บทความ LIB Learn เดิม
𝗥𝗢𝗘 ตัวชี้วัดคุณภาพกำไรของธุรกิจ
Written by: #StockVitamins x #Liberator
𝗥𝗢𝗘 ย่อมาจาก 𝗥𝗲𝘁𝘂𝗿𝗻 𝗼𝗻 𝗘𝗾𝘂𝗶𝘁𝘆 คือ การเอากำไรสุทธิ หารด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้น ได้ผลลัพธ์ออกมาคูณด้วย 100 คำตอบเป็น เปอร์เซ็นต์ (%)
เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้วัดประสิทธิภาพของบริษัทว่าสามารถสร้างกำไรจากส่วนของทุนที่ลงไปได้มากน้อยแค่ไหน
ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าบริษัทหนึ่งประกอบธุรกิจ สร้างรายได้ หักต้นทุนและค่าใช้จ่าย หักดอกเบี้ย และภาษีแล้ว เหลือเป็นกำไรสุทธิ 40 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้น 200 ล้านบาท จะคิด ROE ได้เท่ากับ (40/200) x 100 = 20%
แปลว่า บริษัทสามารถนำเงินในส่วนของผู้ถือหุ้น 100 บาท ไปสร้างผลตอบแทนออกมาเป็นกำไร 20 บาท
ซึ่งก็พอจะสรุปเบื้องต้นได้ก่อนว่า "ถ้าค่า 𝗥𝗢𝗘 ยิ่งสูงยิ่งดี" แสดงว่า บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรต่อส่วนของผู้ถือหุ้นที่สูง ถ้า ROE ต่ำ ก็แสดงว่า เงินที่ลงทุนไปดูไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่ ไม่ค่อยสร้างกำไรได้มากนัก
.
ข้อควรระวังในการใช้ 𝗥𝗢𝗘
1. กำไรสุทธิ เป็นตัวตั้ง ต้องดูว่า กำไรสม่ำเสมอแค่ไหน เป็นกำไรพิเศษ หรือเพิ่งกลับมาทำกำไรได้หรือเปล่า เพราะจะทำให้ ROE สูงเกินจริง
2. ส่วนของผู้ถือหุ้น เป็นตัวหาร ถ้าตัวหารน้อยๆ จะได้ค่ามากๆ แปลว่า เราอยากเห็นส่วนของผู้ถือหุ้น หรือ ส่วนทุนน้อยๆ
• ถ้าเราดูสูตร สินทรัพย์ = หนี้สิน + ทุน ย้ายข้างสมการ ทุน = สินทรัพย์ – หนี้สิน
• แปลว่า ถ้าทุนจะน้อยได้ อาจเป็นเพราะหนี้สินเยอะ กู้เงินเยอะ แสดงว่า การก่อหนี้ คือ การ Leverage โดยใช้เงินคนอื่น สร้างกำไรได้ และยิ่งกู้เยอะก็อาจทำให้ ROE ดูสูงได้มาก แต่ก็กลายเป็นความเสี่ยงได้มากเช่นกัน ถ้าจ่ายคืนไม่ไหว
3. ROE ไม่ได้พูดถึงเรื่องของ Intangible Asset หรือ สินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น แบรนด์ ทรัพย์สินทางปัญญา ลิขสิทธิ์ ความสามารถของผู้บริหาร ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการทำกำไรของบริษัทเช่นกัน
4. ROE อาจจะเพิ่มเพราะบริษัททำการซื้อหุ้นคืน ในตลาดต่างประเทศมักจะมีการซื้อหุ้นคืนบ่อย หรือในประเทศไทยช่วงที่ราคาหุ้นตกเยอะๆ อย่างตอน COVID ก็มีการประกาศซื้อหุ้นคืน ทำให้จำนวนหุ้นลดลง ส่วนของผู้ถือหุ้นที่เป็นตัวหารถูกปรับลดลง มีผลทำให้ตัวเลขทั้ง ROE, EPS และเงินปันผลต่อหุ้นเพิ่มขึ้น แต่มีข้อสังเกตคืน
• บริษัทมักจะซื้อหุ้นคืนตอนราคาหุ้นลงเยอะ นั่นอาจจะสะท้อนความนิยม หรือกำไรที่อาจจะไม่ดีในอนาคตหรือไม่
• การซื้อหุ้นคืน ไม่จำเป็นต้องซื้อทั้งหมดตามที่ประกาศก็ได้ และในอนาคตก็สามารถขายหุ้นกลับคืน หรือจะลดทุนไปเลยก็ได้ สมมติว่า มีการขายคืน ก็เท่ากับกับว่า จำนวนหุ้นในอนาคตกลับมาเหมือนเดิม กระทบกับ ROE ได้เช่นกัน
5. การเปรียบเทียบ ROE ควรเทียบจากอดีตของตัวเอง หรือ จากอุตสาหกรรมเดียวกันเท่านั้น เพราะว่า การสร้างกำไรของแต่ละบริษัทมีความแตกต่างกัน บางบริษัทต้องใช้ทุนเยอะ บางบริษัทเป็น light asset ใช้ทุนน้อยกำไรดีก็ทำได้ เพราะฉะนั้นเปรียบเทียบในกลุ่มใกล้เคียงกันจะได้ภาพที่ชัดเจนกว่า
• เวลาเราเห็นว่า ROE บริษัทสูงกว่าอุตสาหกรรมมากๆ อย่าเพิ่งรีบดีใจ แต่ควรตกใจมากกว่าว่า ทำไมธุรกิจใกล้เคียงกัน ถึงมีคนนึงเก่งกว่าอีกคนนึงแบบชัดเจน เก่งจริงหรือมีอะไรผิดปกติ
• การที่บริษัทมี ROE สูงๆ อาจไม่ดีเสมอไป เพราะเป็นการเชิญชวนให้บริษัทอื่นๆ หันมาทำธุรกิจแบบเดียวกัน เพราะเห็นว่ากำไรดี ก็จะกลายเป็นคู่แข่งเพิ่มมากขึ้นได้
6. ROE ติดลบ หรือน้อยกว่า 0 เป็นไปได้ว่า บริษัทอาจขาดทุนอยู่ เงินที่เราลงทุนไปมูลค่ากำลังลดลงอยู่ แต่อาจเป็นเพราะเรากำลังลงทุนในบริษัท Start Up หรือลงทุนในบริษัทที่กำลังเปลี่ยน Business Model กำลังจะพลิกจากขาดทุนเป็นกำไรหรือเปล่า ถ้าใช่ก็อาจเป็นโอกาสในอนาคต แต่ถ้าไม่ใช่เรากำลังลงทุนในธุรกิจที่แย่ก็ต้องรีบทบทวนให้ดี
โดยสรุป 𝗥𝗢𝗘 เป็นอัตราส่วนทางการเงินที่ดูได้ง่ายรวดเร็ว และบอกประสิทธิภาพเบื้องต้นในการทำกำไรของธุรกิจได้ดี ยิ่งสูงยิ่งดี แต่ก็ต้องดูให้ดีว่าความสูงนั้นมาจากหนี้ที่สูง กำไรที่สูงผิดปกติ ดูแล้วสูงเกินจริงไปหรือไม่
24.04.2023