หน้าแรกLIB Learn2023 ปีหน้านี้จะมีอะไรมากระทบการลงทุนได้บ้าง ?

2023 ปีหน้านี้จะมีอะไรมากระทบการลงทุนได้บ้าง ?

Written by : #หนีดอย x #Liberator

ปี 2022 ที่กำลังจะผ่านไปนี้ ถือเป็นปีที่หนักหนาเอาเรื่องสำหรับตลาดหุ้นทั่วโลกในรอบมากกว่าทศวรรษก็ว่าได้ ยังไม่นับตลาดพันธบัตรที่ก็มีความผันผวนไม่น้อย โดยมองถึงสาเหตุแล้วก็น่าจะเป็นเรื่องของการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของทางสหรัฐที่ขึ้นเร็วและแรง รวมไปถึงนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของประเทศจีน ความตึงเครียดที่ก่อให้เกิดสงครามในทวีปยุโรประหว่างรัสเซียและยูเครน โดยมีชาติพันธมิตรเข้ามาเกี่ยวโยงกัน ซึ่งหลายๆคนก็มองว่า น่าจะมีความผ่อนคลายมากขึ้นในปีหน้านี้ หรือ อีกมุมมองหนึ่งก็มองไปถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่พูดถึงกันมากแล้ว

สำหรับในบทความที่แล้ว ผมได้นำข้อมูลมาอัพเดทว่าดัชนีตลาดหุ้นแต่ละตัวนั้นมีการฟื้นตัวมากน้อยแค่ไหนอย่างไร โดยนำจุดสูงสุดในช่วงระหว่างปี 2021-2022 มาใช้เป็นข้อมูล โดยหลักๆ ก็จะเป็นดัชนีในตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกา (Dow Jones Index, S&P 500 index, Nasdaq Composite index, และ Russell 2000 index), ยุโรป (Euro Stoxx 50 index), จีน(CSI 300 index), ฮ่องกง(Hang Seng index), ญี่ปุ่น(Nikkei 225 index), เกาหลีใต้(KOSPI Composite index) , อินเดีย(S&P BSE SENSEX index), เวียดนาม (Vietnam 30 index) , และไทย (SET index) ตามลำดับ

สำหรับในบทความนี้อยากจะนำปัจจัยที่เกิดขึ้นแล้วในปีนี้ และน่าจะมีผลกับปีหน้ามาไล่เรียงประกอบการพิจารณาการวางแผนการลงทุนกันว่าจะปรับกลยุทธ์ตามข้อมูลนี้อย่างไรกันดี  

ปัจจัยมีผลกับภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกในปีหน้า 2023

#ภาวะเงินเฟ้อที่ยาวนานกว่าคาด

เป็นการยากที่จะคาดเดาว่าเงินเฟ้อจะลงมาตามเป้าหมายที่ธนาคารกลางหลายๆประเทศตั้งเป้าไว้อีกนานเท่าไหร่ เพราะตอนนี้จะเห็นว่าความเสี่ยงของการเพิ่มขึ้นของค่าแรง หรือแม้แต่ปัญหาด้านอุปทานที่ขาดแคลนเมื่อเทียบกับความต้องการมากขึ้นทางฝั่งอุปสงค์ ก็เป็นเหตุให้สินค้าและบริการราคาถีบตัวสูงขึ้น โดยหากตัวเลขเงินเฟ้อนั้นยังไม่อาจปรับตัวลงมาได้ตามที่ธนาคารกลางสหรัฐคาดการณ์ไว้ เราก็คงได้เห็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยไปอีก และการปรับดอกเบี้ยขึ้น ก็จะส่งผลกระทบด้านลบกับตลาดหุ้นและพันธบัตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามมาด้วยการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินดอลลาร์ และผลกระทบในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging markets) เหมือนที่เราได้เห็นผลกระทบกันมาในปีนี้ ซึ่งเราก็จะต้องมาติดตามกันตามที่หลายๆฝ่ายออกมาให้ความเห็นว่า การขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วและแรงแบบนี้ ที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้น ก็จะมีผลทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (recession) ตามมาได้ 

นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้นแล้ว ยังมีอีกหนึ่งปัจจัยที่เซอร์ไพรส์ตลาด ด้วยการที่จีนประกาศเปิดประเทศในวันที่ 8 มกราคม 2023 ทั้งขาเข้าและขาออก โดยจะยกเลิกมาตรการกักตัวผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ หลังจากที่ปิดประเทศมายาวนานถึง 3 ปีเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาด พร้อมทั้งผ่อนคลายมาตรการจัดการเกี่ยวกับโควิดจาก Category A ซึ่งจัดเป็นมาตรการป้องกันขั้นสูงสุดสู่ระดับ Category B แต่ก็ยังมีมาตรการให้ผู้ที่จะเดินทางเข้าจีนยังคงต้องได้รับการตรวจแบบ PCR Test ก่อนขึ้นเครื่องจากประเทศต้นทางเป็นระยะเวลา 48 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าการเปิดประเทศของทางการจีนนั้นเร็วกว่าที่คาดไว้ ซึ่งหลายๆอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการท่องเที่ยวนั้น ยังไม่กลับมาเป็นเช่นเดิม เพราะขาดนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนที่มีทั้งกำลังซื้อและมีจำนวนมาก และเพราะการเปิดประเทศของจีน ก็จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งขึ้นสูง จากความต้องการที่สูงขึ้นในเวลาอันนั้น ซึ่งหนึ่งในประเทศที่คนจีนต้องการมาเที่ยวเป็นอันดับต้นๆ ก็คือประเทศไทย เราจะเห็นได้ว่าจากเดิมการประมาณการตัวเลขของททท.ที่ประเทศไทยจะดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีหน้าจะอยู่ที่ 20 ล้านคน แต่ถ้าหากรวมชาวจีนที่จะเข้ามาในไทยไวก็คาด ก็มีโอกาสที่จะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 25ล้านคนได้  

โดยจากข้อมูลปัจจุบัน 28 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา มีการคาดการณ์กันว่าธนาคารกลางสหรัฐ (FED) จะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นไปเพียง 0.25% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 ซึ่งจะเป็นการประชุมนโยบายการเงินครั้งแรกในปีหน้า หลังจากที่ปีนี้ ได้ขึ้นดอกเบี้ยเร็วและรุนแรงเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบ 40 ปี โดยเป็นการขึ้นถึง 75 basis-point ติดกัน 4 ครั้ง และปรับขึ้น 50 basis-point ในช่วงการประชุม 13-14 ธันวาคมที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 4.25-4.50% 

หลังจากนี้มีการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งถัดไปเพียง 0.25% ในการประชุมปีหน้าระหว่างวันที่ 31 มกราคม ถึง 1 กุมภาพพันธ์ 2023 หลังจากปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นครั้งใหญ่ในปีนี้ไปแล้ว โดยทาง FedWatch Tool ของ CME group ระบุว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 70% ในการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ไปแตะระดับที่ 4.50-4.75% หลังจากที่ก่อนหน้านี้ให้น้ำหนักไว้เพียง 27% 

ผมนำเอาภาพ Target level (ภาพล่าง) สำหรับ Federal funds rate ล่าสุดของการประชุม FED ในเดือนธันวาคม 2022 ที่ผ่านมา มาให้ดูกัน จะพบว่าความเห็นส่วนใหญ่ในปี 2023 จะปรับ Funds rate ให้ไปอยู่ระดับ 5.1% หรือเทียบเท่ากับช่วงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยที่ 5.00-5.25% โดยระดับดังกล่าวเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2007 ก่อนที่จะปรับ Funds rate ลดลงในปี 2024 ไปอยู่ที่ 4.00-4.25% และลดลงอีก 1% ในปี 2025 ที่ 3.00-3.25% จนกระทั่งคง Funds rate ระยะยาวให้ไปอยู่ที่ 2.50% โดยประมาณ

#ปัจจัยกดดันจากประเทศจีน

ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนดีดกลับขึ้นมา 35% เมื่อมีการประกาศนโยบายผ่อนคลายการควบคุมการระบาดของโควิด -19 จากการล็อคดาวน์ที่ยาวนานและเข้มงวดจากทางการจีน ซึ่งทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศหยุดชะงักไป ล่าสุดนี้ทางการจีนได้ประกาศเปิดประเทศในวันที่ 8 มกราคม 2023 ซึ่งหากเราได้ตามข่าวโควิด-19 ในจีนนั้นจะพบว่ายังมียอดผู้ติดเชื้อที่สูงมากอยู่ ก็อาจเป็นได้ว่า การผ่อนคลายนี้อาจส่งผลให้การติดเชื้อในจีนเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงหลังเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะถึงนี้ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าหากมีตัวเลขผู้ติดเชื้อมากในช่วงดังกล่าว จีนจะกลับไปใช้มาตรการที่เข้มงวดแบบเดิม ทำให้ภาวะเศรษฐกิจในประเทศหยุดชะงักต่อไปรึเปล่า เพราะฉะนั้นแล้วการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นจีนรับการเปิดประเทศนั้น ก็อาจจะยังมีความผันผวนตรงจุดนี้อยู่

และหากการที่ต้องหยุดชะงักจากการกลับมาแพร่ระบาดหนักของโควิด-19 ในจีน ก็อาจส่งผลกับการผลิตในปีหน้าได้เช่นกัน เช่นตัวอย่าง ณ ปัจจุบันที่บริษัท เทสลา อิงค์ บริษัทรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของสหรัฐ ได้ประกาศลดการผลิตรถยนต์ในโรงงานที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งจัดเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกของเทสลา หลังพบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก โดยเทสลาชี้แจงว่าจะผลิตรถยนต์ในอัตราที่ลดลงในโรงงานดังกล่าวในช่วงวันที่ 3-19 ม.ค. 2023 

นอกจากนี้ หากดูนโยบายในต่างประเทศหลังจีนประกาศเปิดประเทศโดยไม่ต้องกักตัวแล้ว หลายๆประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน หรืออินเดีย ก็มีนโยบายเฉพาะเที่ยวบินที่มาจากประเทศจีน เช่น ทางศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (CDC) ของสหรัฐอเมริกา ระบุว่า รัฐบาลกำหนดให้ผู้โดยสารเที่ยวบินที่มาจากประเทศจีนจะต้องแสดงผลตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี PCR เป็นลบ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2023 ซึ่งหลายประเทศก็เกิดความกังวลว่าโควิด-19 จะกลับมาแพร่ระบาดอีกครั้งเป็นวงกว้างหรือไม่ จากสถานการณ์ภายในประเทศจีนที่ยังคงไม่สู้ดีนัก ในขณะที่หากดูแนวทางของรัฐบาลจีนจากการแถลงในคืนวันที่ 27 ธันวาคมที่ผ่านมา ระบุว่าทางการจีนจะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เพียงเดือนละครั้ง 

ทั้งนี้ สหรัฐดำเนินการตามทิศทางเดียวกับประเทศอื่น ๆ เช่นอินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น และไต้หวันที่ได้ประกาศข้อกำหนดดังกล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ หลังจากที่จีนประกาศเปิดประเทศทั้งขาเข้าและขาออก ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่า โรคโควิด-19 จะแพร่ระบาดเป็นวงกว้าง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดในจีนยังคงย่ำแย่

#สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน

กรณีสงครามความขัดแย้งนี้เลวร้ายลงและบานปลายมากขึ้นจนนาโต้ เข้ามามีส่วนร่วมและทำให้การคว่ำบาตรรุนแรงกว่าเดิมสิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลกับภาพรวมเศรษฐกิจของโลก ที่ยังไม่นับการคว่ำบาตรเพิ่มกับพันธมิตรของรัสเซียอย่างอินเดียและจีน ก็จะยิ่งส่งผลกระทบหนักซ้ำเติมวิกฤตเข้าไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนอุปทานอย่างหนักในสินค้าอาหาร ปุ๋ย แร่โลหะ และเคมีภัณฑ์ต่างๆ แม้ตอนนี้จะยังไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์มาเกี่ยวข้อง แต่ก็ยังเป็นไปได้จากแหล่งข่าวต่างประเทศที่รายงานมา และหากเกิดขึ้นจริงคงทำให้ทุกอย่างเลวร้ายลงหนักขึ้นไปอีก

#ภาวะตกต่ำของตลาดประเทศเกิดใหม่

นักลงทุนเริ่มมองเห็นค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐที่น่าจะอ่อนค่าลงมา รวมไปถึงราคาน้ำมันที่น่าจะปรับตัวลดลงในปีหน้า ซึ่ง 2 ปัจจัยนี้จะเป็นปัจจัยสนับสนุนช่วยทางฝั่งตลาดประเทศเกิดใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม จากปัจจัยข้างต้นไม่ว่าจะเป็นภาวะสงครามที่ยังไม่จบและมีแนวโน้มยืดเยื้อทำให้ราคาพลังงานพุ่งทะยาน ภาวะเงินเฟ้อที่ยังคงสูงอยู่และยังคุมได้ไม่ดีนัก ก็จะส่งผลกระทบต่อสกุลเงินตราต่างประเทศในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ เพราะต้องไม่ลืมว่ากลุ่มตลาดประเทศเกิดใหม่นี้มีหนี้ที่ต้องชำระเป็นสกุลเงินดอลลาร์ หากดอลลาร์แข็งค่ามากขึ้นเท่าไหร่ ประเทศเหล่านี้ก็เจ็บมากขึ้นเท่านั้นในการหาเงินที่มากกว่าเดิมเพื่อมาชำระหนี้

มาดูผลตอบแทนย้อนหลังในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ จะพบว่าให้ผลตอบแทน -21.8% ซึ่งจัดเป็นผลตอบแทนเลวร้ายสุดนับตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2008 เลยก็ว่าได้

#การกลับมาระบาดรอบใหม่ของโควิด19

หากมีการระบาดรอบใหม่ ในลักษณะที่ติดเชื้อง่ายกว่าเดิมหรือมีอัตราการเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม ก็อาจจะส่งผลกระทบกับห่วงโซ่อุปทานในตลาดทั่วโลกได้อีกครั้ง ทำให้กิจการต้องหยุดชะงักไป ก็จะวนลูปไปสู่เงินเฟ้อที่สูงขึ้น เพราะอุปสงค์มากกว่าอุปทาน และเกิดการชะลอตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพราะต้องมีการล็อคดาวน์หรือมีนโยบายที่เข้มงวดจากทางฝั่งรัฐบาลมากขึ้นอีก ก็ได้แต่หวังว่าจะไม่มีการระบาดที่เพิ่มมากขึ้น และควบคุมได้โดยไม่ต้องมีมาตรการใดๆที่เช้มงวดจนทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักกันอีกครั้ง โดยเฉพาะกิจกรรมด้านการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งเป็นฟันเฟืองหลักสำคัญของประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่

ผมมีรายงานจากทาง U.K. สปริงบอร์ด บริษัทวิจัยข้อมูลเปิดเผยว่าในวันจันทร์ที่ 26 ธันวาคม ซึ่งตรงกับวัน Boxing Day นั้น ชาวอังกฤษออกมาจับจ่ายใช้สอยกันพุ่งขึ้น 40% จากการที่รัฐไม่ได้ออกข้อกำหนดในการควบคุมโควิด-19 ในช่วงเทศกลาง ซึ่งเราได้เห็นภาพการฟื้นตัว โดยทางนางไดแอน เวอร์เล ผู้อำนวยการของสปริงบอร์ดกล่าวว่า เราเป็นภาพการฟื้นตัวสอดคล้องกับเทศกาลคริสต์มาส มาจากการที่รัฐบาลไม่ได้คุมเข้มข้อกำหนดการเว้นระยะห่างทางสังคม แม้ตอนนี้อังกฤษกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตค่าครองชีพและการประท้วงหยุดงานของพนังงานรถไฟ ซึ่งสิ่งเหล่านี้กระทบต่อผู้ค้าปลีกอย่างเลี่ยงไม่ได้

โดยสรุปแล้ว ดูเหมือนว่าจุดสูงสุดของอัตราเงินเฟ้อนั้นน่าจะผ่านพ้นไปแล้ว เพียงแต่ปัจจุบันนี้อัตราเงินเฟ้อก็ยังสูงอยู่ และยังไม่ได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ธนาคารกลางนั้นอยากจะบรรลุ การลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร รวมไปถึงทองคำก็น่าจะยังมีความผันผวนต่อไป จากความไม่แน่นอนของหลายๆปัจจัย การค่อยๆทยอยลงทุน หรือ เก็บสำรองเงินสดไว้ ก็น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ดีในช่วงต้นปีใหม่ที่กำลังจะถึงนี้ 

แล้วพบกันใหม่ในบทความถัดไปครับ

31.12.2022


PHP Code Snippets Powered By : XYZScripts.com

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า