหรัฐฯ ต่างหาก

ความหมายสำคัญก็คือ ศึกการแข่งขันรอบนี้ไม่มีทางจะสู้กันเอาเป็นเอาตายกันไปข้างหนึ่งได้ เพราะทั้งสองฝ่ายไม่สามารถทุบอีกฝ่ายหนึ่งหรือบีบจนอีกฝ่ายหนึ่งตายไปเลยได้ เพราะจะไม่เป็นประโยชน์กับตัวเองเช่นกัน และตัวเองก็จะวิกฤตตามไปด้วย

ความมุ่งหมายทางนโยบายต่อจีนของสหรัฐฯ คือทำให้จีนอ่อนแอและเติบโตช้าลง แต่ไม่ได้ต้องการทำให้จีนถึงขั้นวิกฤตพังไป เช่นเดียวกัน เป้าหมายของจีนก็คือทำให้สหรัฐฯ อ่อนแอลง แต่ก็ไม่ใช่ให้สหรัฐฯ พังพินาศไปจนโลกวุ่นวายเช่นกัน เพราะจีนเองก็ยังไม่พร้อมที่จะขึ้นมามีบทบาทนำในระเบียบโลกปัจจุบันแทนที่สหรัฐฯ

ธุรกิจที่ทำการค้าในวันนี้อย่าเข้าใจผิดว่าโลกาภิวัตน์ตายไปแล้ว เพราะโลกาภิวัตน์ที่มีห่วงโซ่จีนเชื่อมสหรัฐฯ เป็นแกนกลางก็ยังคงอยู่ต่อไป ในขณะเดียวกัน ภาพการถอดรื้อ แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งห่วงโซ่ ก็เกิดขึ้นจริงควบคู่ไปด้วยเช่นกัน มีทั้งห่วงโซ่สหรัฐฯ เชื่อมโลก (ตัดจีนออกไป) ห่วงโซ่จีนเชื่อมโลก (ตัดสหรัฐฯ ออกไป) ห่วงโซ่โลกเชื่อมกันเอง (ตัดทั้งสหรัฐฯ และจีนออกไป) มากมายหลายห่วง

จากโลกาภิวัตน์หนึ่งห่วงโซ่ซัพพลายเชนโลกเพียงอันเดียว กลายเป็นภาพโลกโลกาภิวัตน์ควบคู่ไปกับโลกหลายห่วงโซ่ โจทย์คือธุรกิจของคุณจะเลือกเชื่อมและเล่นในหลายห่วงโซ่ หรือจะโฟกัสที่ห่วงโซ่ไหนในโลกการค้าใหม่ที่ซับซ้อนกว่าที่เคยเป็นมา

16.02.2023